posttoday

สภาใต้ปีก เพื่อไทย ตกต่ำ-ไร้ผลงาน

30 มกราคม 2555

สัญญาณทางการเมืองเริ่มส่อเค้าปะทุดุเดือดอีกครั้งอย่างเห็นได้ชัดทั้งในสภาและนอกสภา

สัญญาณทางการเมืองเริ่มส่อเค้าปะทุดุเดือดอีกครั้งอย่างเห็นได้ชัดทั้งในสภาและนอกสภา

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

สัญญาณทางการเมืองเริ่มส่อเค้าปะทุดุเดือดอีกครั้งอย่างเห็นได้ชัดทั้งในสภาและนอกสภา จนสร้างความกังวลว่าเร็วๆ นี้การเมืองอาจจะถึงความเปลี่ยนแปลงแบบคาดไม่ถึง

เริ่มที่ “นอกสภา” แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขและทบทวนบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์โดยกลุ่มนิติราษฎร์ กำลังถูกจับตามองทุกย่างก้าว

การจุดประเด็นของคณะบุคคลดังกล่าว ได้นำมาสู่ปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการก่อกำเนิดของกลุ่มต่อต้านนิติราษฎร์จากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการหรือการเคลื่อนไหวของมวลชน ที่ประกาศท้าชนนิติราษฎร์แบบไม่ยอมลดราวาศอก ตอกย้ำให้เห็นการสร้างความปรองดองเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง

สถานการณ์ขณะนี้เริ่มมีการแสดงความกังวลว่าอาจจะซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อปี 2549 หลังจากกองทัพนำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาทหารบก ซึ่งมักจะแสดงท่าทีไม่พอใจข้อเสนอดังกล่าวของนิติราษฎร์อย่างรุนแรง และมีนัยทางการเมือง พร้อมกับประกาศปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มรูปแบบ

ขณะที่ “ในสภา” ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน แต่ยังดีที่ยังไม่บานปลายถึงขั้นฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นอัมพาตเท่าไหร่นัก ถึงกระนั้นภาพรวมของฝ่ายนิติบัญญัติภายใต้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย ผลงานยังไม่โดนใจเท่าที่ควร

สภาใต้ปีก เพื่อไทย ตกต่ำ-ไร้ผลงาน

 

โฟกัสไปที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ประจักษ์เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า การให้เกียรติฝ่ายนิติบัญญัติมีมากหรือน้อยขนาดไหน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 วงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 23-24 ม.ค. ของวุฒิสภา

ไม่ต้องบรรยายกันมากว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีคุณค่าและความสำคัญต่อประเทศชาติขนาดไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้นำฝ่ายบริหารให้ความสำคัญกับงานนอกมากกว่างานในสภา

ส่งผลให้ สว.หลายคนแสดงความไม่พอใจออกมาว่า ทำไมวันที่ 23 ม.ค. นายกฯ ถึงเล็งเห็นความสำคัญกับงานสาธิตการโจมตีทางอากาศมากกว่ากฎหมายงบประมาณ โดยยิ่งลักษณ์มาตอบชี้แจงต่อวุฒิสภาเพียงไม่กี่นาทีทั้งที่มีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจมากมาย

วุฒิสภาเลยตบหน้าทางอ้อมด้วยการประกาศสรุปภาพรวมของการพิจารณางบประมาณ 2555 ว่า รัฐบาลใช้เวลา 11 นาที เพื่อตอบคำถามของวุฒิสภาที่อภิปรายมากว่า 20 ชั่วโมง

ในประเด็นนี้ พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภา พยายามอธิบายต่อสังคม นายกฯ มีภารกิจต้องปฏิบัติ อาจทำให้ต้องขาดการประชุมสภาไปบ้าง แต่รูปธรรมที่ออกมาก็ชี้วัดชัดเจนว่า การกระทำสวนทางกับคำพูดหรือไม่

ไม่เพียงเท่านี้ ฝ่ายนิติบัญญัติยุคเสียงข้างมากพรรคเพื่อไทย ยังแสดงถึงมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ด้วย ไม่ต่างอะไรกับสภาวะไร้บรรทัดฐาน

สะท้อนให้เห็นจากการพิจารณากระทู้ถามสดของฝ่ายค้าน ล่าสุดเป็นกรณีของ “รัชดา ธนาดิเรก” สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการสอบถามนายกฯ เกี่ยวกับการแต่งตั้งให้ “นลินี ทวีสิน” ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำจากสหรัฐ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ

แต่เมื่อนายกฯ ติดราชการต่างประเทศ ไม่สามารถตอบได้ จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคนอื่นมาตอบแทน โดย “รัชดา” แสดงความต้องการให้กระทู้ถามนี้ไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า ตามบรรทัดฐานที่เคยปฏิบัติกันมา

ปรากฏว่า “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภา ระบุว่า เมื่อตั้งกระทู้ถามและมีตัวแทนมาตอบต้องดำเนินการต่อไป สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะกระทู้ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องการทราบดุลพินิจของนายกฯ โดยตรง บุคคลอื่นจะมาตอบแทนไม่ได้ ส่งผลให้สุดท้ายสภาต้องยอมให้เลื่อนกระทู้นี้ไปถามในการประชุมครั้งต่อไปแทน

จากภาพรวมที่เกิดขึ้นนี้ มีผลโดยตรงต่องานสภาอย่างเลี่ยงไม่ได้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สำคัญต่างๆ ต้องล่าช้าเป็นอย่างมาก ทั้งที่กฎหมายถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งหมดเป็นไปเพื่อต้องการสร้างแนวป้องกันให้กับยิ่งลักษณ์เท่านั้น

ขณะเดียวกันการประชุมสภาตั้งแต่เข้าสู่เดือน ม.ค. ได้ปรากฏภาพความไม่เอาไหนของ สส.เป็นอย่างมาก เพราะต้องสั่งปิดประชุมสภาก่อนเวลาอันสมควร ทั้งที่เพิ่งดำเนินการประชุมไปได้เพียง 2-3 ชั่วโมง เช่น เปิดประชุมเวลา 10.00 น. สั่งปิดเวลา 13.00 น. ที่สำคัญสภาได้มีข้อกำหนดแล้วว่า วันพุธประชุมตั้งแต่เวลา 13.00-21.00 น. วันพฤหัสบดีระหว่างเวลา 10.00-18.00 น.

ในทางกลับกัน สภายุคพรรคเพื่อไทยกลับให้ความสำคัญกับบางเรื่องอย่างไม่ถูกที่ถูกเวลาด้วย เช่น ความพยายามในการย้ายสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาจากเกียกกายไปยังที่อื่น เป็นต้น

ความพยายามนี้ได้แสดงออกมาแบบมีนัยอย่างน่าสนใจ อย่างการเคลื่อนไหวของ คณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่มี “เจริญ” เป็นประธาน ได้ยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาย้ายสถานที่บนเหตุผลมากมาย รวมไปถึงการอ้างว่าพบพิรุธบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ควบคุมงานจำนวน 2 บริษัท ว่ามีความไม่โปร่งใส

หนึ่งในบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้ก่อสร้าง คือ บริษัท ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ธุรกิจของครอบครัวชาญวีรกูล นายทุนใหญ่พรรคภูมิใจไทย ไม่แปลกที่ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้หนีไม่พ้นว่ามีวาระการเมืองซ่อนเร้นหรือไม่

เมื่อหัวไม่ส่ายหางย่อมไม่กระดิก “ยิ่งลักษณ์” ไม่ให้ความสำคัญกับสภา งานนิติบัญญัติที่ออกมา จึงไม่เห็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์มากนัก

สภาพที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า สภาชุดนี้ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งและความหวังของสังคมได้ ภายใต้สถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่รุมเร้าประเทศอยู่ในเวลานี้ เพราะแม้แต่สภาเองก็ยังเอาตัวไม่รอดจากการทำหน้าที่ให้สมกับเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามกลไกที่ควรจะเป็น