posttoday

รัฐบาล'สตาร์ต'ฟื้นฟูน้ำท่วม แต่'เครื่องไม่ติด'

02 กุมภาพันธ์ 2555

เรียกว่าออกอาการ “ฉุน” กลางวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดย...จตุพล สันตะกิจ

เรียกว่าออกอาการ “ฉุน” กลางวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำติดตั้งในจังหวัดต่างๆ แต่กลับได้รับรายงานว่า บางจังหวัดทำเรื่องเสนอของบแล้ว แต่บางจังหวัดยังไม่ของบมา ทั้งๆ ที่การเตรียมเครื่องสูบน้ำเป็นภารกิจเร่งด่วน

เพราะการเตรียมเครื่องสูบน้ำครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทันกับฤดูฝนในเดือนพ.ค.นี้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมรับมือกับการ“พร่องน้ำ” จากเขื่อนหลักในระดับที่เรียกว่า“น้ำมาก” เป็นเวลา 6 เดือน เพราะน้ำในเขื่อนมีปริมาณมากอย่าง มีนัยสำคัญ

เป็นเหตุสำคัญที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องร้องเตือนว่า วันนี้ระดับน้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำ 2-3เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เป็นปัจจัย “สุ่มเสี่ยง” ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในปีนี้ก็ได้

นั่นหมายความว่า หากเกิดน้ำท่วมอีก ผลกระทบจะใหญ่หลวงกว่าสินทรัพย์หรือเศรษฐกิจที่จมน้ำครั้งที่แล้วหลายเท่าตัว

เพราะไม่เพียงรัฐบาลจะเสียเครดิตซ้ำซากเท่านั้น แต่หมายถึงประเทศไทยจะสูญเสียความเชื่อมั่นและที่ยืนในวงจรเศรษฐกิจการลงทุนในเวทีโลก

ขณะที่ประชาชนชาวไทยจะต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวั่นไหว

ตัวอย่างเล็กๆ แต่มีนัยสำคัญ เช่น การจัดหาเครื่องสูบน้ำ ถูก “ตอกย้ำ” อีกครั้ง เมื่อมีการรายงานให้ ครม.รับทราบมาตรการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปรากฏตัวเลขที่มีนัยสำคัญไม่แพ้ปริมาณน้ำในเขื่อน ประสิทธิภาพการลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมต้องถูกตั้ง “คำถาม”

รัฐบาล'สตาร์ต'ฟื้นฟูน้ำท่วม แต่'เครื่องไม่ติด'

สำนักงบประมาณและ สศช. รายงานว่า ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณฟื้นฟูน้ำท่วม 6 ครั้ง เป็นวงเงิน 1.39 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีการจัดสรรงบให้หน่วยงานต่างๆ ไปแล้ว 5.06 หมื่นล้านบาท ที่ยังอยู่ระหว่างรอรับการจัดสรรงบประมาณอีก 7.1 หมื่นล้านบาท

เรียกได้ว่ามี “งบค้างท่อ” ที่รอการกระทุ้งให้เร่งเบิกจ่ายไปป้องกันภัยอยู่กว่า 7 หมื่นล้านบาท

เมื่อไล่เรียงรายละเอียดงบค้างท่อ ปรากฏว่า งบฟื้นฟูบูรณะเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายเส้นทาง 1,300 สายทางของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการปรับปรุงคันทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)วงเงิน 2.02 หมื่นล้านบาท

แต่กลับมีโครงการที่ “พร้อม” รับจัดสรรงบประมาณแค่ 2,300 ล้านบาทเท่านั้น

ในเมื่อเป็นโครงการ “เร่งด่วน” แต่มีโครงการพร้อมรับการจัดสรรงบเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น และยังไม่มีการเบิกจ่ายจริงแม้แต่บาทเดียว ทั้งๆ ที่โครงการเหล่านี้ ครม.อนุมัติโครงการและกรอบวงเงินตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2554 และ 4 ม.ค. 2555 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือนครึ่ง

เช่นเดียวกับโครงการซ่อมแซมอาคารหัวงาน เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ประตูระบายน้ำ ซ่อมแซมคลองส่งน้ำของกรมชลประทาน การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของกรมเจ้าท่า โครงการซ่อมแซมระบบป้องกันน้ำท่วม ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำและระบบควบคุม และซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่ง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

มีการเสนอของบรวมกันประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่วันนี้ยังไม่มีการเบิกจ่าย

แม้แต่แผนป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วน ปี 2555 ที่ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท และปีงบประมาณ 2556 วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555

ปรากฏว่าโครงการที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2555 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 5,900 ล้านบาท เช่น การป้องกันน้ำล้นจากแม่น้ำและปรับปรุงคันกั้นน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพอาคารระบายน้ำ ขุดลอก เตรียมเครื่องสูบน้ำ จัดการขยะและจัดหาเครื่องจักร มีโครงการที่พร้อมรับการจัดสรร 1,230 ล้านบาท ส่วนการของบที่เหลืออยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด

กรณีขุดลอกคลองใต้สะพานรถไฟ ขุดลอกใต้สะพานรถไฟข้ามคลอง และขุดลอกคลองที่ชาวบ้านถมทิ้งและมีวัชพืชของ ร.ฟ.ท. ที่ยังไม่พร้อมขอรับงบประมาณ หรือโครงการขุดลอกคลองสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ของกรมเจ้าท่าของบ 277 ล้านบาท ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายเช่นกัน

โครงการที่เรียกว่ารุดหน้ามากที่สุด แทนที่จะเป็นการดำเนินงานของรัฐบาล กลับกลายเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพฯ 9 โครงการ วงเงิน 1,820 ล้านบาท เช่น การซ่อมแซมแนวป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ 5 จุด ขุดลอก 29 คลอง ติดตั้งเครื่องดันน้ำไฟฟ้าแรงดันสูงและดีเซล เป็นต้น

จะเห็นได้ชัดว่า โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมในมือของรัฐบาลสุดท้ายก็ยังไม่มีการ “เบิกจ่าย”

สมควรต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ บางโครงการยังไม่มีการจัดทำรายละเอียดเพื่อของบ หรือบางโครงการที่มีรายละเอียดแล้ว แต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย

แม้ วรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ชี้แจงว่า การเบิกจ่ายงบฟื้นฟูน้ำท่วม หากเป็นโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาโดยตรง เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาทต่อครัวเรือน การจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม งบ 45 หมื่นล้านบาท ส่วนนี้จะออกได้เร็ว

แต่หากเป็นงบที่เกี่ยวกับการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบความเสียหายและประเมินค่าใช้จ่าย เสนอกรอบโครงการให้สำนักงบประมาณอนุมัติ ก่อนจะมีการจัดซื้อจัดจ้าง บางโครงการเป็นโครงการที่เสนอโดยพื้นที่ ก็ต้องผ่านมาตามขั้นตอนหน่วยงาน

เป็นเหตุที่ทำให้การอนุมัติและเบิกจ่ายงบฟื้นฟูและป้องกันน้ำท่วม “ล่าช้า” ไปบ้าง อีกทั้งสำนักงบประมาณจะดูความพร้อมโครงการเป็นหลัก ไม่ใช่ “ใครของบก่อนก็ได้ก่อน” โดยคาดว่างบปี 2555 ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในสัปดาห์หน้ามีผลบังคับใช้ การเสนอของบและจัดสรรงบจะทำได้ “เร็ว”

หากส่วนราชการที่ได้รับอนุมัติกรอบงบไปแล้ว แต่ไม่ทำอะไร วรวิทย์ บอกเพียงว่า “สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องเร่งให้เขาเสนอรายละเอียดเข้ามา” สะท้อนว่าการขับเคลื่อนงานมีปัญหา

ในขณะที่ยิ่งลักษณ์ประกาศในการชี้แจงแผนป้องกันน้ำท่วมว่า “โครงการป้องกันน้ำท่วมในปี 2555 ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้” และก่อนหน้านี้ยิ่งลักษณ์กำชับใน ครม.ว่า แม้งบประมาณปี 2555 ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้า เมื่องบประมาณออกแล้วจะได้ “ลงมือ” ทันที

แต่กลับไม่มีการ “สนองตอบ” ใดๆ ในห้วงยามที่การฟื้นฟูและป้องกันน้ำท่วมปีนี้เป็นภารกิจเร่งด่วน เหมือนว่าส่วนราชการจะ “ไม่รู้ร้อนรู้หนาว” บ้างอ้างว่าต้องทำตามระเบียบทำตามขั้นตอน

กระนั้นการที่รัฐบาลโหมกระแส “สตาร์ตเครื่อง” ลงทุนฟื้นฟูและระบบป้องกันน้ำท่วม แต่เหมือนว่าเครื่องยนต์จะ “ไม่ติด” มีเพียงเสียงที่ดังกังวาน แต่รถยนต์ยังวิ่งอยู่กับที่ นั่นเท่ากับเป็นการบ่งชี้ถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารราชการของนายกฯ และรัฐบาลหรือไม่

ความอืดอาดล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบเพื่อฟื้นฟูและป้องกันน้ำท่วมที่ประจักษ์อยู่ในขณะนี้ น่าจะผูกโยงได้ดีกับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่สภากำลังพิจารณาขณะนี้

หลายฝ่ายติดใจและตั้งคำถามถึงความ “จำเป็นเร่งด่วน” ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ และจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ผลจะออกมาอย่างไรคงต้องรอ 1-2 เดือนข้างหน้า แต่นั่นคงไม่สำคัญนัก เพราะเป็นเรื่องของการ “ชิงไหวชิงพริบ” ทางการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจเท่านั้น

ปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่าของประชาชนคือ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจะทำอย่างไรให้แผนการจัดการน้ำที่ กยน.วางไว้เกิดผลเป็นรูปธรรม คำมั่นที่รัฐบาลให้ไว้ว่า ปีนี้น้ำต้องไม่ท่วมอีก ตรงนี้ต่างหากที่มี “ค่าเดิมพัน” สูงยิ่งกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ