posttoday

ศึกโควตาสลากของร้อนสะเทือนเก้าอี้คนคลัง

13 กุมภาพันธ์ 2555

ผลประโยชน์ที่อยู่บนกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการพิมพ์สลากจำหน่ายในปัจจุบัน 68 ล้านฉบับ หรือ 34 ล้านคู่ต่องวด

ผลประโยชน์ที่อยู่บนกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการพิมพ์สลากจำหน่ายในปัจจุบัน 68 ล้านฉบับ หรือ 34 ล้านคู่ต่องวด

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ผลประโยชน์ที่อยู่บนกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการพิมพ์สลากจำหน่ายในปัจจุบัน 68 ล้านฉบับ หรือ 34 ล้านคู่ต่องวด คิดเป็นมูลค่าหรือยอดขายถึง 2,720 ล้านบาทต่องวด (ทั้งนี้คำนวณจากราคาต้นทุนของสลาก ซึ่งอยู่ที่ 40 บาทต่อใบ หรือ 80 บาทต่อคู่)

แต่ที่ผ่านมา พบว่าปัญหาสลากแพงเป็นเรื่องที่ไม่มีรัฐบาลหน้าไหนเข้ามาแก้ไขได้ ทำให้พบว่าราคาขายสลากทั้งที่เดินเร่ขายหรือแผงค้าสลากข้างถนนก็ขายกันต่ำๆ ที่ราคาคู่ละ 100-120 บาท หรือตกใบละ 50-60 บาท หรือกรณีที่ได้เลขสวยมารวมเล่มขายก็จะมีราคาแพงถึงคู่ละ 160 บาทหรือใบละ 80 บาท

ทั้งนี้ เมื่อคำนวณส่วนต่างจากราคาต้นทุนเมื่อเทียบกับราคาขายปลีกที่เกินราคาในปัจจุบันแล้ว พบว่ากรณีที่ขายเกินราคาที่คู่ละ 100 บาท หรือฉบับละ 50 บาท จะมียอดขาย 3,400 บาทต่องวด เมื่อหักกับราคาทุนแล้ว พบว่าจะมีเงินส่วนต่างหรือกำไรหมุนเวียนในแต่ละงวดไม่น้อยกว่า 680 ล้านบาท

ศึกโควตาสลากของร้อนสะเทือนเก้าอี้คนคลัง

ส่วนกรณีที่มีการขายเกินราคาที่ 120 บาทต่อคู่ หรือฉบับละ 60 บาท จะคิดเป็นยอดขายที่ 4,080 บาทต่องวด เมื่อหักราคาทุนแล้ว พบว่าจะมีส่วนต่างหรือกำไรมากถึง 1,360 ล้านบาทต่องวด คิดสะระตะคำนวณเป็นรายได้หรือกำไรต่อปี พบว่าธุรกิจสลากจะมีเงินหมุนเวียนมหาศาลจากการขายสลากเกินราคาถึง 1.633.26 หมื่นล้านบาทต่อปี

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สำนักงานสลากฯ เปรียบเหมือน “บ่อเงินบ่อทอง” ให้ทุกรัฐบาลได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าตักตวงผลประโยชน์ผ่านทางนายทุน นักการเมือง เจ้าพ่อเจ้าแม่หวย ที่เดี๋ยวก็มีข่าวว่าถูกล้มโควตาของขั้วการเมืองเก่า เพื่อให้โควตาสลากกับขั้วการเมืองใหม่วนเวียนแบบนี้แทบทุกรัฐบาล

เช่นเดียวกับกรณีข่าวล่าสุดที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลัง ต่อจาก ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง คนก่อน ก็สั่งสอบเรื่องการล้มโควตาสลากขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการ จำนวน 4 ล้านฉบับ โดยมี อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เด้งรับลูกเรื่องดังกล่าวด้วยการตั้ง ขวัญชัย วงศ์นิติกร กรรมการผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องการระงับจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งจำนวน 4 ล้านฉบับ ซึ่งมีราคาต้นทุนต่องวดประมาณ 160 ล้านบาท แต่หากนำมาขายเกินราคาที่ 100-120 บาทต่อคู่ จะทำให้เกิดส่วนต่างรายได้หรือกำไรประมาณ 4080 ล้านบาทต่องวด หรือเท่ากับ 9601,920 ล้านบาทต่อปี

แหล่งข่าวในวงการสลากเปิดเผยว่า การยกเลิกโควตาสลากขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการ ตั้งแต่งวด 16 ต.ค. 2554 หนนี้ สร้างเรื่องราวและปัญหามากมายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนในสำนักงานสลากฯ ส่วนใหญ่คาดกันว่า เหตุระเบิดที่บริเวณใกล้ๆ กับสำนักงานสลากฯ เมื่อเดือน ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมานั้น เกิดจากคนที่เสียประโยชน์จากการล้มโควตาครั้งนี้ต้องการจะสร้างสถานการณ์ขู่สำนักงานสลากฯ

ซึ่งการยกเลิกโควตาสลากขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการนั้น เกิดจากการสอบข้อเท็จจริงพบว่า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการ เมื่อรับโควตาสลากไปแล้วได้นำสลากไปขายต่อพ่อค้าคนกลาง ถือว่าไม่ทำตามข้อตกลงกับสำนักงานสลากฯ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ ซึ่งขณะนั้นมี เบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากฯ จึงมีมติยกเลิกโควตาสลากจำนวนประมาณ 3.9 ล้านฉบับซึ่งในจำนวนนี้จริงๆ แล้วเป็นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จำนวน 1.5 ล้านฉบับ และของสมาคมทหารผ่านศึกพิการ จำนวน 1.1 ล้านฉบับ ส่วนที่เหลือเป็นโควตาสลากของหน่วยงานอื่น เช่น มูลนิธิเวชศาสตร์เขตร้อนของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น สรุปคือ โควตาสลากขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการที่ถูกยกเลิกมีอยู่จริงๆ เพียง 2.6 ล้านฉบับ!!!

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าสลากมีจำนวนเท่าไร เพราะพลันที่ “เบญจา” สั่งให้ยกเลิกโควตาสลากเกือบ 4 ล้านฉบับหนนี้ ปรากฏว่าทางด้านกระทรวงการคลังมีความต้องการจัดสรรโควตาสลากนี้ให้กับคนพรรคการเมืองใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพื่อหวังจะให้ช่วยเรื่องยึดเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ แต่ปรากฏว่า “เบญจา” กลับเฉยๆ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธกับความต้องการดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการปลดคนแรกคือ “เบญจา” จากประธานบอร์ดสลากฯ แบบฟ้าผ่า แล้วดึง “อารีพงศ์” ปลัดกระทรวงการคลังมานั่งแท่นบัญชาการแทน เพื่อจัดสรรโควตาสลากให้กับทางมูลนิธิสำนักงานสลากฯ และส่งโควตาขายต่อให้กับพวกพ้องคนสนิทแทน โดยที่มีข่าวลือหนาหูว่าไม่มีการส่งส่วยคืนกลับมาที่พรรคแม้แต่แดงเดียว

ขณะเดียวกัน การล้มโควตาครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 5 เสือ รวมถึงนายทุนอื่นๆ ที่จ่ายเงินหลายร้อยล้านบาทเพื่อแลกกับโควตาสลากจำนวนนี้ไว้แล้ว ก็รวมพลังลงขันวิ่งคนในพรรคการเมืองใหญ่อีกกลุ่ม ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับทางคณะกรรมการสลากชุดใหม่ หวังโค่นทั้งคนและโควตาสลากล็อตนี้ลง โดยมีข่าวลือว่ามีข้อเสนอแบบลับๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า หากได้โควตาสลากล็อตนี้คืนจะมีการจ่ายค่าหัวคิวให้เล่มละ 720 บาท โดยสลาก1 เล่ม จะมีจำนวน 200 ฉบับ ถ้ามีสลากจำนวน 4 ล้านฉบับ เท่ากับมีสลากจำนวน 2 หมื่นเล่ม ถ้ามีการจ่ายหัวคิวที่เล่มละ 720 บาท คิดเป็นเงินเท่ากับ 14.4 ล้านบาท

ซึ่งข่าวการปลดคนที่ 2 คือ “ธีระชัย” จาก รมว.คลัง ก็มีการพูดกันหนาหูว่า เป็นเพราะเรื่องผลประโยชน์จากสลาก หรือเรื่องสลากเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางพรรคไม่ต้องการเก็บ “ธีระชัย” ไว้ที่ตำแหน่งนี้อีกต่อไป

มาล่าสุดนี้มีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ส่ง วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ที่เคยกำกับดูแลสำนักงานสลากฯ เข้ามาประกบ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง คนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก กิตติรัตน์ ให้กำกับดูแลสำนักงานสลากฯ เพื่อเข้ามาไกล่เกลี่ยโควตาครั้งนี้ให้ลงตัว โดยมี อารีพงศ์ ในฐานะประธานที่ต้องออกมารับลูกเพื่อเร่งจัดการเรื่องการคืนโควตาให้กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการ ให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเส้นตายต้องรู้ผลภายใน 2 สัปดาห์จากนี้

โดยมีกระแสข่าวว่า มีข้อเสนอจากคนในพรรคและคนวงในของสำนักงานสลากฯ ว่า จะต้องไม่แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มโควตาสลากอีก หรือพูดง่ายๆ คือ ทางสำนักงานสลากฯ ต้องหาทางไปดึงโควตาสลาก 4 ล้านฉบับ จากคนใหม่ที่ได้โควตาไปคืนกลับมาให้กลุ่มนายทุนเดิมประหนึ่งเสมือนว่า “เกลือจิ้มเกลือ” ทีใครทีมัน งานนี้ต้องล้มโควตาคืนกันบ้าง

ด้วยเงื่อนไขและผลประโยชน์ที่ทับซ้อนซ่อนเงื่อนครั้งนี้ จึงเป็นแรงกดดันต่อเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลังของ “อารีพงศ์” อย่างเหลือเกิน ที่จะต้องหาทางลงของเรื่องนี้ให้เจอ เพราะโดยปกติสำนักงานสลากฯ มักจะแก้ปัญหาเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์โควตาไม่ลงตัวด้วยการเพิ่มปริมาณสลาก และอ้างอยู่เสมอๆ ว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาสลากแพง แต่หนนี้การเมืองกลับส่งสัญญาณว่าไม่เอากับวิธีการเพิ่มสลาก เพราะจะเห็นว่าในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯ ได้ทยอยเพิ่มปริมาณสลากจาก 46 ล้านฉบับ ในช่วงปี 2552 มาเป็น 68 ล้านฉบับในช่วงปี 2554 แต่ก็ยังไม่เห็นว่าราคาสลากจะลดลงมาอย่างที่อ้างไว้ มีแต่จะแพงขึ้นทุกวัน นั่นเป็นเพราะกระบวนการจัดสรรโควตาที่ผิดเพี้ยน ซึ่งพบว่าสัดส่วนโควตาสลากระหว่างนิติบุคลและสมาคมต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เทียบเป็นครึ่งต่อครึ่งกับโควตารายย่อย

ประกอบกับวัฒนธรรมการจ่ายเงินใต้โต๊ะบ้าง ค่าหัวคิวบ้าง เพื่อส่งต่อสลากจากทอดหนึ่งไปยังอีกทอดหนึ่งจนราคาสลากจากต้นทุนคู่ละ 80 บาท กว่าจะไปตกถึงมือรายย่อยหรือคนเดินเร่ขายก็ต้องรับซื้อกันไปในราคาสูงถึงคู่ละ 90 บาท หรือเกือบ 100 บาทก็ยังมี ทำให้ราคาสลากรอไปกี่ชาติก็ไม่มีทางลดลงได้

งานนี้จึงถือเป็นงานช้างของ “อารีพงศ์”ที่ต้องหาทางลงเพื่อหย่าศึกสลากของคนในพรรคเพื่อไทย เพราะหากเดินหมากผิดตัวอาจมีผลกลายเป็นฟางเชื้อไฟเผาไหม้เก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลังให้ร้อนจนอาจจะทนนั่งต่อไปไม่ไหว กลายเป็นคนที่ 3 ที่ถูกปลดเพื่อสังเวยโควตาสลากล็อตนี้ก็เป็นได้