posttoday

จับตาอิสราเอล-อิหร่านมหกรรมแก้เผ็ดคู่เดือดในเงามืด

16 กุมภาพันธ์ 2555

กลายเป็นชนวนก่อความตึงเครียดและเรียกสงครามน้ำลายรอบใหม่ระหว่างประเทศอิหร่านกับอิสราเอล

กลายเป็นชนวนก่อความตึงเครียดและเรียกสงครามน้ำลายรอบใหม่ระหว่างประเทศอิหร่านกับอิสราเอล

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นชนวนก่อความตึงเครียดและเรียกสงครามน้ำลายรอบใหม่ระหว่างประเทศอิหร่านกับอิสราเอล ประเทศที่ดำรงความสัมพันธ์แบบคู่อริมาอย่างยาวนาน สำหรับเหตุระเบิดระทึกขวัญ 3 ครั้งติดต่อกันในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

เพราะยังไม่ทันที่กลิ่นเลือดจะจางหาย เอฮุด บารัก รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล ซึ่งอยู่ในระหว่างเดินทางเยือนประเทศสิงคโปร์ ก็แสดงความเห็นในทันทีว่าจอมบงการผู้อยู่เบื้องหลังคือกลุ่มก่อการร้ายชั้นนำระดับโลกอย่างเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนและอาวุธจากอิหร่านเพื่อมุ่งโจมตีบรรดานักการทูตและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอล

ขณะเดียวกัน วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ก็ออกแถลงข่าวประณามเหตุระเบิดรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้ระบุว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจนเช่นอิสราเอล แต่ก็ใช้คำแฝงที่สื่อให้เห็นว่าอิหร่านมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในไทย รวมถึงเหตุระเบิดรุนแรงในอินเดียและจอร์เจียเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ผ่านกลุ่มเฮซบอลเลาะห์

จับตาอิสราเอล-อิหร่านมหกรรมแก้เผ็ดคู่เดือดในเงามืด

แน่นอนว่าความเห็นดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับประเทศอิหร่าน เห็นได้จากการที่ รามิน เมห์มันปาราสต์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในไทย พร้อมโต้กลับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือละครฉากใหญ่ของอิสราเอลที่ต้องการทำลายมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทยกับอิหร่าน

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไรก็ยังคงเป็นสิ่งที่คลุมเครือกันต่อไป จนกว่ากระบวนการสืบสวนและพิสูจน์พยานหลักฐานจะสามารถหาความกระจ่างได้อย่างแน่ชัด

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้แจ่มแจ้งอยู่ในขณะนี้ก็คือ ความตึงเครียดของสองชาติระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน คือของจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้

และเป็นความจริงที่มีผลให้คนรอบข้าง ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เช่น ไทย เดือดร้อนเสียหายตามไปด้วยอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ หากจะเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ก็จำเป็นต้องผนวกรวมเรื่องความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศอาหรับ 6 ชาติ ได้แก่ อียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน อิรัก และซาอุดี…อาระเบีย รวมเข้าไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยมีชนวนความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติและการเมืองเป็นตัวนำ

ในแรกเริ่มเดิมทีนั้น อิสราเอลไม่กินเส้นกับกลุ่มประเทศอาหรับด้วยเรื่องของเชื้อชาติและศาสนาเป็นสำคัญ

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ นับถือกันคนละศาสนา โดยอิสราเอลคือยิวนับถือศาสนาคริสต์ อาหรับคือมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งถ้าต่างคนต่างอยู่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกัน แต่ให้บังเอิญเหลือเกินว่าดินแดนที่อิสราเอลเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งคำมั่นสัญญานั้นเป็นพื้นที่ของปาเลสไตน์ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม หรือก็คือเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มชนอาหรับ

ดังนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทันทีที่อิสราเอลประกาศเอกราชก่อตั้งประเทศเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2491 บนดินแดนปาเลสไตน์ 6 ประเทศอาหรับ จึงคล้ายโดนหยามและไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงจนนำไปสู่สงครามยืดเยื้อ คือเดี๋ยวรบ เดี๋ยวหยุด ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2534 ที่ผู้นำอิสราเอล พลเอกยิตซัค ราบิน และผู้นำปาเลสไตน์ ยัสเซอร์ อาราฟัต สามารถเซ็นสัญญาสงบศึกและก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมาได้

กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับ 6 ประเทศอาหรับก็ยังไม่ค่อยจะดีนัก ซึ่งเหตุผลไม่ใช่แค่ความต่างในเรื่องเชื้อชาติและศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการที่อิสราเอลได้รับการสนับสนุนอย่างดีมาโดยตลอดจากมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ จนโดนมองว่าเป็นตัวแทนของชาติตะวันตกในภูมิภาคตะวันออกกลางและอาหรับ

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ถือว่าได้รับเสียงสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ส่งผลให้อิสราเอลไม่ค่อยจะเกรงกลัวใครสักเท่าไรนัก เห็นได้จากการนำทัพรุกรานเข้ายึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศเลบานอน จนกลายเป็นชนวนขัดแย้งกับอิหร่าน ชนชาติเปอร์เซียที่ไม่ได้ข้องแวะกับทั้งอาหรับและอิสราเอล

แรกเริ่มเดิมทีนั้น อิหร่านเองก็ไม่ค่อยกินเส้นกับประเทศอาหรับเท่าไรนัก ด้วยเรื่องความต่างของเชื้อชาติและนิกายทางศาสนา โดยอิหร่านส่วนใหญ่คือมุสลิมชีอะห์เชื้อสายเปอร์เซีย ขณะที่อาหรับอื่นๆ คือมุสลิมสุหนี่ เชื้อสายอาหรับ

ยิ่งมีเรื่องขัดแย้งทางผลประโยชน์ของน้ำมันกับอิรัก ก็ยิ่งทำให้อิหร่านไม่ถูกชะตากับอาหรับ ขณะเดียวกันอาหรับเองก็ไม่ค่อยชอบอิหร่านเท่าไรนัก ด้วยเชื่อว่าอิหร่านให้การสนับสนุนชาวชีอะห์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศของตน

กลุ่มที่เห็นได้ชัดก็คือกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งพรรคการเมืองปกครองประเทศและกองกำลังต่อสู้ต่อต้านอิทธิพลของอิสราเอลและโลกตะวันตก แต่เป็นกลุ่มก่อการร้ายอันดับต้นๆ ในสายตาของสหรัฐที่เชื่อว่าได้รับแรงสนับสนุนทั้งอาวุธ การฝึกฝนและการเงินจากอิหร่าน จน เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ถึงกับให้สมญานามกับอิหร่านว่าเป็นประเทศที่ผลิตผู้ก่อการร้ายเป็นสินค้าส่งออก

การที่อิสราเอลบุกเลบานอน ทำให้กลุ่มเฮซบอลเลาะห์มีบทบาทสำคัญในการขับไล่อิสราเอล และกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลอิสราเอลมาโดยตลอด เช่น การลอบสังหารนักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลในประเทศต่างๆ ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของอิสราเอลต่างลงความเห็นว่าเป็นฝีมือของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านฉายแววชัดจริงๆ ก็เมื่อช่วงที่อิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ที่สหรัฐและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกเชื่อว่าไม่ได้มีเจตนาเพื่อใช้เป็นพลังงาน

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นกับสหรัฐ ทำให้อิหร่านเชื่อมั่นว่าการตายของนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าด้านนิวเคลียร์ของประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิสราเอลอย่างไม่ต้องสงสัย เพื่อขัดขวางไม่ให้อิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

และให้บังเอิญเหลือเกินว่า ช่วงที่นักวิทยาศาสตร์อิหร่านโดนระเบิดลอบสังหารนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นักการทูตระดับสูงของอิสราเอลตกเป็นเป้าโจมตีจากการก่อการร้าย และอิสราเอลเองก็เชื่อว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า ทั้งอิหร่านและอิสราเอลก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดมายืนยันความเชื่อของตนได้ว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ลงมือทำจริง หรือเรียกได้ว่าไม่สามารถสาวถึงตัวการสำคัญ จับมือใครดมไม่ได้ และมีแค่การกล่าวหากันอย่างเผ็ดร้อนของทั้งอิสราเอลและอิหร่านแทน

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ โยฟ ลิมอร์ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของหนังสือพิมพ์อิสราเอล ฮายอม ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลอิสราเอล ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากรัฐบาลอิสราเอลจะยกระดับการเตือนภัยและรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายอยู่เนืองๆ

ทว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ การที่เหตุรุนแรงที่ปะทุขึ้นมานั้น เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับความขัดแย้งของสองประเทศ

หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า เป็นความขัดแย้งที่อยู่ในเงามืด แต่พร้อมตอบโต้เอาคืนแบบไม่ทันให้รู้ตัวเป็นสำคัญ

ดังนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงสามารถตกเป็นเป้าของเหตุรุนแรงได้ทุกเมื่อ

แน่นอนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจโทษประเทศเจ้าบ้านที่เกิดเหตุได้ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ของเหตุรุนแรงได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับประเทศนั้นๆ

และประเทศไทยก็น่าจะรู้ซึ้งถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้ดีอยู่แล้ว เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก

และไม่มีใครมารับประกันได้ว่าจะไม่มีครั้งต่อๆ ไป