posttoday

โจทย์ใหญ่รัฐบาลปูสู้ภัยน้ำ แก้ไข งบติดหล่ม

07 กุมภาพันธ์ 2555

“ปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่” ยังคงกลายเป็นคำถามใหญ่และความคลางแคลงใจในหมู่นักลงทุนและชาวบ้าน

“ปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่” ยังคงกลายเป็นคำถามใหญ่และความคลางแคลงใจในหมู่นักลงทุนและชาวบ้าน

โดย...จตุพล สันตะกิจ

เพราะถึงตอนนี้เหลือเวลาอีกแค่ 4 เดือนเศษ ก็จะเข้าสู่ฤดูฝนใหม่แล้ว แม้โครงการป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วนปีงบ 2555-2556 วงเงินรวม 1.81 หมื่นล้านบาท ที่เป็นงบปี 2555 วงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาท จะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในกลางเดือนที่แล้ว

ทว่าปลายสัปดาห์ที่แล้ว วรวิทย์ จำปีรัตน์ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ถูกเรียกตัวเข้าชี้แจงต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะเหตุว่า เหตุใดโครงการที่ ครม.อนุมัติงบแล้วกลับยังไม่มีการดำเนินการเสียที เพราะลำพังการจ่ายเงินเยียวยาฉุกเฉิน 5,000 บาทที่วันนี้ “คนถูกน้ำท่วม” ยังพากันร้องเรียนว่าได้กันไม่ครบทุกคน

เอกสารสรุป 4 สีกว่า 20 หน้า ส่งถึงมือยิ่งลักษณ์ มีรายละเอียดความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณแต่ละรายการ พร้อมกับคำชี้แจงที่ขีดเส้นใต้ไว้ว่า การดำเนินการโครงการที่เป็น “งบลงทุน” นั้น แม้ ครม.จะอนุมัติแล้ว แต่ก็ยัง “เบิกจ่าย” ไม่ได้ เพราะแต่ละหน่วยงานต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณ

โจทย์ใหญ่รัฐบาลปูสู้ภัยน้ำ แก้ไข งบติดหล่ม

กล่าวคือ ส่วนราชการต้องจัดทำคำขอจัดสรรงบประมาณ โดย “งบลงทุน” ต้องส่งรูปแบบรายการและประมาณการค่าใช้จ่ายก่อน

ส่วน “งบดำเนินงาน” ต้องมีการส่งที่มาของค่าใช้จ่ายที่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ บันทึกแผนการปฏิบัติงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ และเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณา

ขณะที่สำนักงบประมาณได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการและกลไกพิจารณาคำขออนุมัติค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย” (คฟย.) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายและกำหนดกรอบเวลาว่า ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 3 วัน หลังได้ข้อมูลครบถ้วนจากส่วนราชการ

หลังจากนั้นส่วนราชการจะดำเนินการเอง หรือดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และขอเบิกจ่ายงบจาก “กรมบัญชีกลาง” เมื่อนั้นงานหรือโครงการตามแผนก็จะเดินหน้าได้

จะเห็นว่าถึงตอนนี้งบประมาณที่จะลงไปเพื่อลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เป็นแบบเฉพาะหน้าและเร่งด่วนของรัฐบาลคลานต้วมเตี้ยมไปไม่ถึงไหน

อย่างไรก็ดี เมื่อพลิกแผนการป้องกันและจัดการน้ำระยะเร่งด่วนปี 2555 ที่ ครม.จัดสรรงบประมาณ 1.52 หมื่นล้านบาท และนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศว่า พร้อมดำเนินการได้“ทันที” ก็พบว่ามีแค่ 7 หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบ

และก็น่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่า 5 ใน 7 หน่วยงานที่ได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณไปแล้ว แต่โครงการไม่พร้อมรับการจัดสรรงบแทบทั้งสิ้น

เมื่อพิเคราะห์ถึงโครงการเร่งด่วนที่ต้องทำแต่ไม่พร้อม ก็จะมองเห็นภาพที่น่าเป็นห่วงแต่วิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

1.กรมชลประทาน ได้รับการจัดสรรงบ 4 โครงการ วงเงิน 5,940 ล้านบาท ได้แก่ โครงการป้องกันน้ำล้นจากแม่น้ำและปรับปรุงคันกั้นน้ำ วงเงิน 1,210 ล้านบาท สถานะล่าสุด “ไม่พร้อมรับการจัดสรร”

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพปรับปรุงอาคาร ขุดลอก เครื่องสูบน้ำ และเครื่องจักร วงเงิน 3,840 ล้านบาท มีความพร้อมรับจัดสรรงบเพียง 1,230 ล้านบาท

ส่วนงบที่เหลืออยู่ในสถานะ “ไม่พร้อมรับการจัดสรร” โครงการระบบเสริมในพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการซ่อมแซม “ประตูน้ำบางโฉมศรี” วงเงิน 792 ล้านบาท ก็มีสถานะ “ไม่พร้อมรับการจัดสรร”

เช่นเดียวกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบเตือนภัย เช่น โทรมาตรและจัดทำค่าระดับคันกั้นน้ำ วงเงิน 92 ล้านบาท สถานะ “ไม่พร้อมรับการจัดสรร”

2.กรมทางหลวง มีโครงการปรับปรุงและยกระดับเส้นทางในพื้นที่ประมาณ 10 จังหวัด เพื่อทำเป็นแนวกั้นน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงินรวม 1,390 ล้านบาท มีความพร้อมรับการจัดสรรแค่จิ๊บจ๊อย 6.5 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออีก 1,330 ล้านบาท อยู่ในสถานะ “ไม่พร้อมรับการจัดสรร”

3.กรมทางหลวงชนบท มีโครงการยกระดับถนนสาย 3 เส้นทาง วงเงิน 137 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างถนนเพื่อเป็นคันกั้นน้ำ “แฟคตอรี่แลนด์” วังน้อย สถานะล่าสุด“ไม่พร้อมรับการจัดสรร”

4.โครงการขุดลอกคลองใต้แนวสะพานรถไฟ 4 โครงการ วงเงิน 172.2 ล้านบาท สถานะโครงการ “ไม่พร้อมรับการจัดสรร”

5.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับอนุมัติวงเงิน 5,500 ล้านบาท ในโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลน้ำ แม้ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ จะออกมาแถลงข่าวอย่างต่อเนื่องว่า โครงการมีความพร้อม แต่สถานะล่าสุดของโครงการพบว่า “ไม่มีความพร้อมในการจัดสรร”

ความไม่พร้อมที่จะทำงานแบบ “ทำทันทีก่อนภัยจะมาถึงของหน่วยงานรัฐ” กลายเป็นหนามตำเท้ารัฐบาลมือใหม่ให้เจ็บปวดรวดร้าว จนเดินเหินเป๋ไปเป๋มาท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัวของปวงประชา

ขณะที่หน่วยงานที่โครงการมีความพร้อมรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำโครงการไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ กรมเจ้าท่า มีโครงการ ได้แก่ โครงการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน รวมวงเงิน 277.2 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการ “จัดซื้อจัดจ้าง”

กรุงเทพมหานครที่ได้รับการจัดสรรงบ 9 โครงการ วงเงิน 1,820 ล้านบาท มีโครงการที่พร้อมรับการจัดสรร เช่น โครงการซ่อมแนวป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยา งานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ งานเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ งานติดตั้งเครื่องวัดอัตราไหลของน้ำ และก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองศรีสำราญถึงคลองภาษีเจริญทั้งหมดอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง

โครงงานเหล่านี้พอจะการันตีได้บ้างว่าจะแบ่งเบาการไหลบ่าของน้ำลงได้ระดับหนึ่ง

อาจกล่าวได้ว่าขั้นตอนที่ “รัดกุม” ของหน่วยงานภาครัฐได้เป็นสาเหตุหนึ่งของความล่าช้าในการของรับการจัดสรรและเบิกจ่ายงบในโครงการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล แต่นั่นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ “รั่วไหล”

แต่คงไม่สำคัญเท่ากับ “ความเข้าใจ” ของรัฐมนตรีเจ้าสังกัดที่รับผิดชอบโครงการเร่งด่วนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็น “มือใหม่” จนเริ่มมีเสียงบ่นจากคนสำนักงบประมาณว่า “รัฐมนตรีบางคนไม่เข้าใจ เมื่อเห็นว่าโครงการและงบได้รับการอนุมัติแล้วก็ดำเนินการทันที เหมือนกับตีเช็คที่สามารถนำไปขึ้นเงินสดได้ทันที ทั้งๆ มีขั้นตอนที่ต้องทำอยู่”

หากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเร่งรัดกระบวนการในส่วนราชการที่ตัวเอง “ดูแล” น่าจะทำให้การจัดส่งคำของบประมาณเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น แผนป้องกันน้ำท่วมเฉพาะหน้าก็จะแปรสภาพจากแผ่นกระดาษมาเป็นภาพในทางปฏิบัติ

ขณะที่กระบวนการ “จัดซื้อจัดจ้าง”กฎระเบียบราชการก็มี “ช่องทาง” ที่เร่งรัดให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง “วิธีพิเศษ” ที่สามารถลดระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้างเหลือไม่เกิน 28 วัน การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี “อีออกชัน” ได้มีการปรับปรุง ลดขั้นตอนและลดเวลาการจัดซื้อจัดจ้างลงมาไม่เกิน 28 วันเช่นกัน

เมื่อเทียบกับการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 78 วัน เรียกว่าลดระยะเวลาดำเนินการเหลือ 1 ใน 3

เป็นไปได้หรือไม่ อาการ “ทอดหุ่ยรอเวลา” ในการขอรับการจัดสรรและเบิกจ่ายงบป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วน เกิดจากความ “ตั้งใจ” มากกว่า “ความไม่เข้าใจ”

เพราะยิ่งเวลางวดเข้ามาเท่าไหร่ ย่อมเปิดโอกาสให้ส่วนราชการนำการจัดซื้อจัดจ้าง “วิธีพิเศษ” มาใช้มากขึ้น เพราะถึงตอนนั้นในยามที่ไฟลนก้นก็คงไม่มีใครบ่น ใครตรวจสอบ แต่ก็เชื่อได้ว่าคงไม่มีใครหาญกล้า “หาเศษหาเลย” ในโครงการการป้องกันน้ำท่วมประเทศให้คนไทยต้องช้ำใจในยามนี้

ล่าสุด วิเชียร ชวลิต เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษเป็น “ดุลพินิจ” ของหน่วยงาน แต่ต้องขึ้นอยู่กับ “เงื่อนเวลา” และ “ความเร่งด่วน” พร้อมชี้แจงว่าโครงการลงทุนป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วนเป็นไปตามแผน ขณะที่กยน.ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

ความล่าช้าการดำเนินการโครงการป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วนปี 2555 ยังเป็น “สัญญาณ”ที่สะท้อนให้เห็นถึงไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการในการดำเนินการโครงการฟื้นฟูน้ำท่วม

เหมือนกับงบประมาณที่ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินไปก่อนหน้านี้แล้วกว่า 1.39 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีการจัดสรรงบไปเพียง 5 หมื่นล้านบาท โดยมีงบที่เหลือ “ค้างท่อ” อยู่เพียบกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ภาพของโครงการที่จะป้องกันภัยน้ำในสายตาของประชาชนจึงเบลอๆ มัวๆ ไม่ชัด

เช่นเดียวกัน งบป้องกันน้ำท่วมระยะยาวที่วางกรอบเงินลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แสนล้านบาท และลุ่มน้ำอื่นๆ 5 หมื่นล้านบาท ก็ชักช้าอืดอาด

วงเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่รอศาลรัฐธรรมนูญ “ตีความ”

กว่าจะเบิกใช้ได้คงต้องรอกันนานไม่น้อยกว่าครึ่งปี

แถมขั้นตอนการขอรับการจัดสรรงบ จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นในรูปแบบเดียวกับโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

นั่นคือ ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน จากนั้นให้ส่วนราชการเสนอโครงการให้คณะกรรมการชุดนี้ให้ความเห็นชอบ และเสนอ ครม.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการและความก้าวหน้าโครงการ เพื่อเป็นหลักประกันว่า “เงินทุกบาท” ต้อง “คุ้มค่า”

วันนี้จุด “โฟกัส” ที่ทุกฝ่ายต่างจับจ้อง คือ การลงทุนป้องกันน้ำท่วมเฉพาะหน้าที่เป็นเรื่องเร่งด่วนจะเสร็จเมื่อไหร่

เพราะนี่คือจุดตายของประชาชนที่รอการแก้ปัญหาจากรัฐบาล เพื่อดูแลบ้านเรือนและอาชีพ

แต่ในยามนี้ต้องยอมรับว่า แผนลงทุนน้ำที่รัฐบาลทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับทุกคน รวมถึงนักลงทุน อยู่ในสถานะ “ติดหล่ม” แล้วอย่างนี้ จะสร้างความ “เชื่อมั่น” กลับมาได้อย่างไร