posttoday

จ่ายหนัก จัดเต็ม มาตรฐานใหม่..ปลุกเชื้อขัดแย้ง

12 มกราคม 2555

ได้ใจมวลชนคนเสื้อแดงเกินร้อย เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยรักษาคำมั่นตอนหาเสียงว่า

ได้ใจมวลชนคนเสื้อแดงเกินร้อย เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยรักษาคำมั่นตอนหาเสียงว่า

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ได้ใจมวลชนคนเสื้อแดงเกินร้อย เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยรักษาคำมั่นตอนหาเสียงว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะดูแลพี่น้องเสื้อแดงที่เสียชีวิตให้คุ้มค่าที่ต่อสู้จนทำให้พรรคเพื่อไทยแข็งแกร่ง ไม่มีใครโค่นลงจนถึงวันนี้

จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เคยประกาศช่วงหาเสียงว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะให้ศพละ 10 ล้านบาท ซึ่งไม่มากหากเทียบกับงบประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่ใช้สลายการชุมนุม

ถึงแม้จะไม่ถึง 10 ล้านบาท แต่มติ ครม.ก็ใจป้ำให้ถึงศพละ 7.75 ล้านบาท

มติ ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์การเยียวยาครั้งนี้ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามหลักการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 รวมถึงม็อบแดงเดือน เม.ย.พ.ค. 2553

จ่ายหนัก จัดเต็ม มาตรฐานใหม่..ปลุกเชื้อขัดแย้ง

หลักๆ ที่จะได้ เงินชดเชยต่อรายกรณีเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท ค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท เงินชดเชยความสูญเสียด้านจิตใจกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 3 ล้านบาท เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ 4.5 ล้านบาท

ยังมีเงินเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง กรณีศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ได้รับเงินในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว กรณีศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกคุมขังเกินระยะเวลาให้จำคุก ให้ได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก ฯลฯ

นี่เป็น มาตรฐานใหม่ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่รัฐบาลยุคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับ “เหยื่อการเมือง” ถือว่าเป็นค่าชดเชยที่สูงสุดในประวัติศาสตร์

แต่ก็มีคำถามต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเยียวยาที่ สองมาตรฐาน อย่างเห็นได้ชัด เพราะรัฐบาลดูแลแต่ กลุ่มมวลชนของตนเอง ที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นผลจากการปลุกระดมของแกนนำที่ใช้เงื่อนไขความขัดแย้ง ใช้ประเด็นต่อต้านรัฐประหาร สร้างวาทกรรม “ไพร่อำมาตย์” มาล้มรัฐบาล จนเกิดการใช้ความรุนแรง ที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ได้รับความเห็นใจกลับมาเป็นรัฐบาลสำเร็จ

ยอดผู้เสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นมวลชนเสื้อแดง มีทหาร ตำรวจ ไม่เกิน 20 นาย ซึ่งจะได้รับค่าชดเชยเท่าเทียมอย่างถ้วนหน้าเช่นกัน

ผลจากการต่อสู้ของแกนนำ นปช. ที่ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ 2 ครั้ง ปี 25522553 กลายเป็นคดีความของสองขั้วการเมือง และอยู่ระหว่างการสืบหาข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จนถึงวันนี้ เบื้องต้น คอป.สรุปว่า ต้นตอความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลทักษิณ แต่มีต้นเหตุจากศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขัดกับหลักนิติธรรม

ฝั่งแกนนำเสื้อแดงมี คดีก่อการร้าย ติดตัว จากข้อกล่าวหาขบวนการชุดดำ เอ็ม 79 และการเผาบ้านเผาเมืองก่อจลาจลขับไล่รัฐบาล

ฝั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์กำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยตั้งข้อหาคืนกลับ “อภิสิทธิ์–สุเทพ” ว่าเกี่ยวข้องเหตุสังหารหมู่ประชาชน และเตรียมส่งอัยการฟ้องศาล

กว่าผลจะพิสูจน์ได้ก็คงรออีกหลายปี และไม่แน่ว่าเมื่อถึงเวลานั้นอาจมีการนิรโทษกรรมล้างโทษกันก่อน จนไม่มีการตัดสินคดีความกันก็ได้

ต้นเหตุการเสียชีวิตแต่ละรายแตกต่างกัน ทหารยิง หรือคนชุดดำออกมาโจมตี ที่สุดแล้วก็ต้องรอการพิสูจน์จากศาลยุติธรรม

ทว่า ค่าชดเชยแบบ ใจถึงพึ่งได้ ครั้งนี้ ที่ใช้งบประมาณประเทศเยียวยามวลชนคนเสื้อแดงรวมถึงหลักพันล้านบาท กำลังสร้างให้เกิด ปัญหาความไม่เท่าเทียม ในระบบเยียวยาชดเชยของประเทศ ในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น กรณีความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ เสียชีวิตจากการปะทะกับโจรใต้ โดยได้ค่าชดเชยแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ตำรวจ ทหาร ชั้นสัญญาบัตร ได้ 5 แสนบาท ชั้นประทวนจะได้ 3.6 แสนบาท พลทหาร ได้ 2 แสนบาท

และถ้าตีความ “เหยื่อการเมือง” ก็ต้องคลุมไปถึงฟากประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ช่วยเหลือรายละ 1 แสนบาท ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ 3 แสนบาท ยังมีเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบ 85 ศพอีก

หรือจะรวมไปถึง เหยื่อการเมือง ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในอดีต เช่น พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่วันนี้ยังต่อสู้เรื่องค่าชดเชยไม่จบ หรืออดีตนักศึกษาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 ที่กลายเป็นวีรชนที่ถูกลืม

รวมทั้งเหยื่อจาก สงครามฆ่าตัดตอนยาเสพติด ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับผิดว่า ใช้นโยบายที่รุนแรงจริง

หากรัฐบาลเพื่อไทย ไม่ดูแลค่าเยียวยาชดเชยทั้งระบบให้เป็นธรรม เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกรณี เน้นแต่กลุ่มคนเสื้อแดง ก็ไม่อาจสร้างความ ปรองดอง ตามหลักการที่รัฐบาลอ้างไว้ในการจ่ายค่าเยียวยาครั้งนี้ว่า ต้องการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ

เพราะนี่นอกจากกระทบขวัญกำลังใจของตำรวจ ทหาร ที่เสี่ยงตายรักษาความสงบในหน้าที่ ก็จะสร้าง ความแตกแยก จากความไม่เสมอภาค ถึงขนาดที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ยังกังวล เพราะการเยียวยาต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะเสื้อแดง ต้องรวมถึงตำรวจใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้สังคม “เกิดความขัดแย้ง” ขึ้นอีกครั้ง

ผลกระทบทางอ้อมที่แม้แต่คนในรัฐบาลด้วยกันเป็นห่วง จนมีการซักถามใน ครม. คือ ถ้า จ่ายหนักจัดเต็ม เช่นนี้ ก็อาจมีบางกลุ่มกล้าที่จะออกมาชุมนุมมากขึ้น เพราะหากเกิดความรุนแรงจนบาดเจ็บล้มตาย ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือชดเชยมหาศาลแบบสู้แล้วรวย จนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดตอนว่า การฟื้นฟูเยียวยาครั้งนี้เป็นวาระพิเศษ เท่านั้น

คนในรัฐบาลห่วงกันเอง ก็เป็นจุดอ่อนที่สะท้อนชัดว่า ต้องอย่าสองมาตรฐาน วางระบบเยียวยาให้เป็นธรรม มิฉะนั้นการปรองดองก็อาจจะยากขึ้น