posttoday

นกแก้วทัวร์โปรแกรมสร้างความเชื่อมั่น เอา น้องน้ำ อยู่

07 กุมภาพันธ์ 2555

ความหวาดวิตกเกิดขึ้นไปทั่วประเทศว่าปีนี้น้ำจะท่วมซ้ำอีกหรือไม่ เพราะวันนี้ประชาชนไม่กล้าควักเงินในกระเป๋าซ่อมแซมบ้านใหม่

ความหวาดวิตกเกิดขึ้นไปทั่วประเทศว่าปีนี้น้ำจะท่วมซ้ำอีกหรือไม่ เพราะวันนี้ประชาชนไม่กล้าควักเงินในกระเป๋าซ่อมแซมบ้านใหม่

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ความหวาดวิตกเกิดขึ้นไปทั่วประเทศว่าปีนี้น้ำจะท่วมซ้ำอีกหรือไม่ เพราะวันนี้ประชาชนไม่กล้าควักเงินในกระเป๋าซ่อมแซมบ้านใหม่ เพราะกลัวว่าจะสูญสตางค์ไปโดยเปล่าประโยชน์หากน้ำท่วมซ้ำเหมือนปลายปี 2554 อีก ยิ่งภาคธุรกิจยิ่งอกสั่นขวัญแขวนกว่าชาวบ้าน เพราะลงทุนคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งเงิน แรงงาน และเครื่องจักรนับแสนล้านบาทในนิคมอุตสาหกรรม ที่พ่วงชะตาชีวิตแรงงานรวมลูกเมียผูกติดไว้ด้วย

ก่อนหน้านี้ เกิดกระแสข่าวออกมาแรงว่าเกิดความขัดแย้งภายในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กรรมการบางคนออกมาวิจารณ์รัฐบาลหนักว่า มัวแต่หาเงิน ไม่สนใจให้ความสำคัญในการเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม ยิ่งสร้างความสะเทือนใจต่อนักลงทุนที่เคยมีหวังกับการเมืองไทย อาจเปลี่ยนใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นก็เป็นได้

นับแต่ปลายปี 2554 หลังน้ำเริ่มแห้ง นายกรัฐมนตรียังไม่เคยลงพื้นที่ประสบอุทกภัย จนกระทั่งในวันที่ 13-17 ก.พ. 2555 นายกฯ พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ย่อมๆ จะเดินทางไปตรวจราชการ 6 จังหวัดน้ำท่วม ในโครงการนกขมิ้นทัวร์ ค่ำไหนนอนนั่น ครั้งที่ 1

งานนี้นายกฯ มอบหมาย วิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มือประสานสื่อมวลชนจัดคิวให้นายกฯ ได้ตะลอนทัวร์ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่สำคัญคราวนี้นายกฯ ควงกรรมการ กยน.ไปดูงานด้วย หวังลบภาพเกาเหลาระหว่างกัน ผนวกกับขนคณะ ครม.ลงไปเร่งรัดหน่วยงานราชการ ตั้งแต่อนุมัติโครงการและงบประมาณฟื้นฟูน้ำท่วมไปแล้ว 1.39 แสนล้านบาท แต่ยังมีงบค้างท่อเหลือบาน 7.1 หมื่นล้านบาท

นกแก้วทัวร์โปรแกรมสร้างความเชื่อมั่น เอา น้องน้ำ อยู่

ตามโปรแกรม นายกฯ จะลุยงานตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. โดยจะเดินทางไปสำรวจเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปโครงการพระราชดำริและการดูแลป่าต้นน้ำ การปลูกป่า และการรักษาระบบนิเวศ การพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยด้านการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน แล้วกลับมาพักค้างคืนที่ จ.พิษณุโลก

สรุปสาระสำคัญและเป้าหมายในการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ ต้องการลงไปย้ำภาพว่ารัฐบาลได้ดูแลเอาใจใส่การบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ “ฝนเม็ดแรก” ที่อยู่เหนือเขื่อนบนพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนได้สบายใจว่าปีนี้ไม่มีผิดพลาด

ดังนั้น เหตุการณ์แบบปลายปีก่อนจะไม่เกิดขึ้น เพราะปีนี้รัฐบาลได้พร่องน้ำในเขื่อนออกไปตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว แม้พายุฝนในปีนี้จะมาซ้ำหลายลูก เขื่อนและอ่างเก็บน้ำน่าจะกักน้ำไว้ได้ระดับหนึ่ง และในวันถัดมา 14 ก.พ. นายกฯ จะเดินทางต่อไป จ.พิจิตร เพื่อสำรวจบึงสีไฟ ที่เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 5,390 ไร่ ปัจจุบันตื้นเขิน เนื่องจากเต็มไปด้วยผักตบชวาและวัชพืชนานาชนิด และจะกลับมาพักค้างคืนที่ จ.นครสวรรค์ ภารกิจนี้นายกฯ มีเป้าหมายลงมาดูการบริหารจัดการช่วงกลางน้ำ

ทั้งนี้ ช่วงกลางน้ำจะเป็นช่วงที่บรรดาสายน้ำสำคัญ เช่น ปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันเป็นเจ้าพระยา ดังนั้นหากเกิดภาวะน้ำหลาก จะต้องมีการเตรียมพื้นที่หน่วงน้ำไว้ในลักษณะแก้มลิงดังข้อเสนอของ กยน. นายกฯ จึงกำหนดลงไปสำรวจบึงสีไฟเพื่อติดตามความคืบหน้าในการขุดลอกบึงที่นับเป็นหนึ่งในพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ ใช้เก็บน้ำส่วนเกินจากด้านบนเขื่อนไม่ให้น้ำไหลสมทบเจ้าพระยามากเกินไป

ต่อเนื่องกันในวันที่ 15 ก.พ. คณะนายกฯ จะลงพื้นที่ จ.ชัยนาท สำรวจลำน้ำเจ้าพระยา บริเวณประตูระบายน้ำพลเทพ และต่อไป จ.สิงห์บุรี ที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี และกลับมาพักค้างคืนที่ จ.ลพบุรี จุดนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่าลืมว่าประตูระบายน้ำมีความสำคัญไม่ต่างจาก “บังเกอร์” ป้องกันข้าศึกเข้าโจมตี

คงจำกันได้ว่า ต้นตอที่ทำให้กองทัพน้ำบุกโจมตีคลองเชียงรากและแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างตั้งตัวไม่ติด เพราะประตูระบายน้ำบางโฉมศรีพัง ภายในชั่วพริบตาทัพหลวงของกองทัพน้ำไหลลงคลองเชียงราก มุ่งหน้าไปหานิคมอุตสาหกรรมนวนครอย่างรวดเร็ว ทะลวงแนวกระสอบทรายนับล้านๆ ลูกที่ทหารและภาคเอกชนสร้างล้อมนิคมอุตสาหกรรมนวนครไว้อย่างแน่นหนา แต่ก็ต้านทานได้แค่อึดใจ สุดท้ายคนงานนับแสนชีวิตต้องหนีตายกันอลหม่าน สินค้าและเครื่องจักรมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทจมน้ำ

จากนั้นในวันที่ 16 ก.พ. นายกฯ เดินทางไป จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่บริเวณ อ.บางบาล เพื่อสำรวจพนังกั้นน้ำก่อนจะกลับมาพักค้างคืนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โอกาสนี้นายกฯ และคณะเตรียมหารือกับภาคอุตสาหกรรมถึงความคืบหน้ากรณีรัฐบาลปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ไปพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยของตนเองสำรองไว้เป็นกำแพงด่านสุดท้ายช่วงดูแลตัวเอง หากแผนบริหารจัดการของรัฐบาลเอาไม่อยู่ เพราะ จ.พระนครศรีอยุธยา จังหวัดเดียวมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ และเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ เป็นต้น

ปิดจ๊อบนกแก้วทัวร์วันสุดท้าย วันที่ 17 ก.พ. คณะ ครม.ย่อมๆ จะเดินทางไปที่ จ.ปทุมธานี ไปสำรวจคลองระพีพัฒน์แยกตะวันตก สำหรับสาเหตุที่ลงพื้นที่ตรงจุดนี้เพราะคลองแห่งนี้มีความยาว 32 กิโลเมตร เริ่มต้นจากประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะไหลลงมาที่ อ.หนองแค จ.สระบุรี และแยกออกเป็น 2 สาย คือ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ระบายน้ำผ่านทางประตูน้ำพระศรีเสาวภาค ออกไปยัง อ.องครักษ์ จ.นครนายก ความยาว 28.7 กิโลเมตร

ส่วนอีกสายคือ คลองระพีพัฒน์แยกตะวันตก ระบายน้ำผ่านทางประตูน้ำพระศรีศิลป์ และไปสิ้นสุดที่ประตูน้ำพระอินทร์ราชา จ.ปทุมธานี ความยาว 36.6 กิโลเมตร โดยสามารถรองรับน้ำจากที่ไหลมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้เต็มที่ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น “คลองระพีพัฒน์” คือหนึ่งในช่องทางระบายน้ำสำคัญที่จะช่วยผันน้ำจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ไหลออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น

ในการลงพื้นที่จริงครั้งนี้ นับเป็นโอกาสทองที่นายกฯ จะต้องพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นกับตาให้ได้ว่า “รัฐบาลอยู่ น้ำไป” ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำจริง คือต้องทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อแผนบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลจัดวางไว้ว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังจะมาถึงได้ แต่ในทางกลับกันหากปีนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีกถึงตอนนั้น “รัฐบาลไป น้ำอยู่” หมดโอกาสแก้มือรอบสองแน่นอน!!!