posttoday

มะกันระเบิดศึกลุยต้านเกมโกงการค้าโลก

30 มกราคม 2555

กลายเป็นเรื่องหนาวๆ ร้อนๆ สำหรับทุกประเทศคู่ค้าของมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ

กลายเป็นเรื่องหนาวๆ ร้อนๆ สำหรับทุกประเทศคู่ค้าของมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นเรื่องหนาวๆ ร้อนๆ สำหรับทุกประเทศคู่ค้าของมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ ทันทีที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ใช้โอกาสในการขึ้นแถลงนโยบายประจำปีที่ผ่านมาประกาศตั้งหน่วยงานตอบโต้การค้าไม่เป็นธรรม (Trade Enforcement Unit) และปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง

ต้องถือว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่หนักแน่นชัดเจนเป็นครั้งแรกของสหรัฐ หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐนิยมการขู่ เช่น การออกหนังสือประท้วง หรือการยื่นเรื่องฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เป็นหลักหากพบว่าคู่ค้าของตนดำเนินการค้าแบบไม่ชอบมาพากล ซึ่งไม่ค่อยจะส่งผลใดๆ เท่าไรนัก

ขณะเดียวกัน ก็เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนทำการค้ากับสหรัฐรู้ว่า ต่อจากนี้ไปหากหวังจะได้ความเป็นมิตรจากลุงแซมก็ต้องเล่นตามกติกาของลุงแซม

หากไม่ยอมก็ไม่ต้องมาพูดกันให้เปลืองเงิน เปลืองเวลา หรือถ้าดื้อดึงฝืนละเมิดก็เตรียมเจอบทลงโทษสาสมจากสหรัฐ

ความเอาจริงเอาจังดังกล่าวของลุงแซมเห็นได้จากการที่ รอน เคิร์ก ผู้แทนทางการค้าของสหรัฐรีบออกมารับลูกสนับสนุน โดยระบุว่าหน่วยงานที่ตั้งขึ้นจะรวบรวมทรัพยากรและผู้ตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลางเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับการปฏิบัติทางการค้าต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลสหรัฐตอกย้ำให้ได้ยินอยู่เสมอในยามที่มีการขาดดุลการค้า

มะกันระเบิดศึกลุยต้านเกมโกงการค้าโลก

 

แม้ว่า เคิร์ก จะไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่ามีประเทศไหนในรายการที่สหรัฐสนใจดูแลเป็นพิเศษ แต่บรรดานักวิชาการต่างรู้กันเป็นอันดีว่า ประเทศหมายเลขหนึ่งที่สหรัฐมุ่งจะจัดการให้จงได้ก็คือ ประเทศจีน ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และกำลังถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายคนสำคัญของสหรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นเพราะจีนแทรกแซงค่าเงิน กดให้เงินหยวนอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง จนตีตลาดสหรัฐยับเยิน

ไม่ว่าจะเป็นเพราะค่าจ้างของจีนที่ถูกกว่าความเป็นจริง ทำให้ภาคการผลิตโยกย้ายจากสหรัฐไปยังจีน จนคนสหรัฐตกงานกันมากสุดในประวัติศาสตร์

เห็นได้จากตัวเลขการฟ้องร้องดำเนินคดีกับจีนเรื่องการค้าไม่เป็นธรรม เฉพาะช่วง 4 ปีที่ โอบามา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มีการยื่นเรื่องฟ้องร้องจีนกับองค์การการค้าโลกแล้วถึง 5 คดี

ขณะที่ในช่วง 8 ปี ที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นประธานาธิบดี มีเพียง 7 คดีเท่านั้น

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่องถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของจีน เช่น การจงใจควบคุมเงินหยวนให้อ่อนค่าเกินความเป็นจริงของตลาด นโยบายกีดกันการค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและภาคบริการ ตลอดไปจนถึงการไม่เอาจริงกับการละเมิดลิขสิทธิ์ การทุ่มตลาดของจีนที่จงใจส่งออกสินค้าในราคาถูกกว่าปกติที่ขายอยู่ภายในจีนเอง

นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ปีมังกรทอง สหรัฐก็เปิดฉากโจมตีประเด็นการแทรกแซงค่าเงินหยวนมาเป็นระลอก ถึงกับส่ง ทิโมที ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังบุกถิ่นเยือนปักกิ่ง กดดันให้จีนหยุดการแทรกแซงค่าเงินหยวนทันที

เพื่อไม่ให้ผลพวงของการค้าไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจบลงตรงที่การเสียเปรียบอยู่ร่ำไปของสหรัฐ และทำให้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสหรัฐไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้ การขุดนโยบายปกป้องการค้าการส่งออกของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด

ยิ่งเมื่อมีการคาดการณ์จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญว่า ในปี 2554 สหรัฐมีแนวโน้มขาดดุลการค้าให้กับจีนชนิดทุบสถิติใหม่ที่ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายความตั้งใจของรัฐบาลกลาง ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี โอบามา ที่มุ่งเพิ่มตัวเลขการส่งออกให้ได้เป็น 2 เท่า ในปี 2558

ก็ยิ่งเป็นทั้งแรงผลักดันและแรงกดดันสำคัญที่ทำให้รัฐบาลกลางคลอดหน่วยงานตอบโต้การค้าไม่เป็นธรรมขึ้น หลังจากอดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้รู้ว่า ไม่สามารถหวังพึ่งองค์กรกลางใดๆ ได้อีกต่อไป

แน่นอนว่ามาตรการที่เกิดขึ้นย่อมทำให้บรรดาผู้ส่งออกในสหรัฐยิ้มออกมาได้บ้าง เพราะอย่างน้อยในที่สุดรัฐบาลก็มีมาตรการปกป้องภาคการส่งออกของประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงมากพออยู่แล้ว จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า หน่วยงานดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดศึกการค้าโลกที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และอาจจะเกิดการตอบโต้ทางการค้ากันหนักหน่วงมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็อาจจะส่งผลกระทบกลับมายังเศรษฐกิจสหรัฐเองในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น อีกทั้งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานและมาตรการที่เกิดขึ้นนั้นสุดท้ายอาจจะเป็นการแค่ “เขียนเสือให้วัวกลัว” เพราะท้ายที่สุดมาตรการใหม่นี้จะเป็นเพียงแค่นโยบายชั่วครู่ชั่วยามที่หวังผลทางการเมืองในการเลือกตั้งปลายปีของ โอบามา เท่านั้นเอง

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดแล้วก็คือ กลิ่นอายของสงครามการค้ารอบใหม่ของสหรัฐได้ก่อสร้างขึ้นเรียบร้อยแล้ว