posttoday

ติดดาบวายุภักษ์ ซุกหนี้ถือหุ้น..อันตราย

20 มกราคม 2555

แม้ว่าประเด็นร้อนการออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท

แม้ว่าประเด็นร้อนการออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

แม้ว่าประเด็นร้อนการออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับภาระใช้ต้นและดอกเบี้ยยังวุ่นวาย จนบัดนี้ยังหาข้อยุติในการรีดเงินจากสถาบันการเงินแบงก์พาณิชย์ไม่ได้

การดูแลผู้ฝากเงินไม่ให้ได้รับผลกระทบจะไม่เห็นเป็นรูปธรรม

รัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ใจถึงเปิดประเด็นร้อนใหม่ เรื่องการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจเกรดเออย่าง บริษัท ปตท. และบริษัท การบินไทย ให้กับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อลดสัดส่วนที่กระทรวงการคลังถืออยู่แห่งละประมาณ5152% ให้ลดลงมาต่ำกว่า 50% เพื่อลดสถานะลงมาจากความเป็น “รัฐวิสาหกิจ”

ผลที่ตามมาจากมาตรการนี้ คือหนี้ที่รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งก่อขึ้นมา จะไม่ต้องนับเป็นหนี้สาธารณะอีกต่อไป

นั่นหมายถึงว่า ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดต่ำลง

ประเด็นการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เปิดทาง โดย ดร.โกร่งวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ระบุว่า การลดสัดส่วนหุ้นบริษัท ปตท. และบริษัท การบินไทย จะทำให้หนี้สาธารณะลดลง 1 ล้านล้านบาท จนทำให้หลายคนตะลึงในวิธีคิดการจัดการบริการภาครัฐ

ติดดาบวายุภักษ์ ซุกหนี้ถือหุ้น..อันตราย

คล้อยหลังจากนั้น ขณะที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็ออกมารับลูกทันควัน ว่าเรื่องนี้คิดจริงทำจริง และจะทำให้ได้ภายในปีนี้

ด้านกระทรวงการคลังก็ตบเท้ารับลูกพร้อมดำเนินการ โดยกองทุนวายุภักษ์มีความพร้อมดำเนินการได้ทันที เพราะกองทุนวายุภักษ์มีสภาพคล่อง 5 หมื่นล้านบาท สามารถควักเงินออกมาซื้อหุ้นบริษัท ปตท. และบริษัท การบินไทย ได้อย่างไม่ยากเย็น

นอกจากนี้ ผู้บริหารกระทรวงการคลังยังชงลูกมองข้ามช็อตไปถึงขนาดต่ออายุกองทุนวายุภักษ์ ที่ตอนนี้เป็นกองทุนปิดอายุแค่ 10 ปี และเหลือเวลาอีก 2 ปี ก็จะต้องปิดกองทุนลง ด้วยการทำเป็นกองทุนเปิดนำเข้าตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมเงินลงทุนของรัฐบาลอีกขาหนึ่ง

เรื่องดังกล่าวได้รับการคัดค้านแบบทันที จาก กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง โดยระบุว่า การลดสัดส่วนหุ้นบริษัท ปตท. ไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นอำนาจผูกขาดในเรื่องพลังงานที่มีผลต่อชีวิตคนไทยทุกคน

ดังนั้น เมื่อใดที่ ปตท.เป็นของเอกชนและมีเป้าหมายอย่างเดียวคือ ทำกำไร ประชาชนคนไทยจะต้องเดือดร้อนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังพุ่งเป้าว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาก๊าซเพื่อเพิ่มกำไรให้กับ ปตท. สอดคล้องกับแนวคิดให้กระทรวงการคลังขายหุ้น

แน่นอนว่า เมื่อใดที่หุ้น ปตท. รัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดด้านพลังงานของประเทศหลุดมือจากรัฐบาลแล้ว ใครมีทุนหนาก็เข้ายึดครองได้

และประจวบเหมาะพอดีกับการที่ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายวันนี้กลายเป็นผู้ที่มีทุนหนาที่สุดด้วย

แต่ที่เผ็ดร้อนกว่านั้น เห็นจะเป็น ธีระชัยภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ทิ้งทวนหลุดเก้าอี้สดๆ ร้อนๆ ออกโรงคัดค้านนโยบายขายหุ้นรัฐบาลอย่างดุเดือดว่า เป็นการซุกหนี้ ทำให้ประเทศขาดความน่าเชื่อถือและจะเกิดวิกฤตเหมือนประเทศกรีซ

นอกจากนี้ อดีต รมว.คลัง มองว่า การคิดหนี้สาธารณะต้องยึดข้อเท็จจริง ไม่ใช่เล่นแร่แปรธาตุเพียงรูปแบบของการถือหุ้นทำให้หนี้สาธารณะลดลง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ลด

ต้องบอกว่า ข้อทักท้วงของบุคคลทั้งสองนั้นไม่ธรรมดา ประชาชนและฝ่ายการเมืองต้องเงี่ยหูฟัง

ข้อสังเกตของอดีต 2 รมว.คลัง ถือว่าพุ่งตรงเป้ากลางกล่องดวงใจของหลายฝ่าย ว่าการดำเนินการของรัฐบาลนี้เป็นการซุกหนี้ของรัฐบาลหาเสียงทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผลประโยชน์ของเรื่องหุ้นที่เป็นตัวเงินตัวทองของนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยู่

ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายหุ้น ปตท. และบริษัท การบินไทย ให้กองทุนวายุภักษ์และการต่ออายุกองทุนวายุภักษ์ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญมาบรรจบเจอกันโดยมิได้นัดหมายเด็ดขาด

แต่เรื่องทั้งหมด มีการวางแผนเตะลูกรับลูกกันอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะมีการเปิดหน้าออกมาให้เห็นเป็นช็อตๆ อย่างต่อเนื่อง

กองทุนวายุภักษ์ถูกตั้งขึ้นสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่สำคัญ คือ นิพัทธ พุกกะณะสุต ซึ่งตอนนี้นั่งเป็นกรรมการ อยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งมีส่วนในการวางยุทธศาสตร์ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจและต่ออายุกองทุนวายุภักษ์อยู่ไม่น้อย

สมัยที่คิดตั้งกองทุนวายุภักษ์ มีการวางโมเดลให้กองทุนวายุภักษ์เป็นเหมือนกองทุนเทมาเซกของสิงคโปร์ เป็นกองทุนของประเทศไปลงทุนทำเงินเข้ามาใช้พัฒนาประเทศอีกช่องทางหนึ่ง

แต่แนวทางดังกล่าวได้รับการคัดค้าน เพราะกลัวความเสี่ยงจากการตั้งกองทุน ที่ต้องนำหุ้นของกระทรวงการคลังถึง 1 แสนล้านบาท ไปใช้ประเดิมตั้งกองทุน ทำให้สุดท้ายกองทุนวายุภักษ์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ออมเงินรายย่อยเท่านั้น โดยกองทุนประกันผลตอบแทนปีละ 3% เป็นอย่างต่ำ

กองทุนวายุภักษ์มีเงื่อนไขที่สำคัญ เมื่อครบปีที่ 10 ปิดกองทุน กองทุนต้องเสนอขายหุ้นที่ซื้อไปประเดิมในการจัดตั้งกองทุนคืนกลับมาให้กับกระทรวงการคลังก่อนเป็นเจ้าแรก

หากกระทรวงการคลังไม่ซื้อคืน กองทุนก็สามารถนำหุ้นไปขายในตลาดได้

เห็นความล่อแหลมและเหลี่ยมคูในการเปิดช่องให้คนที่ทุนหนาสามารถสไลด์เข้ามาซื้อหุ้นในรัฐวิสาหกิจของรัฐกันแจ่มแจ้งหรือไม่

ปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์ จากตอนตั้งมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท พูดง่ายๆ มีกำไรเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท

ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลที่จะทำกองทุนวายุภักษ์เป็นกองทุนเปิดไม่มีวันหมดอายุ และนำกองทุนเข้าตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมเงินของรัฐบาล จึงถูกมองว่าเป็นการหาช่องขายหุ้นที่กองทุนถืออยู่ดีหลายๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท ปตท. หรือบริษัทไออาร์พีซี ให้กับนักลงทุนในตลาดที่สุด

เพราะการแปลงกองทุนวายุภักษ์เป็นกองทุนเปิดโดยไม่ต้องรอกองทุนครบ 10 ปี ก็เท่ากับว่าเป็นการปลดล็อกกองทุนไม่ต้องเสนอขายหุ้นคืนให้กับกระทรวงการคลัง กองทุนสามารถบริหารหุ้นที่มีอยู่ซื้อขายได้อย่างอิสรเสรี ต่างจากเดิมที่หุ้นถูกล็อกนอนกองไว้ เพราะต้องขายคืนให้กระทรวงการคลังในวันที่ปิดกองทุน ซึ่งก็หมายถึงอีก 2 ปี

ยิ่งแนวทางการลดสัดส่วน ปตท. โดยการขายหุ้นให้กับกองทุนวายุภักษ์เพื่อลดหนี้สาธารณะดูมีข้อกังขา เพราะก่อนหน้านี้กิตติรัตน์ ออกมายืนยันว่า สัดส่วนหนี้ไม่ได้เป็นปัญหา ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี สามารถกู้ได้อีก 2 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ถึงจะชน 60% ของจีดีพี ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง

แต่ผ่านไปไม่กี่วัน รัฐบาลกลับยังมีนโยบายลดสัดส่วนหนี้อีก ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ ภาระหนี้เรื่องของดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็ถูกโยนไปให้ ธปท.แล้ว

จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลต้องมีแผนการขายหุ้น ปตท. หรือบริษัท ปตท. ให้กองทุนวายุภักษ์เพื่อลดหนี้อีก

และการแปลงกองทุนวายุภักษ์จะมีหลักประกันให้มั่นใจได้อย่างไร ว่าจะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโอนถ่ายทรัพย์สินผลประโยชน์ของรัฐไปให้คนอื่น มากกว่าที่จะกลับมาให้ประเทศ

การเดินเกมของรัฐบาลเรื่องนี้ถือว่าสลับซับซ้อน ซึ่งที่อ้างว่าเป็นการลดหนี้อาจจะเป็นโบนัส แต่เป้าหมายจริงอยู่ที่การติดปีกกองทุนวายุภักษ์ ที่เปิดช่องขายหุ้นรัฐวิสาหกิจชั้นดีให้กับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง อย่างที่ กรณ์ อดีต รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตไว้มากกว่า

เพราะหากโยกหนี้รัฐวิสาหกิจโดยการขายหุ้นออกไปในวันนี้ให้กับกองทุนวายุภักษ์ แล้วรัฐบาลลุยสร้างหนี้เต็มที่เพื่อหาเงินมาพัฒนาประเทศ วันหนึ่งเมื่ออายุกองทุนครบกำหนด แล้วกระทรวงการคลังไม่สามารถซื้อหน่วยลงทุนกลับคืนมา เพราะติดเพดานหนี้สาธารณะ หรือกรอบการคลังเมื่อไหร่

ประชาชนคนไทยได้คางเหลืองจากการทำมาหากินของคนที่มือยาวสาวได้สาวเอาแน่