posttoday

จับตาอนาคตพม่าจุดเปลี่ยนชัยภูมิการค้าแห่งเอเชีย

19 มกราคม 2555

วินาทีนี้คงต้องยอมรับกันแล้วว่า ไม้เด็ดที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ผู้นำพลเรือนคนแรกของประเทศพม่าในรอบเกือบ 20 ปีนำมาใช้

วินาทีนี้คงต้องยอมรับกันแล้วว่า ไม้เด็ดที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ผู้นำพลเรือนคนแรกของประเทศพม่าในรอบเกือบ 20 ปีนำมาใช้

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

วินาทีนี้คงต้องยอมรับกันแล้วว่า ไม้เด็ดที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ผู้นำพลเรือนคนแรกของประเทศพม่าในรอบเกือบ 20 ปีนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวอองซานซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า พร้อมด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนเกือบร่วมพันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตามด้วยการเซ็นสัญญาสงบศึกหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในประเทศ ได้ “ใจ” บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะชาติตะวันตกอย่างสหรัฐ และยุโรปไปแบบเต็มๆ

ยืนยันได้จากเสียงชื่นชมมากมายตามหน้าหนึ่งของเว็บไซต์ข่าวทั่วโลก และย้ำชัดอีกกับการที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เช่น ฮิลลารี คลินตัน แห่งสหรัฐ หรือวิลเลียม เฮก แห่งอังกฤษ รวมถึงผู้แทนทางการทูตประเทศต่างๆ ผลัดกันมาเยี่ยมเยียน ชนิดที่เรียกว่าหัวกระไดบ้านของพม่าไม่เคยแห้ง

แถมด้วยการส่งสัญญาณข่าวดีจากชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ ที่เตรียมดำเนินการปูทางยกเลิกการคว่ำบาตรในพม่า ซึ่งได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงเรียกร้องจากบรรดานานาประเทศอย่างเต็มที่

แนวโน้มสดใสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับความสมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นที่ต้องการไปทั่วโลก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับการเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก ส่งผลให้พม่ากลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนต่างจับตามองอย่างใกล้ชิด และพร้อมเตรียมการกระโจนเข้าพม่าอย่างเต็มตัว

จับตาอนาคตพม่าจุดเปลี่ยนชัยภูมิการค้าแห่งเอเชีย

 

แน่นอนว่า ลำพังแค่การปฏิรูปประเทศให้เปิดกว้างและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้แข็งแกร่งคงไม่เพียงพอจะสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้เต็มที่ บรรดาอภิมหาโครงการหลายล้านเหรียญสหรัฐของรัฐบาลพม่าจึงเกิดขึ้น

หนึ่งในเมกะโปรเจกต์ที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ โครงการท่าเรือน้ำลึกและศูนย์อุตสาหกรรมในเมืองทวาย ทางตอนใต้ของประเทศ ด้วยงบทุ่มทุนสูงถึง 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 แสนล้านบาท) ซึ่งรัฐบาลพม่าหมายมั่นให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของภูมิภาคเอเชียได้ในทุกด้าน ด้วยขนาดของพื้นที่ที่ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในไทยถึง 16 เท่า

สำหรับท่าเรือน้ำลึกเมืองทวายนี้จะสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าได้มากกว่า 200 ล้านตัน ขณะที่ท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดของไทย อย่างท่าเรือแหลมฉบังรองรับได้ 47 ล้านตัน

โครงการท่าเรือน้ำลึกและศูนย์อุตสาหกรรมเมืองทวายนี้ได้เริ่มดำเนินการพัฒนามาหลายปีแล้ว โดยมีบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของไทยอย่างอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คอยดำเนินการ

บรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า อภิมหาโครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลพม่าที่จะผลักดันสถานะของประเทศที่อยู่ในระดับยากจนให้ตามทันการเติบโตของภูมิภาคได้เทียบเท่าและทัดเทียม

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งตามติดเมกะโปรเจกต์อย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกและศูนย์อุตสาหกรรมเมืองทวายมาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้สปอตไลต์ทุกดวงต้องสาดส่องไปยังโครงการดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่ขนาดหรือจำนวนเงินที่รัฐบาลพม่าทุ่มลงไป แต่อยู่ที่แนวโน้มความเป็นไปได้ที่โครงการที่ว่านี้จะเป็นไปตามที่รัฐบาลพม่าตั้งเป้าเอาไว้ อันเป็นผลมาจากความได้เปรียบเรื่องชัยภูมิ หรือทำเลที่ตั้ง

ทั้งนี้ เมื่อกางแผนที่โลกออกมาดู พม่าตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย คือจีนและอินเดีย โดยมีพรมแดนติดกับทั้งสองประเทศร่วม 3,600 กิโลเมตร

ดังนั้น หากพม่าพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานให้ได้มาตรฐานแล้ว พม่าก็จะกลายเป็นเส้นทางขนส่งลำเลียงสินค้าที่สำคัญทันที

เนย์ซินลาต เลขาธิการสมาคมโรงแรมพม่าและที่ปรึกษาประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวว่า การที่สินค้าและผลิตภัณฑ์ผ่านเข้าออกประเทศพม่าได้อย่างสะดวกในราคาที่ต่ำทำให้พม่ามีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยก๊าซธรรมชาติจะเป็นสินค้าอันดับหนึ่งที่ทำให้ประเทศเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติที่มีลูกค้ารายใหญ่คือจีนและอินเดียมีการเติบโตโดยเฉลี่ย 4.9 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2551–2554

เรียกได้ว่า ขนาดเส้นทางขนส่งยังไม่สะดวกดี ก๊าซธรรมชาติของพม่ายังขายดี ถ้าหนทางพร้อมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

แน่นอนว่า ย่อมเป็นผลลัพธ์ที่ทำให้รัฐบาลพม่ายิ้มไม่หุบ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็ยังไม่วายเตือนพม่าและนักลงทุนทั้งหลายว่าอย่างเพิ่งด่วนดีใจเกินไปนัก เพราะทั้งหมดเพิ่งจะอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น และยังมีปัญหารอให้รัฐบาลพม่าสะสาง เช่น ความโปร่งใสในการบริหารของภาครัฐ หรือที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ผลกระทบของโครงการต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ที่ทำให้ในขณะนี้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานของท่าเรือต้องหยุดชะงักไป

คำตอบที่รัฐบาลพม่าจำต้องเฟ้นหาทางออกให้เหมาะสมที่สุด ที่จะทำให้ประชาชนพอใจ และไม่หักหาญน้ำใจบรรดานักลงทุนจนเกินไป

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเรื่องดีของพม่าและของเอเชียโดยรวมแน่นอน แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือว่า ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านเก่าแก่ได้เตรียมพร้อมก้าวไปกับพม่าแล้วหรือยัง