posttoday

แพทย์ชนบทเคลื่อนสะเทือน วิทยา

06 กุมภาพันธ์ 2555

หยั่งรากลงลึกแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรากฏร่องรอยสำทับการตั้งอยู่จริง

หยั่งรากลงลึกแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรากฏร่องรอยสำทับการตั้งอยู่จริง

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

หยั่งรากลงลึกแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรากฏร่องรอยสำทับการตั้งอยู่จริง

เม็ดเงินมหาศาลร่วมแสนล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) คือชิ้นปลามันที่กำลังถูกจับจ้อง

พลันที่ วิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เข้าดำรงตำแหน่ง ขั้วอำนาจในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ถูกพลิก กลุ่มผู้บริหารเดิมโดนล้างบาง

โครงสร้างบอร์ด สปสช. ประกอบด้วยผู้แทนภาคประชาชน 5 คน ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข 5 คน ผู้แทนหน่วยงานราชการ 8 คน ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 4 คน รมว.สาธารณสุข 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน (ผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการแต่งตั้งจากบอร์ด 23 คนแรก) รวมทั้งสิ้น 30 คน

แพทย์ชนบทเคลื่อนสะเทือน วิทยา

แน่นอนว่าเสียงของผู้แทนหน่วยงานราชการอปท. จะเทตามบัญชาของ รมว.สาธารณสุข นั่นหมายความว่า รมว.สาธารณสุข กุมเสียงไว้ทั้งหมด 13 เสียง

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2554 ก่อนได้บอร์ดชุดปัจจุบัน เสียงภาคประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิ จะผนึกเข้ากับ รมว.สาธารณสุข เสมือนหนึ่งลดทอนและจำกัดบทบาทผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข (กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลเอกชน)

ทว่าเมื่อเข้าสู่ยุควิทยา กลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง กล่าวคือทั้ง 13 เสียง ได้ควบรวมเข้ากับเครือข่ายแพทย์เอกชนสภาวิชาชีพอย่างเหนียวแน่น จนสามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากแพทย์เอกชนนายทุนอีก 7 เสียง ได้สำเร็จ

เกิดเป็นข้อเคลือบแคลง “สายสัมพันธ์ผลประโยชน์” คือผลเลิศของการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งใช่หรือไม่?

“พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มสมาคมยาข้ามชาติ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน เครือข่ายแพทย์ สภาวิชาชีพ ข้าราชการ สธ.บางราย ที่ผนึกเข้ากับฝ่ายการเมืองเพื่อล้มระบบบัตรทอง เนื่องจากสูญเสียอำนาจบริหารตัดสินใจงบประมาณ” สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดประเด็นขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา

วาทกรรม “ล้มบัตรทอง” ในที่นี้ หมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากเงินในกองทุน

ท่ามกลางความคลุมเครือที่ยังไร้ข้อพิสูจน์ในขณะนั้น มีความเคลื่อนไหวจากชมรมแพทย์ชนบทที่น่าสนใจ

สองวันให้หลัง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ประกาศจุดยืนสนับสนุนข้อมูลของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเปิดหน้าชกด้วยการตีแผ่ “บันได 4 ขั้น” ของขบวนการฮุบกองทุน

1.ฝ่ายการเมืองจะเปิดทางให้กลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบและฝ่ายการเมืองเข้ายึดครองบอร์ด สปสช. เพื่อจัดบุคคลเข้าสู่อนุกรรมการชุดต่างๆ 2.เปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. โดยเอาตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้าไปแทนที่ 3.ของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 4.สร้างกระแสสังคมให้ยุบเลิกหรือแก้ไขสาระสำคัญของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทการตรวจสอบข้อพิรุธปมทุจริตของชมรมแพทย์ชนบท ทั้งกรณีการทุจริตยา 1,400 ล้านบาท เป็นเหตุให้ รักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุข ต้องติดคุก หรือกรณีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการไทยเข้มแข็งจน วิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้น ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

การแสดงท่าทีของชมรมแพทย์ชนบทในครั้งนี้จึงมีพลังและน่ารับฟัง ที่สำคัญใช่ว่าบันได 4 ขั้น จะไม่มีความน่าจะเป็น

นั่นเพราะเมื่อตรวจสอบรายชื่อบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ โดยพิจารณาความเหมาะสมและเทียบเคียงกับบอร์ดชุดก่อน พบความไม่ชอบมาพากลหลายตำแหน่ง อาทิ สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา จ.ชลบุรี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันสุขภาพ ส่วนบอร์ดชุดก่อนคือ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ กรรมการบอร์ดการบินไทย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย บอร์ดชุดก่อน คือ ภญ.สำลี ใจดี ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย และมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา เสงี่ยม บุญจันทร์ ทนายความสำนักงานเสงี่ยม บุญจันทร์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย บอร์ดชุดก่อนคือ เจษฏ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

หรือแม้แต่ วรานุช หงสประภาส ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณระดับ 10 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง ซึ่งล่าสุดได้ยื่นหนังสือลาออกต่อ รมว.วิทยา แล้ว โดย วิทยา ระบุว่า เหตุผลที่วรานุชลาออกเพราะมีภารกิจส่วนตัวในต่างประเทศจึงไม่สะดวกในการทำงาน ทว่ากลับมีชื่อวรานุชปรากฏอยู่ในบอร์ด ปตท.สผ. เริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

เร้าให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของขบวนการยึดกองทุนโดยภาคธุรกิจเอกชน

นอกจากนี้ เมื่อจับสัญญาณจากการประชุมบอร์ด สปสช เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ยิ่งชัดเจนถึงแผนบันไดขั้นที่ 1.เพราะระยะเวลาร่วม 5 ชั่วโมง ที่ประชุมสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 13 คณะ จำนวน 217 คน ได้สำเร็จ

นิมิตร์ เทียนอุดม บอร์ด สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน บอกว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ฝ่ายการเมืองมีการนำคนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์มาดำรงตำแหน่ง และเมื่อถูกคัดค้านก็หาทางออกด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงข้างมาก ท้ายที่สุดก็เข้าข่ายพวกมากลากไป ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน บอร์ด สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน ระบุว่า กำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา วิทยา ได้ชี้แจงข้อครหาผ่านเวทีเสวนาทางแพร่งระบบประกันสุขภาพภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพียงสั้นๆ ว่า แผนบันได 4 ขั้นไม่มีจริง และยังเชื่อมั่นในบอร์ด สปสช.ชุดนี้ ส่วนประเด็นอื่นๆ กลับเลี่ยงที่จะให้คำตอบ โดยอ้างว่า “เป็นเรื่องภายใน ไม่ขอพูด”

“ผมจะให้ระบบเป็นตัวชี้วัด ถ้ามันจะพังเพราะระบบที่วางเอาไว้ก็ให้มันพัง แต่ระบบมันอยู่ได้ก็เพราะบอร์ดซึ่งมีที่มาที่ไปในแต่ละส่วน ใครไม่ทำงานผมก็จะจี้ให้มันทำ ... ผมจะเรียกเขา (ชมรมแพทย์ชนบท) มานั่งคุย เขาอยากทำอะไรก็ให้บอกผม ถ้าผมไม่ทำเขาก็คงจะเคลื่อน” วิทยาตอบข้อถามถึงความกังวลต่อการเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบท

เห็นได้ว่า แรงกระเพื่อมจากชมรมแพทย์ชนบทพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมของวิทยาโดยตรง ระยะแรกอาจเกิดผลเพียงเขย่าความน่าเชื่อถือ ทว่าหากยังไม่ชี้แจงข้อเคลือบแคลงหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ น่าจับตาในระยะยาวว่าเก้าอี้รัฐมนตรีตัวนี้จะสั่นสะเทือนหรือไม่