posttoday

เกมย้ายปลัดคลัง เกมอำนาจคุมเบ็ดเสร็จ

09 กุมภาพันธ์ 2555

กระแสข่าวการปลด อารีพงศ์ ภู่ชอุ่มปลัดกระทรวงการคลัง ออกจากตำแหน่ง

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

กระแสข่าวการปลด อารีพงศ์ ภู่ชอุ่มปลัดกระทรวงการคลัง ออกจากตำแหน่ง กลายเป็นประเด็นร้อนที่สุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวัน 7 ก.พ.ที่ผ่านมา

แม้ว่าสุดท้ายที่ประชุม ครม. จะไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และปลัดกระทรวงการคลังยังนั่งทำงานเหมือนเดิม แต่ตลอดทั้งวันโดยเฉพาะช่วงเวลาการประชุม ครม. มีหลายฝ่ายต่างตรวจเช็กประเด็นร้อนนี้กันจนไม่เป็นอันทำงาน

ซึ่งก่อนการประชุม ครม. จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. ข่าวเรื่องการปลดปลัดกระทรวงการคลังก็เริ่มหลุดลอดออกมา โดยรัฐบาลได้บรรจุเป็นเรื่องลับมากไว้ในวาระพิจารณาจร แต่สุดท้าย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ถอนเรื่องออกมาก่อน

ขนาด อารีพงศ์ ก็ออกมายอมรับว่า เพิ่งรู้ข่าวว่าจะมีการปลดตนเองออกจากตำแหน่งในช่วงเที่ยงวัน เพราะมีคนโทรศัพท์มาสอบถามจำนวนมาก ก็ยิ่งเป็นการยืนยันว่าเรื่องนี้มีมูล ไม่ใช่เรื่องโคมลอย

แถมยังมีรายงานว่ารัฐบาลได้เสนอชื่อเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต คนสนิทใกล้ชิดนายหญิงบ้านจันทร์ส่องหล้า ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่เสียด้วย ยิ่งทำให้ไฟที่ถูกกระพือโหมสะพัดออกไปในวงกว้าง

ความพยายามปลด อารีพงศ์ ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก เพราะตั้งแต่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและเข้ามาเป็นรัฐบาลตลอด 5 เดือน กระแสปลดปลัดกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่งเป็นเรื่องที่ถูกจับตาเป็นรายวันว่าจะเกิดขึ้นวันไหน

แม้ว่าตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงการคลังจะสนองนโยบายของรัฐบาลทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการทำนโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก พักหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาท และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน แต่เก้าอี้ของปลัดกระทรวงการคลังก็ยังสั่นคลอน

เกมย้ายปลัดคลัง เกมอำนาจคุมเบ็ดเสร็จ

เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการส่งคนใกล้ชิดคนสนิทนายใหญ่นายหญิงเข้ามานั่งคุมนโยบายในตำแหน่งนี้มากกว่า

ครั้งแรกพรรคเพื่อไทยต้องการดัน เบญจา ที่เหลืออายุราชการอีก 2 ปี ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลังแทน อารีพงศ์ ทันที แต่ติดเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงเศรษฐกิจเก่าแก่ที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลัง คือ คนที่จะขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงการคลังจะต้องผ่านการเป็นอธิบดีกรมกองอื่นมาก่อน

ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการสวนกระแสแหวกม่านประเพณีทำให้มีปัญหาลุกลามบานปลาย จึงมีการโยก เบญจา ไปเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อหาจังหวะดึงกลับมา

ดังนั้น ข่าวล่าสุดปลดปลัดกระทรวงการคลัง ก็เป็นชื่อของ เบญจา นี่แหละที่เต็งจ๋า

แต่เนื่องจากการโยกย้ายปลัดกระทรวง ข้าราชการซี 11 เป็นเรื่องที่ไม่ได้ง่าย ต้องหาตำแหน่งเทียบเท่าให้ไปนั่งทำงาน ซึ่งบังเอิญว่าที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่มีที่ว่าง ทำให้การโยกย้ายต้องสะดุดลง

ขณะที่การขอตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่ม ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณา เพราะเป็นตำแหน่งเฉพาะตัว ทำให้ปลัดกระทรวงการคลังยังอยู่ในตำแหน่งชนิดต้องลุ้นระทึกในฤทัยกันต่อไป

เพราะถึงวันนี้ต้องยอมรับว่ากำลังภายในของกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนตัวปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ โหมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องดุเดือด หวังให้มีการเปลี่ยนตัวเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ว่าในเช้าวันที่ 8 ก.พ. กิตติรัตน์ จะออกมาปฏิเสธว่าข่าวการปลดปลัดกระทรวงการคลังไม่มีมูลความจริง และที่ผ่านมาได้ยืนยันกับข้าราชการกระทรวงการคลังตอนเข้ามารับตำแหน่งว่า ไม่มีนโยบายปลดหรือย้ายผู้บริหาร ขอให้ทุกคนทำงานเต็มที่ สบายใจได้ ขอให้ทำงานกันเต็มที่

แต่เป็นที่ข้องใจว่าคนที่มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงการคลัง เป็นอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดของ กิตติรัตน์ เพียงผู้เดียวหรือไม่

เพราะในช่วงที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็น รมว.คลัง รู้กันดีว่าการโยกย้ายผู้บริหารกระทรวงการคลังเมื่อปลายปี 2554 โพยรายชื่อการโยกย้ายแต่งตั้งถูกส่งมาจากพรรคเพื่อไทย ธีระชัย เป็นแค่คนถือหนังสือเสนอรายชื่อให้ ครม.ตีตราประทับเท่านั้น

ดังนั้น หากฝ่ายการเมืองยังต้องการเปลี่ยนตัวปลัดกระทรวงการคลัง เพียงเพราะว่าต้องการเอาคนของตัวเองมานั่งคุม ก็มีคำถามว่า กิตติรัตน์ จะกล้าทัดทานหรือไม่

การที่อำนาจเด็ดขาดไม่ได้อยู่ที่ รมว.คลังแต่อยู่ที่ฝ่ายการเมือง นายทุนพรรค เจ้าของพรรค ตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังก็ยังโดนเขย่าต่อไป

แม้ความพยายามโยกย้ายครั้งนี้ไม่สำเร็จก็ยังมีเป้าหมายรอบใหม่เดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้

ช่วงจังหวะเวลาใหม่นี้ลงตัวกว่า การโยกย้ายกลางปีสามารถอ้างเพื่อความเหมาะสมตามลมปากฝ่ายการเมืองได้ และไม่น่าเกลียด ไม่ถูกกล่าวหาว่ากลั่นแกล้ง

ขณะที่คนที่จะถูกดันขึ้นมาเป็นอธิบดีได้6 เดือน ก็ถือว่านานสมน้ำสมเนื้อเหมือนเก้าอี้รัฐมนตรี และยังมีเวลาเหลือให้นั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังอีก 1 ปีครึ่ง สานงานต่อให้ฝ่ายการเมืองได้อีกมาก

อีกทั้งการทอดเวลาในการปลดปลัดกระทรวงการคลังออกไป ยังเป็นโอกาสให้ฝ่ายการเมืองหาเหตุผลมาปลดปลัดกระทรวงการคลังได้เพิ่มมากขึ้น

เพราะที่ผ่านมา อารีพงศ์ เข้าไปสานงานหลายเรื่องที่ไปกระทบผลประโยชน์กลุ่มทุนการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรโควตาหวยชุดใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง แต่ก็ต้องเจอตอ เสือ สิงห์ กระทิง แรด ทำให้การเดินหน้ามีปัญหา และสุดท้ายเป็นบูเมอแรงใส่ตัวเอง ส่งผลให้เก้าอี้สั่นคลอน

นอกจากนี้ ยังมีการสะสางเรื่องการดำเนินคดีปัญหาคาราคาซังของบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทำให้รัฐบาลเกิดความเสียหาย ที่ได้มีความพยายามดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว จนเปลี่ยนรัฐบาล ปลัดกระทรวงการคลังก็ยังเดินหน้าทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

การดำเนินการส่วนนี้ ถูกมองว่าไปกระทบผลประโยชน์ทางการเมืองมูลค่ามหาศาล และกระทบตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจำนวนมาก ทำให้เป็นอีกหนึ่งชนวนที่ต้องเขี่ยให้พ้นออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ ฝ่ายการเมืองยังมองว่าแม้ว่าที่ผ่านมา อารีพงศ์ จะสนองนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ไม่แพ้ที่ทำให้กับรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังดูเหมือน อารีพงศ์ ยังรักษาระยะห่างกับฝ่ายการเมือง ถึงสานความฝันทางการเมือง แต่ก็รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ให้เกิดความเสียหาย

จุดนี้ทำให้ฝ่ายการเมืองจับผิดว่าปลัดกระทรวงการคลังขาลอยไม่เลือกข้าง ไม่เปลี่ยนสี ทำให้ถูกไม่ไว้วางใจจากฝ่ายการเมือง จึงต้องการผ่าทางตันหาคนที่ฝ่ายการเมืองไว้ใจเชื่อใจได้เกินร้อยเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้แทน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดหนักเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา อารีพงศ์ เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ ให้เกิดเป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะในส่วนของ พ.ร.ก.ตั้งกองทุนประกันภัย วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องใหญ่เร่งด่วน มีรายละเอียดที่ต้องดำเนินการจำนวนมาก ปลัดกระทรวงการคลังทั้งในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนประกันภัยพิบัติที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก. อารีพงศ์ ทั้งผลักทั้งดันจนเรื่องนี้เดินหน้าไปมาก

ยังมีนโยบายฟื้นฟูน้ำท่วมอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ซอฟต์โลนของธนาคารออมสิน 1.5 หมื่นล้านบาท ให้นิคมอุตสาหกรรมใช้สร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ยังติดปัญหา อารีพงศ์ ก็ติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดหาทางออกเป็นการด่วน

ดังนั้น การคิดปลด อารีพงศ์ ออกไปในตอนนี้ หรือในอนาคตอันใกล้ ถือว่าเป็นอันตรายกับรัฐบาลอย่างมาก

การคิดจะเปลี่ยนตัวคนทำงานหัวใจขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจและรัฐมนตรีมือใหม่ ยิ่งทำให้การทำงานสะดุดล่าช้าลงไป

รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าศึกน้ำท่วมใหญ่รอบใหม่จ่อคอหอยประเทศชาติ จนคนทั้งประเทศนอนตาไม่หลับอยู่ทุกวันนี้ ควรเร่งดำเนินการร่วมแรงร่วมใจแก้ไข มากกว่ายุ่งเสียเวลาวังวนอยู่กับการสร้างอำนาจในกลุ่มพวกพ้องของตัวเอง

ถ้ามือไม้ในการทำงานติดขัด ภัยจะมาเร็วกว่าที่คาด และรุนแรงกว่าที่คิด