posttoday

ทีมเศรษฐกิจมือใหม่ เพิ่งขับ

19 มกราคม 2555

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ถึงตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลปูแดง 2 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ “ตัวจริงเสียงจริง” เสียที สำหรับ “รองฯ โต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ที่เตรียมขึ้นรั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง

หลังจากนี้ไป รองฯ โต้ง จะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแบบเบ็ดเสร็จ โดยมี “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร คอยเป็นกุนซือชักใบเรือเพื่อสู้กับลมที่แรง

ใต้ร่มธง “Chin Government” และพิธีกรรมปูนบำเหน็จแกนนำ “Redshirt”

ต้องยอมรับว่าบทบาท “กิตติรัตน์” ในช่วง45 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าโดดเด่นและได้รับความไว้วางใจอย่างสูงในฐานะ “มือขวา” นายกรัฐมนตรีปู แม้ผลงานหลายชิ้นจะไม่เข้าตาใครหลายคน แต่ความตั้งใจในการทำงานต้องบอกว่าเหลือล้น และหามรุ่งหามค่ำ เรียกว่าเต็มที่เต็มเวลา

ขณะที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล “ขุนคลัง” ที่จะหลุดโผ ครม.ปู 2 เลือกที่จะ “ปิดตัวเอง” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกระแสเสียงในการชี้นำเศรษฐกิจก็ “เงียบหาย” ไปกับสายน้ำ

นอกเหนือจากนั้นก็มีเพียงกระแสข่าว “เกาเหลา” ที่ตอกย้ำว่า ธีระชัย ยังมีตัวตนอยู่ใน ครม.เท่านั้น ที่บอกว่าขุนคลังธีระชัยยังทำหน้าที่อยู่

ทีมเศรษฐกิจมือใหม่ เพิ่งขับ

“สื่อจัดผมอยู่ในกลุ่มที่สนิทสนมนายกฯ เพราะเคยทำงานกับนายกฯ เช่น สมัยก่อนเคยทำงานร่วมกับมูลนิธิไทยคมในการพัฒนาเยาวชนในกีฬาฟุตบอล หรือเมื่อเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร นายกฯ ก็เป็นกรรมการมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ก็รู้ว่าผมทำงานอย่างไร” กิตติรัตน์เปิดใจ เมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ

ระยะที่ผ่านมา กิตติรัตน์ทำงานหลายอย่างที่เป็นเสมือนตัวแทนนายกฯ หญิง

เช่นเดียวกับ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ได้รับเชิญเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาลในการลงทุนฟื้นฟูน้ำท่วมและสร้างอนาคตประเทศ ที่แม้จะมีบทบาทในการชี้นำทิศทางของทีมเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ไม่อาจก้าวข้าม “จุดยืนและตัวตน” ของกิตติรัตน์ ไปได้

การโปรดเกล้าฯ รายชื่อ ครม.ชุดใหม่ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ กิตติรัตน์ จะเป็นเพียง “มือเก่า” ที่หลงเหลืออยู่ในทีมเศรษฐกิจขนาดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ยอมรับตั้งแต่ต้นว่าเป็น “มือใหม่เพิ่งหัดขับ” แทบทั้งสิ้น

มีเพียง บุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่ขึ้นแท่นเป็น รมว.พาณิชย์ จากเดิมเป็น รมช.คลัง ที่มีผลงานเข้าตาหลายชิ้น เช่น พักหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาท บ้านหลังแรก และรถยนต์คันแรก แต่เป็นรัฐมนตรีแค่ 45 เดือน ประสบการณ์ก็ยังถือว่าน้อยไปบ้าง

แน่นอนว่าประสบการณ์การเป็นนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมของ บุญทรง และเคยเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเข้าทำงานการเมืองในสังกัด “วังบัวบาน” ของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แห่งบ้านเลขที่ 111 เป็นปัจจัยหนุนส่งในการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงพาณิชย์

ทว่ามีขวากหนามที่รอ บุญทรง อีกมากมาย เพราะ “รัฐมนตรีสายตรง” เช่น ภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ที่เดิมแทบจะคุมงานในกระทรวงแทบทั้งหมด และส่งเพียงงานด้านต่างประเทศให้กิตติรัตน์ในฐานะเจ้ากระทรวงดูแลเท่านั้นนี่อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่รัฐมนตรีพาณิชย์มือใหม่ต้องขับฝ่าไป

เชื่อว่าต่อจากนี้ไปความเคลื่อนไหวในกระทรวงพาณิชย์น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้มีแค่ บุญทรง ไม่ได้มีแค่ ภูมิ แต่ยังมี “ยรรยง พวงราช” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่มีข่าวว่าได้เข้าแสดงวิสัยทัศน์กับนายกฯ และอาจขึ้นแท่น รมว.พาณิชย์ ในฐานะ “เป้าหลอก”

อย่างไรก็ดี เมื่อไล่เรียงรายชื่อทีมเศรษฐกิจในโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 พบว่ารัฐมนตรีมือใหม่หลายคน ไม่ใช่แค่ “มือใหม่หัดขับ” เท่านั้น แต่ทุกคนเป็นรัฐมนตรี “เพิ่งขับ” แทบทั้งสิ้น หรือเรียกได้ว่าแต่ละคนแทบไม่เคยมีประสบการณ์ด้านบริหารเศรษฐกิจเลย

“จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อดีตนายอำเภอ อดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร อดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุที่เตรียมเข้าดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม

ฝีมือการบริหารราชการในฐานะราชการประจำนั้นไม่มีใครเถียง เชี่ยวและเคี่ยวไม่แพ้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย แน่นอน

แต่การที่ปลัดกระทรวงก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีนั้นแตกต่างกันลิบลับและมีผลสัมฤทธิ์ให้เห็นหลายคนแล้วว่า รัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการประจำนั้น สุดท้ายจะเช้าชามเย็นชาม

จารุพงศ์ รัฐมนตรีมือใหม่เพิ่งขับต้องฝ่าด่านใหญ่ในเรื่องการขับเคลื่อนรถบรรทุกหลักในการลงทุนภาครัฐให้ขับเคลื่อนให้ได้ เพราะคมนาคมนั้นถือเป็นกระทรวงใหญ่มีการลงทุนปีละหลายแสนล้านบาท มีองคาพยพของรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศได้มหาศาล

ถ้าขับไม่เป็นก็เป็นกรรมของประเทศ

“อารักษ์ ชลธาร์นนท์” ที่ติดโผ รมว.พลังงาน แทน “พิชัย นริพทะพันธุ์” ศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นคนที่กิตติรัตน์ บอกว่า “รู้วิธีคิดของเขา” แต่ต้องถูกปลดกลางอากาศ เพราะผลงานไม่เข้าตา บัตรเครดิตพลังงานที่ “พลาดเป้า” ข้อครหา “หัวคิว” คูปองส่วนลด 2,000 บาท

โดยเฉพาะความอัดอั้นต่อนโยบายลดส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พิชัย ในฐานะคนที่เคยร่ำเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ รู้ดีว่าจุดยืนของตัวเองเป็นอย่างไร ในเรื่องราคาพลังงานที่ต้องเป็นไปตาม “กลไกตลาด” แต่ต้องฝืนทำตามนโยบายพรรค

ว่ากันว่า การถูกถอดจากตำแหน่งครั้งนี้ พิชัย ออกอาการ “น้อยใจ” ให้เห็น เช่น หลบหน้าสื่อ หลีกเลี่ยงการเป็นข่าว ไม่รับสายโทรศัพท์ และพิชัย มองว่าตัวเองถูก “วางยา” จากข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานคนหนึ่ง

เมื่อส่องประสบการณ์ของ อารักษ์ รัฐมนตรีมือใหม่ที่เพิ่งขับกันบ้าง เขาเคยเป็นกรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น และซีอีโอบริษัท ไทยคมฯ เพื่อนกลุ่มก๊วนเดียวกับ “บุญคลี ปลั่งศิริ” และ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่ติดโผ รมต.ประจำสำนักนายกฯ

อารักษ์ เกษียณอายุจากตำแหน่งใน ชินคอร์ป และพักผ่อนมากว่า 1 ปีแล้ว แต่ถูกเรียกตัวมาทำงานในตำแหน่ง รมว.พลังงาน เพราะ “นายสั่งมา”

อารักษ์ จึง “เป็นมือเป็นไม้” ให้นายใหญ่ใช้อย่างรู้มือ

ในนาทีที่ทั่วโลกต่างวุ่นวายกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นหลังสหรัฐและชาติพันธมิตรร่วมกัน “แซงชัน” ไม่ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะมีผลต่อค่าครองชีพของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย

คนที่รู้มือย่อมสามารถรู้ใจนายในการผลักดันกระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท. ให้เป็น “แก้วสารพัดนึก” ของรัฐบาลปูในการฝ่าฟันมรสุม

หรือแม้แต่กรณีที่ “ดร.โกร่ง” ผุดไอเดียลดหนี้สาธารณะ 5 แสนล้านบาท ด้วยการให้กองทุนวายุภักษ์เข้าซื้อหุ้นบริษัท ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน ในสัดส่วน 2% เพื่อให้ ปตท.หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ต้องการคนทำงานระดับ “รู้ใจ” และทนทานกระแส “เสียดทาน” ได้อย่างดี

ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ที่ขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรีสมัยแรกในตำแหน่ง รมช.คลัง ที่เป็นลูกหาบในการบริหารจัดการทำให้การทำงานบรรลุผลนั้นก็เพิ่งขึ้นชั้น

ทนุศักดิ์ สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยศรีปทุม และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และหันมาเอาดีทางการเมือง โดยได้รับเลือกเป็น สส.อุตรดิตถ์ 5 สมัยตั้งแต่ปี 2539-2554

การยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อรับตำแหน่งสส.วันที่ 1 ส.ค. 2554 ทนุศักดิ์ ในวัย 54 ปี ต้องถือว่า เป็นคน “สันโดษ” มีเงินฝาก 244,584.88 บาท ไม่มีทรัพย์สินอื่น ไม่มีหนี้สิน มีรายได้ประจำจากเงินเดือน 1,251,960 บาทต่อปี รายจ่าย 318,000 บาท ที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยบริษัท ไอเอ็มจีประกันชีวิต แค่นั้น

ทนุศักดิ์ ในฐานะว่าที่ รมช.คลัง อาจจะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกบันทึกว่า “จน” ที่สุดเท่าที่กระทรวงนี้เคยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการมาก็เป็นไปได้

ทนุศักดิ์ เป็นมือวางในสังกัด “เจ๊แดง” ที่มีเหลี่ยมชั้นทางการเมืองพอตัว แต่ผลงานด้านการคลัง การบริหารจัดการภาครัฐยังไม่เป็นที่ประจักษ์ งานหลักๆ ในกระทรวงจึงน่าจะอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ กิตติรัตน์ และ วิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง ในวัยใกล้ 70 ปี

ขณะที่ว่าที่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่อย่าง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีในโควตาพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งมาทำหน้าที่แทน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่มีปัญหาสุขภาพ เมื่อพิจารณาจากประวัติพบว่า ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ ทำงานในสายวิชาการมาตลอดกระทั่งมีตำแหน่งระดับ “รองศาสตราจารย์”

ตำแหน่งสุดท้ายเป็นคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ประวัติการศึกษาถือว่าไม่ธรรมดา 2535 จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขา Public Policy & Management มหาวิทยาลัย Harvard ปริญญาโท สาขา Industrial Management มหาวิทยาลัย Central Missouri และปริญญาตรี สาขา Computer Science มหาวิทยาลัย Southeast Missouri State

สุดท้าย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มเสื้อแดงที่ประกาศชัด ในเรื่อง “เผาเมือง” มีวาสนาได้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ประสบการณ์ของการเป็นนักพูดนักสื่อสาร น่าจะเป็น“กันชนม็อบ” เกรดเอ งานบริหารกระทรวงส่วนใหญ่คงต้องพึ่งพาข้าราชการประจำ ขณะที่งานหลักๆ ในกระทรวงยังอยู่ในมือ “หลงจู๊” เหมือนเดิม

พิจารณาจากคุณสมบัติ ประวัติการทำงานแล้ว ฟันธงเลยว่าทีมเศรษฐกิจ “มือใหม่เพิ่งขับ” ชุดนี้ ไม่ใช่ทีมแทคโนแครต ซีอีโอ ที่มีหน้าที่มองหาหนทางในการเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดและวางอนาคตประเทศ เหมือนที่มาจัดวางสถานะหรือสร้างยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศแบบซีอีโออย่างเด็ดขาด

ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ มีหน้าที่เป็น “มือปฏิบัติ” ตามทิศทางที่ถูกกำหนดไว้แล้วเท่านั้น นอกจากนั้นเลิกคิดกันได้

ขณะที่หนทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลาย