posttoday

ปชป.-แนวร่วม ฝืด ปลุกต้านแก้รธน.ไม่ขึ้น

17 กุมภาพันธ์ 2555

เดินหน้าเต็มสูบ?!!! จนมาเคาะกันลงตัว 23 ก.พ.นี้ ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เดินหน้าเต็มสูบ?!!! จนมาเคาะกันลงตัว 23 ก.พ.นี้ ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เดินหน้าเต็มสูบ?!!! จนมาเคาะกันลงตัว 23 ก.พ.นี้ ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบไม่ต้องรอตรวจสอบรายชื่อประชาชนหลายหมื่นรายชื่อที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาไล่เลี่ยกัน ซึ่งคาดว่าต้องรอเวลาอีกนานนับเดือนกว่าจะยืนยันความถูกต้องของรายชื่อครบถ้วน

กางปฏิทินคร่าวๆ หลังพิจารณาแก้ไขมาตรา 291 เสร็จ น่าจะใช้เวลาอีก 23 เดือน เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อีกประมาณ 6 เดือนก่อนจะเห็นหน้าตารัฐธรรมนูญ

การประกาศจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “ประชาธิปัตย์” เวลานี้ จึงไม่ต่างจาก “ไม้ซีกงัดไม้ซุง” ซึ่งยากจะไปคัดง้างสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ลำพังจำนวนมือ 300 กว่าเสียงของรัฐบาลที่ต้องการเสียงสนับสนุนจาก สว. อีกเพียงแค่ 26 เสียงจาก 150 เสียง ก็พอจะขับเคลื่อนกระบวนการในรัฐสภาแบบราบรื่น

ปชป.-แนวร่วม ฝืด ปลุกต้านแก้รธน.ไม่ขึ้น

ท่ามกลางกระแสข่าวความพยายามวิ่งเต้น ล็อบบี้ สว.โดยเฉพาะกลุ่มเลือกตั้งให้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับการต่ออายุให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.ได้อีกวาระหลังจากสิ้นสุดอายุสมาชิกภาพ

ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ที่มีเสียงแค่ราว 160 เป็นเรื่องยากที่จะไปทัดทานอะไร ชนิดหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเหลียวไปดูสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีกะปริบกะปรอยแล้วแทบหมดหวัง

ยังไม่รวมกับ “ภูมิใจไทย” ที่วันนี้มีเสียงอยู่ 30 กว่าๆ แต่เมื่อถึงเวลาเช็กยอดกันจริงๆ แล้ว ไม่รู้ว่าจะยังพร้อมจะร่วมหัวจมท้ายกับ “ประชาธิปัตย์” อยู่มากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่ “ประชาธิปัตย์” ทำได้เวลานี้คือการออกมาปลุกกระแสคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในและนอกสภา ซึ่งคงยากจะคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ไม่ต่างจาก “ก้อนกรวดในรองเท้า” ที่ทำให้เจ็บๆ คันๆ รำคาญๆ ยิ่งหากก้าวย่างไม่ดีอาจจะได้รับบาดเจ็บจนการเดินต้องสะดุด

การหยิบยก “จุดอ่อน” ที่สังคมหวาดระแวงมาขยายผลเพิ่มน้ำหนักคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็น “ยุทธศาสตร์” สำคัญที่ “ประชาธิปัตย์” พยายามจุดกระแสให้สังคมตระหนัก

ทั้งเรื่องประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมองว่าอาจมีการหมกเม็ดแอบเปลี่ยนแปลงแก้ไข หลังจากถูกกระแสสังคมบีบจนไม่อาจขยับไปแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ทั้งที่เคยมีสัญญาณจากปากผู้นำในรัฐบาลว่าต้องการเข้าไปปรับปรุงแก้ไข

ถัดมาที่ประเด็น “องค์กรอิสระ” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหอกข้างแคร่คอยทิ่มตำรัฐบาลจนมีความพยายามจะตัดทอนลดอำนาจ หรือเปิดทางให้ “การเมือง” เข้าไปครอบงำได้ ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นสมัยยังเป็น รัฐธรรมนูญ 2540 ที่หลังปฏิวัติ ได้ยกเครื่องปรับปรุงจุดนี้

สุดท้าย ประเด็นเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับคนหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งหลายฝ่ายปักใจเชื่อไปแล้วว่าอาการ “ลุกลี้ลุกลน” เร่งผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบไม่สนใจปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า หรือปัญหาปากท้องของชาวบ้านตามที่สัญญาไว้ช่วงหาเสียง เป็นเพราะต้องการปูทางให้ใครบางคนได้เดินทางกลับประเทศแบบไม่มีปัญหา

ประเด็นคัดค้านทั้งสามเรื่อง ถูกหยิบยกขึ้นมาหักล้างกับเหตุผลที่รัฐบาลใช้มาเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ตามที่มาซึ่งมีจุดกำเนิดจากการรัฐประหาร แม้จะไม่ได้ยินคนในรัฐบาลออกมาระบุชัดเจนว่ามาตราไหนบ้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

พร้อมกันนี้ยังพยายามลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ตัดความเกี่ยวข้องที่จะโยงว่าเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง ด้วยการโยนประเด็นเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดให้เป็นเรื่องของ ส.ส.ร. ที่จะเป็นผู้กำหนดประเด็นรายละเอียด

ไม่วายที่ ประชาธิปัตย์ จะรีบออกมา “ดักคอ” ถึงกระบวนการสรรหา ส.ส.ร. ว่า ถ้าหากมาจากการเลือกตั้ง 77 คน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะไม่ถูกการเมืองแทรกแซง รวมทั้งสัดส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกจากสภาฯ ที่ไม่วายจะเปิดช่องให้การเมืองเข้าไปแทรกแซง

ประเด็นทั้งเนื้อหาสาระและที่มาของ ส.ส.ร. จึงเป็นประเด็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของประชาธิปัตย์ที่หยิบยกขึ้นมาควบคู่กับการสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องที่ยังเห็นแตกต่างกันมากในสังคม ย่อมอาจซ้ำเติมสถานการณ์ความขัดแย้งให้รุนแรงบานปลาย

ทว่าจากเสียงของ “ประชาธิปัตย์” ที่อาจไม่เพียงพอจะไปหักล้างถ่วงดุล กับเสียงของรัฐบาลในประเด็นที่ต้องใช้เสียงโหวตเข้าสู้ด้วยแล้ว

ท่วงทำนองการต่อสู้ของประชาธิปัตย์ในรัฐสภาจึงจะต้องจับตาว่าจะงัดไม้ตายอะไรมาสู้

ทั้งการบอยคอตไม่ร่วมสังฆกรรมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในชั้นวาระแรกไปจนถึงการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในรายละเอียด เพื่อปฏิเสธความเกี่ยวข้องหากสุดท้ายประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญบานปลายไปสู่ความรุนแรง

แม้อีกด้านหนึ่งยังเชื่อในพลังของสภานิติบัญญัติที่เห็นว่ายังควรจะเป็นเวทีที่ประชาธิปัตย์จะต้องใช้เหตุผลมาหักล้างความไม่ชอบธรรมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ที่จะเป็นประโยชน์กว่าปล่อยให้รัฐบาลปู้ยี่ปู้ยำ ทำอะไรโดยไม่มีใครคัดค้าน

เพราะอีกด้านหนึ่งประชาธิปัตย์ที่เป็นรองเรื่องเสียงในสภา ยังเดินเกมนอกสภาปลุกกระแสค้านทั่วประเทศ ทั้งการติดป้ายคัตเอาต์ แจกสติกเกอร์ ทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มไปแล้วในบางจุด

เวอร์ชันแรก “คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทักษิณ” ที่ “เทพไท เสนพงศ์” รับหน้าเสื่อดูแลงานนี้ปล่อยออกมาชิมลาง และกำลังจะมีเวอร์ชันอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ

งานนี้แว่วว่าประชาธิปัตย์เตรียมเดินเครื่องค้านเต็มที่ ทั้งสัมมนาเวทีย่อย เวทีปราศรัยกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการวางทิศทางว่าจะเริ่มจากจุดไหน ใช้รูปแบบใดโดยเตรียมผุดคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณารับผิดชอบโดยตรง

ส่วนการปลุกกระแสต้านจะได้รับการตอบรับและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหนต้องรอดู แต่ถึงนาทีนี้ ยังไร้พลัง เพราะแนวร่วมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทักษิณ อาทิ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มหลากสีของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่มนักวิชาการสยามประชาภิวัฒน์ และกลุ่มกรีน ฯลฯ ยังไม่ขยับ

ดังนั้นจากนี้โหมดการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญคงเดินไปตามครรลอง