posttoday

จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ แผนป้องกันน้ำท่วม

26 ธันวาคม 2554

ยิ่งใกล้สิ้นปี แรงกดดันของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจก็เริ่มเขม็งเกลียวมากขึ้น

ยิ่งใกล้สิ้นปี แรงกดดันของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจก็เริ่มเขม็งเกลียวมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ยิ่งใกล้สิ้นปี แรงกดดันของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจก็เริ่มเขม็งเกลียวมากขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูประเทศภายหลังจากมหาอุทกภัยผ่านพ้นไป

แรงกดดันที่รัฐบาลจะต้องเผชิญจากนี้ไปนั้นมีหลายเรื่อง ไล่มาตั้งแต่ความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนไม่เชื่อมือว่าจะบริหารจัดการปัญหาน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำในปีหน้า และนายกฯ มีปัญหาในด้านภาวะการเป็นผู้นำ

แต่นายกฯ เหมือนจะรู้จุดอ่อนของตัวเอง เมื่อรู้ว่าไม่ไหวก็เชิญคนที่คิดว่าจะทำได้เข้ามาช่วย คนที่ชูโรงขึ้นมาคือ วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง เพื่อให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ.

จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ แผนป้องกันน้ำท่วม

และยังตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ซึ่งมีการแยกออกเป็นชุดที่แก้ไขปัญหาระยะสั้น มี ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน และกิจจา ผลภาษี เป็นคณะอนุกรรมการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยิ่งลักษณ์ยังพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นด้วยการไปไหนก็นำเอาประธาน กยอ. และประธาน กยน. ไปด้วย เพื่อให้เป็นผู้อธิบายความว่าแผนฟื้นฟูประเทศจะมีอะไรบ้าง และแผนป้องกันน้ำท่วมที่รัฐบาลจะทำนั้นแบ่งเป็นอะไรบ้าง

เรียกว่า กยน. วางแผนด้านน้ำ และ กยอ. เป็นผู้หาเงินและระดมทุน ว่าจะทำในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งจะต้องทำงานคู่กัน

แต่จนถึงปัจจุบัน การวางพิมพ์เขียวเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เป็นรูปธรรมก็ยังไม่ออกมา มีเพียงแต่ลมปากของประธานกรรมการทั้งสองชุด

ในช่วงแรกที่เชิญผู้เชี่ยวชาญน้ำจากต่างชาติเข้ามาช่วยวางแผนจัดการน้ำ ทั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจกา) ผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์และอีกหลายประเทศ

แต่หลังจากนั้นข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆ ก็เงียบหายไป

ทางเอกชนเองมีความกังวลใจกับแผนเหล่านี้มาก เพราะนี่จะเป็นการชี้อนาคตประเทศไทยในอนาคตว่าจะเป็นไปอย่างไร

หากแผนการจัดการน้ำเป็นระบบไม่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง โอกาสที่นักลงทุนจะเมินหน้าหนีจากประเทศไทยก็สูงมาก

รัฐบาลอาจจะหัวเราะเยาะเอกชนว่าคิดมาก เพราะตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังขยายตัว แต่หากมองลึกลงไปในไส้ในของการขอบีโอไอ ก็จะเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ไม่ใช่การลงทุนใหม่

การลงทุนต่อเนื่องคือการลงทุนต่อจากที่ลงทุนไปแล้วให้ครบวงจร เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ต่างชาติคงไม่ถอนการลงทุนไป ที่ลงทุนไปแล้วก็ลงทุนต่อให้ครบแล้วก็หยุด ส่วนที่จะลงทุนใหม่ก็อาจจะย้ายฐานการลงทุนไปในประเทศอื่น

นอกจากนี้ การมีประชาคมอาเซียน (เออีซี) ขึ้นมาก็ทำให้การลงทุนในประเทศใดในกลุ่มอาเซียนสามารถส่งสินค้าเข้ามาขายในอาเซียนโดยไม่เสียภาษี ดังนั้นไทยจึงต้องเผชิญการแข่งขันอย่างหนัก

นายกฯ ยืนยันว่า แผนการดำเนินการด้านต่างๆ ของ กยน. และ กยอ. จะเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2555 นี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี หลังจากตั้งคณะกรรมการสองชุดนี้ขึ้นมาก็เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน สิ่งที่คณะกรรมการ กยอ. ออกไปโรดโชว์ที่อังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งกลับมาอวดอ้างสรรพคุณว่าประสบความสำเร็จ ต่างชาติเข้าอกเข้าใจไทยเป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ บริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างชาติก็ยังยืนยันไม่รับประกันภัยต่อเรื่องน้ำท่วมจากประเทศไทย จึงเหมือนรัฐบาลหลอกตัวเองว่าทำดีและทำได้ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น

เมื่อไปโรดโชว์มาแล้วได้การตอบรับที่ดีเยี่ยมว่าจะไม่รับประกันภัยต่อจากประเทศไทย หากรัฐบาลไม่มีแผนป้องกันน้ำท่วมที่เป็นรูปธรรม ทำให้คณะกรรมการ กยน. ต้องมาตั้งลำใหม่ เพื่อวางแผนว่าทำอย่างไรให้ไปถึงฝั่งได้โดยแท้จริง

ยิ่งลักษณ์ก็ยังกล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากต่างประเทศเข้ามาหารือและเชิญตัวแทนประเทศในอาเซียนและลุ่มแม่น้ำโขงเข้ามาร่วมดำเนินการศึกษาและป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมร่วมกันด้วย แผนการดำเนินการด้านต่างๆ ของ กยน. นี่แทบไม่มีอะไรต่างจากเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

ขณะนี้แผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงกลับไปที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาระยะสั้นชุดของปีติพงศ์ ที่ยังกลุ้มใจว่าจะจัดการยังไง เพราะพบปัญหาที่จะต้องดำเนินก่อน 3 เรื่อง คือ

1.ความไม่พร้อมด้านวิศวกรรม การปรับปรุง ซ่อมแซมกลไกต่างๆ

2.ระบบเตือนภัยมีปัญหา ซึ่งประชาชนไม่รู้ข้อมูลอย่างชัดเจนและถูกต้องอย่างแท้จริง

3.ในช่วงของภัยและการเผชิญภัย ซึ่งในระบบพลเรือนยังอ่อนแอ อาทิ เมื่อเกิดเหตุสามารถระดมพลเพื่อจัดการได้อย่างทันท่วงที

ปีติพงศ์ กล่าวว่า 3 ข้อนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการปรับปรุงเพื่อรองรับการเกิดน้ำท่วมในอนาคต

ทั้งนี้ ในส่วนของวิศวกรรมจะต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลต้นน้ำ การทำเขื่อน การทำแก้มลิง เรื่องประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ ซึ่งบางส่วนจะต้องดำเนินการในปี 2555 เพื่อให้ทันหน้าฝน หากแล้วเสร็จมั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ เพราะระยะเร่งด่วนจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน

เรื่องที่คณะอนุกรรมการระยะสั้นศึกษาเริ่มตั้งแต่รวบรวมข้อมูลเขื่อนหรือต้นน้ำว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ไหลผ่านทางไหน และการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง กลยุทธ์ในการจัดการน้ำ การประมาณการที่ดี สิ่งเหล่านี้จึงต้องทำควบคู่กันไป

นอกจากนี้ จะมีการทำพื้นที่แก้มลิงเพื่อให้รับน้ำ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย และควรมีตัวแทนของรัฐในการลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง รวมถึงจะต้องมีการชดเชยฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายกับประชาชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่จะต้องรับน้ำหรือพื้นที่แก้มลิง เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

การแก้ไขปัญหาน้ำระยะสั้นนั้นควรจะรีบดำเนินการก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มทำเรื่องระยะยาว

การทำแผนนี้รัฐบาลจะต้องทำแยกเป็นโครงการออกมาโดยละเอียด ว่าโครงการนี้จะรับน้ำได้เท่าไหร่ อย่างไร ใช้เงินลงทุนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

แม้พิมพ์เขียวจะยังไม่มี แต่วีรพงษ์ก็ประมาณการค่าใช้จ่ายในเมกะโปรเจกต์นี้ว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบและในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติกรอบงบประมาณและแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการระดมทุน ซึ่งจะเสนอเข้าไปทั้งการระดมทุน วิธีการดำเนินการไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

ยิ่งลักษณ์เองก็บอกว่า ในปีหน้ามีแผนที่จะเดินทางเยือนจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อนำแผนฟื้นฟูประเทศและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไปบอก ให้มั่นใจในแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาของไทย และอาจจะเชิญประเทศที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมมาประชุมที่ประเทศไทยด้วย

แต่ ณ จุดนี้ แผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลยังดูเหมือนเลื่อนลอยในอากาศ ยังไม่สามารถจับต้องได้ หากยังเป็นเช่นนี้ การจะออกไปโรดโชว์ของรัฐบาลก็คงไม่ต่างกับที่ประธาน กยน. ไป

พิมพ์เขียวนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำรัฐบาลจะถือออกไปโชว์ให้ต่างชาติดู หากทำไม่เสร็จรัฐบาลก็ไม่ควรจะโผล่หน้าออกไปพบนักลงทุน ในเชิงการทูตรัฐบาลอาจได้รับคำหวาน แต่ในความจริงอาจจะมียาพิษติดมาจากคำหวานนั้น คือ พูดให้ดูดี แต่ไม่ลงทุน

ยิ่งทอดเวลาการทำพิมพ์เขียวให้เสร็จช้ามากเท่าไหร่ ประเทศไทยก็จะยิ่งเสียโอกาสมากขึ้นเท่านั้น

จุดเป็นจุดตายของประเทศไทยขณะนี้ อยู่ที่แผนป้องกันน้ำท่วมที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น