posttoday

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลแตกยับ ขับเคลื่อนไปคนละทาง

03 มกราคม 2555

หลังจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศได้แค่ 4 เดือน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

หลังจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศได้แค่ 4 เดือน ก็เจอกับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่จนสะบักสะบอมจนพลิกตำราการบริหารจัดการไม่ทัน จนรัฐบาลถูกปรามาสว่าบริหารงานไม่เป็น เอาไม่อยู่ ทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินของประชาชนและเศรษฐกิจกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

ที่สำคัญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ยังกัดเซาะให้เห็นว่าถึงการทำงานของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า มีปัญหาทั้งเรื่องของการตั้งรับและขาดแผนเชิงรุก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำลดให้เป็นรูปธรรมชัดเจน จนทำให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กลายเป็นศูนย์ประสบภัยไปในสายตาประชาชน

ขณะการทำงานของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่มี กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ที่เป็นหัวเรือใหญ่ กับธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ที่เสมือนเป็นซีเอฟโอของประเทศ เริ่มปรากฏภาพให้เห็นบ่อยครั้งว่า ทำงานไม่สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน จนกลายเป็นเหมือนรางรถไฟที่อยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ การทำงานไร้ซึ่งการหารือกัน

ความขัดแย้งของทีมเศรษฐกิจคู่นี้จึงเกาเหลาชามใหญ่ของรัฐบาลที่ยากแก่การประสานงานและมีโอกาสประสานงากันสูงยิ่ง

เนื่องเพราะ กิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรี และ ธีระชัย รมว.คลัง มีความคิดเห็นวิธีการทำงานที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง หัวหน้าทีมทำงานถึงลูกถึงคนคิดปุ๊บทำงานปั๊บ ขณะที่ซีเอฟโอของประเทศทำงานแบบนักวิชาการผู้ที่คิดมาก คิดนาน คิดรอบ งานออกช้าไม่ทันการณ์

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลแตกยับ ขับเคลื่อนไปคนละทาง

ผลที่ตามมาทำให้ต่างคนต่างทำ ทั้งในวิธีคิด ปฏิบัติ และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปถือเป็นสัญญาณร้ายเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในปีใหม่นี้ที่เศรษฐกิจอ่อนแอจากน้ำท่วมใหญ่ เศรษฐกิจต่างประเทศ ปัญหาการเมืองภายใน และความมั่นใจของนักลงทุนว่ารัฐบาลจะเอาอยู่ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ที่เป็นรอยร้าวของทีมเศรษฐกิจคือ เรื่องการกำหนดกรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อใช้ดูแลเศรษฐกิจในปีนี้ที่ปรับเปลี่ยนเปลี่ยนเป็น 3% บวกลบ 1.5% เพื่อประกาศใช้ในปี 2555 จากเดิมที่ใช้เป็นช่วงระหว่าง 0.5-3.0% โดย ธีระชัย ในฐานะ รมว.คลัง เป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่ถูกกิตติรัตน์คัดค้านอย่างหนักในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงใช้เงินเฟ้อทั่วไปแทนเงินเฟ้อพื้นฐานจะทำภาคธุรกิจประชาชนให้เกิดความสับสน

การล้มคว่ำกรอบเงินเฟ้อกลางวง ครม. ทำให้เกิดคำถามคำโตว่า เกิดอะไรขึ้นกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการทำงานของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและซีเอฟโอของประเทศ ทำให้ไม่ประสานงานจนทำให้เกิดการประสานงาเกิดขึ้น ย่อมบั่นทอนความเชื่อมั่นการบริหารของประเทศที่มีอยู่น้อยให้เตี้ยติดดินลงไปอีก

จะว่าไปแล้ว กรอบเงินเฟ้อใหม่ที่เปลี่ยนมาเป็นการใช้เงินเฟ้อทั่วไป ที่ผ่านมาก็เป็นการเรียกร้องจากผู้ประกอบการนักลงทุนมานานแล้ว เพราะจะได้ไม่เกิดความสับสน เพราะเป็นตัวเลขเดียวกับที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ จึงง่ายต่อการสื่อสารติดตามประเมินผลและ รมว.คลังก็รับลูกเห็นด้วยกับ ธปท.

เรื่องดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อตลอดที่รัฐบาลเข้ามาบริหาร และกิตติรัตน์น่าจะรับรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ในฐานะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หากไม่เห็นด้วยก็ควรหารือกับ รมว.คลัง นอกรอบก่อนเข้า ครม. เพื่อปรับเปลี่ยนให้ลงตัว จะได้ไม่มีปัญหาหรือแรงกระเพื่อมการทำงานของทีมเศรษฐกิจเกิดขึ้น

แต่การที่กิตติรัตน์ปล่อยให้เรื่องกรอบเงินเฟ้อเข้า ครม. และใช้อำนาจหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่เห็นด้วย ก็ไม่ต่างกับอะไรกับการตีแสกหน้า รมว.คลัง แบบไม่มีเยื่อใย

จนปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานของทั้งสองคนเริ่มมีความขัดแย้งรุนแรง

ขนาดนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานในที่ประชุม ครม.ก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นท้าวมาลีวาราชออกหย่าศึกสั่งให้กระทรวงการคลังและ ธปท.กลับไปร่วมกันศึกษาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง และหากเสนอกลับมาที่ ครม.ไม่ทันก็จะใช้กรอบเดิมที่ใช้ในปี 2554 ไปก่อน

ประเด็นที่สอง ที่เป็นการตอกย้ำความขัดแย้งการทำงานของ กิตติรัตน์ กับธีระชัย คือเรื่องการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ ธปท. เพื่อเป็นคนชดใช้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมด

กระทรวงการคลังจะได้ประหยัดเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ปีละ 6-8 หมื่นล้านบาท ไปใช้ฟื้นฟูน้ำท่วมและสร้างการลงทุนของประเทศ

เรื่องดังกล่าวถูกชงเข้า ครม. โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มี วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ภายหลังการประชุม ครม. กิตติรัตน์ ออกมาเปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กิตติรัตน์ บอกชัดถ้อยชัดคำว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการโอนภาระหนี้สินกองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาท ให้ ธปท.ดูแล และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึง ธปท.ได้มีการรวบรวมความเห็นเสนอและข้อสังเกตกลับมาที่ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

กิตติรัตน์ บอกว่า หนี้ที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 สถาบันการเงินขณะนี้ไม่สามารถจัดการได้และแบงก์ชาติไม่มีความพร้อมดูแลหนี้ส่วนนี้ เพราะส่วนนั้นแบงก์ชาติต้องดูแลค่าเงินและเงินสำรองมีน้อย รัฐบาลรับภาระหนี้นี้มาประคับประคองจ่ายดอกเบี้ยเป็นเวลา 10 ปี เราเห็นว่าความพร้อมของแบงก์ชาติตอนนี้มีแล้ว เงินสำรองของประเทศก็สูงและเข้มแข็งดี

เมื่อโอนภาระหนี้ดังกล่าวกลับให้ ธปท.แล้ว คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะลดลง 10% หรือทำให้ภาระหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 41% จะเหลือประมาณ 30% ของจีดีพี แม้ ธปท.อาจไม่ต้องการรับภาระหนี้คืน แต่รัฐบาลมองว่าเป็นภาระของประเทศ ซึ่งในยามที่ประเทศเป็นหนี้ก็ควรมีหน่วยงานอื่นมารับภาระแทน และเชื่อว่า ธปท.จะมีความพร้อมและสามารถหาวิธีบริหารจัดการได้ เพราะยังมีเวลาเตรียมการอีก 1 สัปดาห์

ทว่า ธีระชัยกลับออกมาให้ความเห็นตรงข้ามว่า ครม.ยังไม่ได้เห็นชอบแค่รับทราบในหลักการเท่านั้น

ขุนคลังธีระชัย บอกว่าเรื่องนี้ กิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้ ธปท.รับโอนหนี้ไปบริหารจัดการทั้งหมด แต่ที่ประชุมเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ธปท. กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และกิตติรัตน์ไปหารือให้ชัดเจนถึงแนวทางแก้ไข เพื่อดูผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ตลาดทุน วินัยการเงินการคลัง ผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยให้กลับมาเสนอใหม่ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลา

เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จึงกลายเป็นเกาเหลาชามใหม่และชามใหญ่ต่อเนื่องจากความขัดแย้งกรอบเงินเฟ้อ

ส่งผลให้หลังการประชุม ครม. ทั้ง กิตติรัตน์ และธีระชัย วิ่งเดินสายล็อบบี้ให้ข่าวผ่านสื่อกันยกใหญ่

ธีระชัย ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ที่ไม่เห็นด้วยกับการโอนหนี้ เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน เพราะเสมือนเป็นการพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้ เป็นปัญหาการเงินในระยะยาว

ขณะที่กิตติรัตน์ที่อยู่ฝ่ายเดียวกับวีรพงษ์ก็ยังยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวทำได้ โดยที่ไม่กระทบกับการเงินความเชื่อมั่นของประเทศ

ทำให้การประชุมเรื่องการโอนหนี้ที่มีกิตติรัตน์นั่งหัวโต๊ะ เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดไร้ข้อสรุป เป็นประเด็นความข้ามแย้งข้ามปีที่ยังพร้อมระเบิดทุกเมื่อ

ประเด็นที่สาม ความขัดแย้งทีมเศรษฐกิจของ ธีระชัย กับวีรพงษ์ เรื่องการล้างหนี้กองทุนฟื้นฟู โดยการนำเงินสำรองของประเทศที่มีจำนวนมากมาใช้ ที่วีรพงษ์ได้เสนอแนวทางดังกล่าวมาตลอดตั้งแต่ถูกตั้งเป็นประธาน กยอ.

แต่ปรากฏว่า ธีระชัย ซึ่งเป็นลูกหม้อ ธปท.กลับไม่เห็นด้วย เพราะเห็นด้วยกับการชี้แจงของผู้ว่าการ ธปท. ว่าเงินสำรองต่างประเทศมีเจ้าของที่พร้อมจะมาเอาคืนไปทุกเมื่อ หากนำมาใช้และไม่คืนจะทำให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง

อย่างไรก็ตาม ธีระชัยพยายามเสนอทางออก โดยการแก้ไขกฎหมายของ ธปท. เรื่องการบันทึกบัญชีเพื่อให้มีดอกผลและกำไรมาใช้หนี้มากขึ้น

แต่วิธีการทั้งหมดไม่ตรงกับความต้องการของ วีรพงษ์ที่ต้องการสางหนี้กองทุนฟื้นฟูแบบเบ็ดเสร็จถอนรากถอนโคนให้พ้นจากภาระของรัฐบาล เพื่อจะเป็นการลดหนี้สาธารณะของภาครัฐให้น้อยลง รัฐบาลมีสภาพคล่องมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่เป็นความขัดแย้งของทีมเศรษฐกิจส่งท้ายปีเก่า เห็นจะเป็นการแก้กฎหมาย ธปท.ปล่อยกู้ซอฟต์โลน 3.5 แสนล้านบาท ตามข้อเสนอของ กยอ. ที่ตอนแรก ธีระชัยไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องยอมถอยหลังมาหนึ่งก้าว ตามข้อเสนอของ กยอ. เพื่ออัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่มีการประเมินผลกระทบน้ำท่วมออกมาแย่กว่าที่คิด เห็นได้จากการประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 ของกระทรวงการคลัง ที่เดิมคาดว่าน้ำท่วมจะทำให้เศรษฐกิจที่คาดว่าจะโต 4.5% เหลือ 1.7% แต่พอสุดท้ายประเมินล่าสุดเหลือโตแค่ 1.1% เท่านั้น

ความขัดแย้งของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงส่งท้ายปีเก่า ถือว่าหนักหน่วงขึ้นอย่างมาก จนมีข่าวว่า ธีระชัยจะถูกปรับออกจากรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาไม่มีผลงาน และยังเป็นเรือขวางลำการทำงานของ กิตติรัตน์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และวีรพงษ์ที่ถูกมองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจตัวจริงของรัฐบาล

ความขัดแข้งขัดขาในการทำงานของทีมเศรษฐกิจจะร้าวฉานหนักข้อขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนธีระชัยก็พอรู้ตัว และได้มีการเอ่ยปากลากับข้าราชการกระทรวงการคลังว่า หากถูกปรับออกก็ไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาในช่วงน้ำท่วมทำงาน 1 เดือน เหมือน 1 ปี หากถูกปรับออกตอนนี้ก็ถือว่าทำงานมานานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ธีระชัยก็ยังถือว่ามีคนหนุนไม่ว่าจะเป็นนายหญิงจากบ้านจันทร์ส่องหล้า หรือจะเป็น วิจิตร สุพินิจ และนิพัทธ พุกกะณะสุต ที่เป็นมือเศรษฐกิจทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การปรับ ครม.คงยังไม่เกิดขึ้นภายใน‌เร็วๆ นี้ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง‌ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่ยิ่งวันยิ่งปะทุเพิ่มขึ้นทุกวันจนปิดไม่‌มิด แก้ตัวไม่หลุด จนผู้ประกอบการนักลงทุนผวาเป็นหายนะ‌ทางเศรษฐกิจ ไม่แพ้ภัยจากน้ำท่วม

หากความขัดแย้งของทีมเศรษฐกิจยังหาทางออกไม่ได้ ก็‌ต้องเป็นหน้าที่ของ ยิ่งลักษณ์ หัวหน้ารัฐบาล ที่จะต้องแสดง‌ฝีมือลงมาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในการดำเนินนโยบายการบริหาร‌เศรษฐกิจ ทั้งเรื่องแนวคิด การปฏิบัติ และการขับเคลื่อนให้‌เดินหน้าไปได้เป็นรูปธรรมชัดเจน

หากนายกรัฐมนตรียังลอยตัวทำงานตามบท ปล่อยให้ทีม‌เศรษฐกิจทำงานกันแบบประสานงากันให้เห็นทุกวันอย่างนี้ ‌นอกจากฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อาการหนักจากน้ำท่วมไม่ได้แล้ว ยัง‌ทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหวไปในไม่ช้านี้อีกด้วย

ไม่เชื่อลองปล่อยไปดู