posttoday

กองทุนประกัน..เสาค้ำยันความเสี่ยงภัย

12 มกราคม 2555

ในที่สุดแผนการจัดตั้งกองทุนประกันภัยเพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนในชาติก็เห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง

ในที่สุดแผนการจัดตั้งกองทุนประกันภัยเพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนในชาติก็เห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง

โดย...วารุณี อินวันนา

ในที่สุดแผนการจัดตั้งกองทุนประกันภัยเพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนในชาติก็เห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง

เมื่อรัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อคุ้มครองภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ และลูกเห็บ ซึ่งจะมีผลทำให้การจ่ายชดเชยต่อไปนี้จะเป็นแบบจำกัดวงเงินขั้นสูงเอาไว้ชัดเจน

ทำให้ประชาชน นักลงทุน มีเบาะรองรับในยามวิกฤต

หลังจากนี้จะมีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการและแนวทางการบริหารกองทุน ก่อนที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาจริงๆ ประมาณเดือนเม.ย.นี้

ถ้าพิจารณาจากเหตุผลที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนดังกล่าวออกมา จะเห็นภาพชัดเจนว่าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจ บริษัทรับประกันภัยมั่นใจในการรับประกันวินาศภัยในอัตราเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยไม่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

สำหรับกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้กำกับ แต่จะขึ้นตรงกับรัฐบาล หรือกระทรวงการคลังนั้นยังไม่ชัดเจน โดยจะมีการกำหนดรายละเอียดออกมาอีกครั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กองทุนประกัน..เสาค้ำยันความเสี่ยงภัย

และเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการทำงานของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ จะพบว่ามี 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกัน

1.รัฐบาลที่จะทยอยสมทบเงินเข้ามาในกองทุนนี้ จะเป็นจำนวนเท่าไหร่ต่อครั้ง จะมีการกำหนดออกมาอีกรอบหลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนและผู้จัดการกองทุนเสร็จเรียบร้อย

2.ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยที่จะจ่ายเงินสมทบเข้าไปตามสัดส่วนที่กำหนด

ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ เมื่อเกิด “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” จะสร้างความเชื่อมั่นและทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยพิบัติ หรือภัยธรรมชาติ ถูกลงจริงหรือไม่

ถ้าพิจารณาจากหลักการนั้น ต้องบอกว่าทำให้เบี้ยถูกลงจริง เพราะ...

1.ราคาประกันภัยพิบัติในส่วนของความเสียหายไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาทแรก ทางกองทุนจะเป็นผู้กำหนดราคาที่ไม่แสวงหากำไร เหมือนบริษัทประกันภัย โดยจะขายในราคาต้นทุน ไม่ได้ถูกกำหนดโดยบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ

เนื่องเพราะความเสียหายจำนวนดังกล่าวจะอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัย ในฐานะที่เป็นผู้ขายประกันภัย 2,000 ล้านบาทแรก เพราะจะได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้เดือดร้อน และขายประกันภัยพิบัติแบบกระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาขายเฉพาะในพื้นที่เขตน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว

ส่วนอีก 2.8 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจะเป็นคนจ่ายชดเชยให้กับผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 2,0013 หมื่นบาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะคิดเบี้ยแพงขึ้นจากปกติ เพราะมีการการันตีความสูญเสีย

ทั้งนี้ คปภ.คาดว่าจะมีผู้ซื้อประกันภัยพิบัติประมาณ 1.02 ล้านราย ทุนประกันภัยรวม 5 แสนล้านบาท ซึ่งอิงจากสถิติปี 2553 แยกเป็นภาคอุตสาหกรรม 15,637 ราย จะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 10% หรือไม่เกินรายละ 50 ล้านบาทของทุนประกันภัยทรัพย์สินที่คุ้มครองภัยทุกชนิด รวมเป็นทุนประกันภัย 1.98 แสนล้านบาท

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี มีจำนวนกรมธรรม์ 229,338 รายจะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 20% หรือไม่เกิน 5 ล้านบาทของทุนประกันภัยทรัพย์สิน รวมเป็นทุนประกันภัยพิบัติที่ต้องให้ความคุ้มครอง 2.24 แสนล้านบาท และบ้านอยู่อาศัยของประชาชนทั่วไปมีการซื้อประกันภัยทรัพย์สินไว้ 780,747 ราย จะให้ความคุ้มครองไม่เกิน 1 แสนบาท รวมเป็นความคุ้มครองภัยพิบัติ 7.8 หมื่นบาท

ทั้ง 3 กลุ่มที่มีการซื้อประกันภัยพิบัติจะต้องรับผิดส่วนแรก 5% ของวงเงินความคุ้มครองภัยพิบัติทั้งหมด

2.การจัดตั้งกองทุนจะทำให้บริษัทประกันภัยต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นและผ่อนคลายมากขึ้น เพราะอย่างน้อยมีรัฐบาลเข้ามารับผิดชอบความเสียหายส่วนแรก 3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เกินตั้งแต่บาทแรกจึงจะอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยต่อ เมื่อความคุ้มครองลดลง เบี้ยประกันภัยต้องถูกลง

แม้ว่าจะยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะถูกลงเท่าไหร่ก็ตาม

ขณะที่การจัดหาประกันภัยต่อต่างประเทศเข้ามารับความเสี่ยงส่วนเกิน 3 หมื่นบาทนั้น จะถูกแบ่งย่อยออกถึง 3 ลำดับ คือ ลำดับที่ 1 จะคุ้มครองความเสียหาย 1.4 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มคุ้มครองความเสียหายตั้งแต่ 30,0011.7 แสนบาท ลำดับที่ 2 ถูกซอยย่อยออกมาอีกจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันภัยต่อที่เข้ามารับประกันภัยจะเริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 170,0013.2 แสนล้านบาท และลำดับ 3 จะเข้ามารับผิดชอบวงเงินความเสียหาย 1.8 แสนล้านบาท เริ่มตั้งแต่ 320,0015 แสนล้านบาท

ผลจากการแยกความเสียหายออกมาเป็นชิ้นๆ ไม่ได้รวมกันเป็นก้อนใหญ่ ทำให้ผู้ที่เข้ามารับประกันภัยต่อมีความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายสินไหมทดแทนทั้งก้อนลดลง เบี้ยประกันภัยจึงต้องถูกลง จากปัจจุบันที่วิ่งขึ้นไปถึง 10% ของทุนประกันภัยจากช่วงปกติ 0.010.1% ซึ่งเป็นราคาที่ประชาชนไม่สามารถที่จะซื้อได้ เพราะแพงเกินไป

3.ทำให้บริษัทประกันภัยไทยมีอำนาจในการต่อรองราคาเบี้ยประกันภัยพิบัติกับต่างประเทศมากขึ้น เพราะความคุ้มครอง 5 แสนล้านบาท ที่ทางกองทุนจะบริหารจัดการนั้น ต่ำกว่าวงเงินความคุ้มครองประกันภัยทั้งระบบ

เฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา มีการทำประกันภัยไว้ในวงเงินถึง 7 แสนล้านบาท จากที่มีการทำประกันภัยทั้งระบบที่มีทุนประกันสูงถึง 15 ล้านล้านบาท ซึ่งน้ำท่วมปีที่ผ่านมาสร้างความเสียหายสูงถึงประมาณ 3 แสนล้านบาท

การที่กองทุนบอกว่าจะรับผิดชอบไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรม และ 5 ล้านบาท สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงไม่เพียงพอ

เชื่อว่าหลังจากนี้ กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติจะทำให้ภาพการประกันภัยในสายตาประชาชนเปลี่ยนไป เพราะมีบทเรียนจากปีที่ผ่านมา จึงต้องการที่จะซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนโตในการซ่อมแซมบ้านเรือน

นอกจากนี้ ยังทำให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ นักธุรกิจที่ยังละล้าละลังว่าจะขยายกำลังการผลิตหรือไม่ และที่กำลังมองโอกาสการลงทุนในไทย ตัดสินใจได้เร็วขึ้น เพราะมีบริษัทประกันภัยมารองรับความเสียหายหากเกิดภัยพิบัติขึ้น

อย่างไรก็ตาม กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทประกันภัยต่างประเทศและนักลงทุนเท่านั้น

แต่ยังรอดูผลการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงินกู้มูลค่ารวมกันไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

เนื่องจากความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สร้างความเสียหายสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ที่เสียหายประมาณ 4.09 แสนล้านบาท และสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 1.26 ล้านล้านบาท จากการประเมินของบริษัท มิวนิก รีอินชัวรันส์ ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยต่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะที่ประเทศไทย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า เสียหายสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ทำให้บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ มองไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง อาจต้องทบทวนการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

แผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลต้องใช้เวลาดูผลงานอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 ปี

หากสามารถป้องกันน้ำท่วมใหญ่ได้ ไม่สร้างความเสียหายเหมือนปีที่ผ่านมาอีก จะทำให้เบี้ยประกันภัยพิบัติลดลงอย่างต่อเนื่อง และดึงดูดบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศเข้ามาแข่งขันด้านราคาเบี้ยประกันภัย

หากราคาที่บริษัทประกันภัยไปหามาได้ถูกกว่ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติขาย จะทำให้บทบาทของกองทุนลดลง

ถึงวันนั้นทางรัฐบาลอาจจะมีการทบทวนบทบาทของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติอีกครั้ง เพราะประเทศไทยไม่เหมือนญี่ปุ่นที่อยู่ในภูมิประเทศที่ต้องเกิดภัยพิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องคงสภาพกองทุนไว้ต่อไป

การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติของรัฐบาล จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากบริษัทประกันภัยต่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง และทำให้ราคาเบี้ยประกันถูกลงในระดับหนึ่ง

แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะถูกลงในจำนวนเท่าไหร่เท่านั้น

ถ้าลงขันกันขนาดนี้ราคาเบี้ยประกันไม่ถูกลง รัฐบาลก็ควรลงจากเวทีได้เลย