posttoday

รุมชำแหละหนี้ ฉุดพรก.4ฉบับล่ม

26 มกราคม 2555

การออกมาแลกหมัดประเด็นร้อน “ข้อมูลหนี้สาธารณะ” ระหว่าง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การออกมาแลกหมัดประเด็นร้อน “ข้อมูลหนี้สาธารณะ” ระหว่าง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กลายเป็นหนังชีวิตลุ้นระทึกรายวันไปแล้ว

ที่สำคัญ การออกมาตีแผ่หนี้สาธารณะตรวจสอบกันไปมาว่าของใครเป็นของแท้ของเทียม กำลังกลายเป็นเรื่องเล็กล้มกระดานเรื่องใหญ่ ทำให้ทีมเศรษฐกิจต้องหาข้อมูลมาตอบโต้เป็นพัลวัน

เพราะที่ผ่านมารัฐบาลออก พ.ร.ก. 4 ฉบับเพื่อแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจรับมือน้ำท่วมชนิดเต็มสูบ โดย พ.ร.ก.ทั้งหมดถูกมัดรวมเป็นก้อนเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลตั้งหน้าตั้งตารอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อเดินหน้ามาตรการต่างๆ ที่เตรียมไว้

แต่เรื่องไม่ได้ง่าย เพราะตั้งแต่รัฐบาลเดินหน้าออก พ.ร.ก. ก็มีเสียงคัดค้านจากทุกสารทิศ ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ของรัฐบาล โดยบางฉบับไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ประเด็นปัญหากลายเป็นแผลร้ายลุกลามใหญ่มากขึ้น เมื่อธีระชัยที่พ้นจากตำแหน่ง รมว.คลัง ยังไม่ทันข้ามคืน ได้เริ่มออกมาชำแหละการเสนอร่าง พ.ร.ก. มีการให้เหตุผลที่บิดเบือนในการออกกฎหมาย

โดยเฉพาะ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ซึ่งกิตติรัตน์ให้เหตุผลกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สัดส่วนภาระการชำระหนี้สาธารณะอยู่ที่ 12% ของงบประมาณรายจ่าย ใกล้ชนเพดาน 15% ของงบประมาณรายจ่าย ทำให้จำเป็นเร่งด่วนออก พ.ร.ก.โอนหนี้ไปให้ ธปท.จ่ายดอกเบี้ยปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท แทนรัฐบาล

รุมชำแหละหนี้ ฉุดพรก.4ฉบับล่ม

ธีระชัยยังยิงหมัดตรงว่า ข้อมูลของกิตติรัตน์ที่ชี้แจงไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะสัดส่วนการชำระหนี้สาธารณะต่องบประมาณปี 2555อยู่ที่ 9.33% ไม่ใช่ 12% ซึ่งมีผลทำให้การออก พ.ร.ก.โอนหนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามที่กิตติรัตน์ชี้แจงกับ ครม.

อดีต รมว.คลัง ยังขยายแผลว่า เมื่อเหตุผลการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็จะส่งผลให้ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับกลายเป็นโมฆะไปด้วย หากรัฐบาลยังดื้อดึงไม่ฟังเสียงค้าน เพราะกฎหมายทั้งหมดใช้เหตุผลเดียวกันในการออกกฎหมาย

แม้ว่ากิตติรัตน์จะออกมาตอบโต้ว่า สัดส่วนหนี้ชำระหนี้สาธารณะปี 2555 อยู่ที่ 12% แต่ที่ลดลงมาเหลือ 9% เป็นผลจากการออก พ.ร.ก.โอนภาระหนี้ไปให้ ธปท. ทำให้ภาระชำระหนี้ต่องบประมาณลดลง

แต่ธีระชัยก็ออกมาสวนทันควันอีกครั้งว่า ไม่เป็นความจริง สัดส่วนภาระชำระหนี้ต่อภาระงบประมาณปี 2555 ที่ 9.33% ได้รวมภาระการชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนประมาณ 6.84 หมื่นล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยเสร็จสรรพแล้ว โดยเงินงบประมาณที่ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ คิดเป็น 2.87%

ดังนั้น หากการออก พ.ร.ก.โอนหนี้มีผลทำให้สัดส่วนภาระการชำระหนี้ลดตามกิตติรัตน์กล่าวชี้แจง สัดส่วนการชำระหนี้ก็ควรอยู่ที่ระดับประมาณ 6% เท่านั้น

ในการตอบโต้ธีระชัยได้เรียกร้องให้กิตติรัตน์ทบทวนการออก พ.ร.ก.ใหม่ เพราะข้อมูลล่าสุดฟ้องชัดว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ส่งผลให้งานเข้าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลทันที

ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง ก็จองกฐินรัฐบาล ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันทีที่ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ถือเป็นด่านหินที่รัฐบาลต้องเจอหนีไม่พ้น

ปัญหาที่สำคัญ การที่ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้ามาตรการต่างๆ ในการรับมือน้ำท่วมรอบใหม่ ซึ่งจะมาอีกไม่ถึง 56 เดือนข้างหน้า

หรือแม้แต่ว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ และต้องถูกฝ่ายค้านส่งเรื่องตีความ เวลาในการดำเนินการต่างๆ ก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก จนไม่พอที่รัฐบาลเตรียมการรับมือน้ำท่วมรอบใหม่ จนเกิดความเสียหายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนปีที่ผ่านมา

ถึงวินาทีนี้ รัฐบาลเหมือนอยู่บนทางแยกที่สำคัญ ชี้เป็นชี้ตายอนาคตประเทศไทย

ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งสติไตร่ตรองอย่างรอบคอบทุกด้านว่า จะปลดล็อกปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้อย่างไร ให้รวดเร็วและรอบคอบที่สุด

จะตัดสินใจเดินหน้ายืนยันรอให้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้เหมือนที่ตั้งใจไว้เดิม ซึ่งรัฐบาลต้องประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นว่า “ดื้อแล้วได้คุ้มเสียหรือไม่”

เพราะถึงวันนี้ รัฐบาลน่าจะได้ข้อมูลเพิ่มว่า พ.ร.ก.โอนหนี้ที่เป็นก้างขวางคอรัฐบาลอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่มีแต่ 2 อดีต รมว.คลัง อย่าง ธีระชัยและกรณ์ ที่ไม่เห็นด้วยและออกมาถล่มรัฐบาลรายวันจนตั้งหลักไม่ติด

แม้แต่ ธปท.ก็ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการไปเก็บค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์มาใช้หนี้กองทุน จะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเพิ่ม และผลักภาระให้ประชาชนที่เป็นลูกค้า

ด้านธนาคารพาณิชย์ ไม่ต้องพูดถึงออกมาต้าน พ.ร.ก.โอนหนี้ ถึงขั้นออกแถลงการณ์บอกเป็นนัยไม่ยอมให้เสียค่าธรรมเนียมจากที่ถูกเรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันที่มีอัตราสูงอยู่แล้ว

หรือแม้แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ก็น้ำท่วมปาก เพราะการถูกแย่งเก็บค่าธรรมเนียมไปใช้หนี้ ทำให้แผนการดูแลเงินฝากไม่เป็นไปตามแผน หากอนาคตสถาบันการเงินมีปัญหา การดูแลผู้ฝากเงินก็จะพานมีปัญหาไปด้วย

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดีดลูกคิดว่า จะเดินหน้าเกียร์ห้าเหมือนเดิม เสี่ยงไปจะได้คุ้มเสียหรือไม่

หากเห็นว่าเสียมากกว่าได้ รัฐบาลก็ต้องเลือกทางใหม่ ต้องยอมถอยพื่อชาติ นำร่างกฎหมายทั้งหมดกลับมาทบทวนใหม่ ตัดร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้เจ้าปัญหาทิ้งไปก่อน หลังจากนั้นก็เดินหน้า พ.ร.ก.อีก 3 ฉบับ ให้ออกมาบังคับเร็วที่สุด

เพราะจะเห็นว่า ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.ก.อีก 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.ก.กู้เงินลงทุนบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาท พ.ร.ก.ตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงินดอกเบี้ยต่ำของ ธปท. 3 แสนล้านบาท ไม่ได้มีปัญหาถูกคัดค้าน

นอกจากนี้ เสียงส่วนใหญ่ก็สนับสนุน พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ว่ามีความจำเป็นในการฟื้นฟูประเทศและปกป้องน้ำท่วมรอบใหม่ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะดำเนินการ

ในช่วงเวลาที่เหลือน้อยลงทุกวัน รัฐบาลจึงต้องรีบตัดสินใจผ่านทางสามแพร่งไปให้ได้ เพราะหากยังจมหลงอยู่แต่เอาชนะเรื่องหนี้สาธารณะอย่างทุกวันนี้ มีแต่จะรั้งให้ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับล่มไปทั้งหมด

ถึงเวลานั้น ไม่ว่ารัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ ก็เสี่ยงสำลักน้ำท่วมใหญ่เหมือนปีที่ผ่านมา