posttoday

กยน.แพแตก ความเชื่อมั่น'ปู'ทรุด

31 มกราคม 2555

พลันที่ “สมิทธ ธรรมสโรช” กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.).

โดย...ปริญญา ชูเลขา

พลันที่ “สมิทธ ธรรมสโรช” กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.). ออกมาระบุว่า ขณะนี้แผนบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นแค่แผนแบบกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะบริหารจัดการอย่างไร แต่หากแผนออกมาแล้วเห็นว่าไม่น่าจะคุ้มค่ากับงบประมาณก็จะออก ทำให้ความน่าเชื่อถือในการบริหารจัดการมหาอุทกภัยของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มสั่นคลอน

เท่านั้นยังไม่พอ “สมิทธ” ยังบอกอีกว่า นอกจากผมแล้ว ยังมี “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประธาน และ “สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ก็คงจะถอยออกมาเช่นกัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าแผนวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลยังไม่ได้เริ่มต้นเลย ทั้งที่มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะไหลมาเร็วและมากกว่าปีที่แล้ว

ทั้งหมดเหมือนโยนระเบิดเวลาลงมาวางไว้หน้าทำเนียบรัฐบาลเลยทีเดียว เพราะนายกรัฐมนตรี อุตส่าห์ตั้งดรีมทีมชุดนี้ขึ้นมากับมือหวังจะให้มากู้ภาพลักษณ์และวางแผนบริหารจัดการน้ำ แม้ในที่สุดแล้ว “สมิทธ” และหลายคนต่างปฏิเสธไม่ลาออกและขอทำงานต่อไปก็ตาม

แต่การออกมาเปิดเผยดังกล่าวเหมือนเป็นการเปิดรอยแผลให้ประชาชนเห็นว่า ระหว่าง กยน.กับรัฐบาลว่ากำลังมีปัญหาในการทำงานระหว่างกัน จึงไม่แปลกที่ผู้นำรัฐบาลรีบออกตัว ทั้งนายกรัฐมนตรี และ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ต่างให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงอ้อนวอนขอร้องว่าให้ “สมิทธ” และกรรมการ กยน.คนอื่นๆ ใจเย็นๆ ขอให้อยู่ช่วยงานกันก่อน

ทั้งนี้ เพราะหากกรรมการชุดดรีมทีมที่รัฐบาลตั้งความหวังให้มาทำแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทยจะต้องมีอันสลายตัวไป ผลกระทบใหญ่จะตามมาเป็นลูกโซ่ อย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีเพิ่งบินกลับมาจากไปแสดงความเชื่อมั่นและโชว์วิสัยทัศน์แผนแก้ปัญหาน้ำท่วมบนเวทีโลกในงาน World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 42 ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส มาหมาดๆ ว่า ประเทศไทยน้ำจะไม่ท่วมซ้ำสองอีก

กยน.แพแตก ความเชื่อมั่น'ปู'ทรุด

ดรีมทีมชุดนี้ที่มี “สุเมธ” เป็นหัวขบวน รัฐบาลหวังดึงมาช่วยล้างภาพหลอน เมื่อปลายปี 2554 โดยแท้ ครั้งเกิดปัญหาอุทกภัยสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายจังหวัด นิคมอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนถูกมวลน้ำมหาศาลกลืนในพริบตา มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนับล้านล้านบาท ภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลในตอนนั้นติดลบ

ดังนั้น จึงกลายเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 พ.ย. 2554 แต่งตั้งคณะกรรมการ กยน.ขึ้นมาโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พร้อมกับมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ขึ้นมาด้วย เป้าหมายคือ กู้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำท่วมกลับคืนมา

ทว่าในการทำงานจริงกลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เริ่มตั้งแต่ประธานกรรมการ กยน.ที่นั่งหัวโต๊ะไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่เป็น กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะเงานายกฯ ซึ่งทราบดีว่าโดยตำแหน่ง รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจงานก็ล้นมืออยู่แล้ว

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ก็แวบเข้ามาร่วมประชุม กยน.เพียง 2 ครั้ง ในการประชุมเพื่อกำหนดแผนและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ อาจกล่าวได้ว่า เวลาส่วนใหญ่ของ กิตติรัตน์ หมดไปกับการเดินหน้าออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่ กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทเสียมากกว่า

ในวงประชุม กยน.เองก็บ่นอยู่ไม่น้อยว่า ตั้งแต่คลอด กยน.และเชิญ “สุเมธ” มาเป็นที่ปรึกษา รัฐบาลเห็นความสำคัญ กยน.เป็นเพียงแค่ “ตรายาง” กล่าวคือรัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาหาเงินเพียงอย่างเดียว โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเข้ามาร่วมประชุมหารือ หรือถกเถียงกับกลุ่มนักวิชาการน้ำ ถึงการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรมในวงประชุม

สิ่งสำคัญในการผลักดันแผนบริหารจัดการน้ำ คือ ต้องได้นายกรัฐมนตรีมาเป็นคนฟันธง เพราะบรรดาข้อเสนอต่างๆ เป็นเพียงแนวคิดเชิงนามธรรมล้วนๆ จะตกผนึกได้ ก็ต่อเมื่อคนนั่งหัวโต๊ะคือนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาไง เพื่อจะได้นำแผนดังกล่าวไปสู่การสั่งการและการปฏิบัติจริงโดยเร็ว

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในการเตรียมการรับมืออุทกภัยที่จ่อมาถึงอีก 3 เดือนข้างหน้า มีเพียงมติ ครม.อนุมัติกรอบเห็นชอบหลักการของระบบบริหารจัดการน้ำ และกรอบวงเงินงบประมาณ 17,126 ล้านบาท ครอบคลุมระยะเวลาปี 2555-2556 เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา และแผนดังกล่าวเป็นเพียงการอนุมัติกรอบแผนงานกว้างๆ อย่างที่ “สมิทธ” โวยวายไว้จริงๆ

ทั้งนี้ เพราะไม่มีการลงลึกในรายละเอียดว่าจะเริ่มต้นเมื่อไร ทำอย่างไร และใครรับผิดชอบ เช่น การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน การซ่อมแซมประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ ขุดลอกคูคลอง หรือการติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มไว้รับมือสถานการณ์ตรงจุดใดบ้าง เป็นต้น และหากอุทกภัยปีนี้มาเร็วกว่าที่คิด การบริหารจัดการคงวุ่นวายเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ซ้ำอีกแน่

นอกจากนี้ ในการทำงานวางแผนบริหารจัดการน้ำไม่ใช่นั่งประชุมในห้องแอร์อย่างเดียว ต้องมีลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพจริงบ้าง เช่น บินสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือเขื่อน คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ หรือแนวทางในการขุดลอกคูคลองต่างๆ หรือการประสานการทำงานกับ กทม. เพื่อนำกลับมาประมวลผลและวางแผนการทำงาน ซึ่งคนที่มานั่งหัวโต๊ะต้องได้คนทำงานเต็มเวลาและลุยงานจริง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโครงสร้าง กยน.มี 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ 1 ฝ่ายรัฐบาล และกลุ่มที่ 2 นักวิชาการกับผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มตัวแทนรัฐบาล เช่น ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ อัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

กลุ่มนักวิชาการ ประกอบด้วย สมบัติ อยู่เมือง สมิทธ ธรรมสโรช กิจจา ผลภาษี ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล และกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ มีสุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษา กยน.เป็นแกนนำสำคัญ ปราโมทย์ ไม้กลัด หรือ รอยล จิตรดอน เป็นต้น

จากโครงสร้างดังกล่าวทำให้มีปัญหาภายใน กยน.พอสมควรด้วยเพราะมีกูรูน้ำผู้มากความรู้มากประสบการณ์ทั้งสิ้นมาอยู่ด้วยกัน ดังนั้นเมื่อคนเก่งมาอยู่ที่เดียวกัน จึงต่างพากันชิงการนำข้อเสนอของตัวเองเป็นที่ตั้ง เพราะต่างคนต่างเก่งต่างคนต่างฉลาดและอยากให้ข้อเสนอของตัวเองได้รับการยอมรับด้วยกันทั้งนั้น จึงยากที่จะหาความเป็นเอกภาพได้

ฉะนั้น ความขัดแย้งใน กยน.เวลานี้จึงเปรียบเป็นระเบิดเวลาใส่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากนายกรัฐมนตรีไม่ลงมาจัดการปัญหา ปล่อยให้แผนการบริหารจัดการน้ำยังเป็นแค่เอกสาร ภาพความเดือดร้อนเสียหายเหมือนเมื่อปลายปีก่อนกลับมาแน่นอน และเมื่อนั้นความน่าเชื่อถือศรัทธาของรัฐบาลในการบริหารประเทศจะเหลือแค่ศูนย์ แนวทางเดิมๆ ที่จะผุดดรีมทีมดึงเกจิ กูรูชั้นนำระดับโลกมาสักพันคนตั้ง กยน.เพิ่มขึ้นอีกสักร้อยชุด คงกู้ความเชื่อมั่นศรัทธากลับคืนมาได้ยาก เพราะยังไงก็ “เอาไม่อยู่” แล้ว