posttoday

รัฐบาลตัวการดันดอกเบี้ยขึ้น

23 ธันวาคม 2554

กลไกอัตราดอกเบี้ยที่บิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ เพราะขนาดเศรษฐกิจสำลักน้ำ

โดย...ทีมข่าวการเงิน

กลไกอัตราดอกเบี้ยที่บิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ เพราะขนาดเศรษฐกิจสำลักน้ำ แต่ดอกเบี้ยทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ยังสูงลิ่ว จน กิตติรัตน์ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ออกมาเต้น ตำหนิธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำเกินไป

เพราะล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลงแค่ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.25% ถือว่ายังลดน้อยไป เพราะในการฟื้นฟูประเทศรัฐบาลต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยของระบบมีแนวโน้มลดลงอีก

แต่ความต้องการของรัฐบาลมักจะสวนทางกับความต้องการของ ธปท. ที่เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน

หาก ธปท.ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะซบเซาจริง ก็ไม่กล้าที่จะส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยลงทีเดียว 0.5%

เมื่อมองคนละด้าน ก็ต้องนำข้อเท็จจริงมาพูดกัน

ความจริงในตลาดเงินนั้น ดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงเลย แถมยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นเสียอีก

รัฐบาลตัวการดันดอกเบี้ยขึ้น

แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ลดดอกเบี้ยลง แม้จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว เพราะธนาคารของรัฐเป็นต้นเหตุ

การว่าธนาคารของรัฐเป็นต้นเหตุก็เพราะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเป็นธนาคารหลักที่สนองนโยบายรัฐบาลแบบถึงพริกถึงขิง

ทางออกเดียวที่ทุกรัฐบาลใช้กันอย่างมือเติบ คือ การใช้นโยบายกึ่งการคลังด้วยการบีบให้ธนาคารของรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล รวมๆ แล้วปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท

เทคนิคที่ทุกรัฐบาลใช้ก็คือ การพยายามใช้เงินนอกงบประมาณ เพราะจะไม่ทำให้ยอดหนี้สาธารณะของประเทศปูดออกมาประจานผลงานของรัฐบาลว่าดีแต่กู้

ถือเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณในการดำเนินนโยบายประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าว โครงการแก้ไขหนี้ต่างๆ

เมื่อมีการปล่อยเงินออก ก็ต้องดูดเงินเข้า

จะเห็นว่าล่าสุดยอดเงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจทั้งระบบ ณ สิ้นเดือน ต.ค. อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินฝากของธนาคารออมสินกว่า 1.14 ล้านล้านบาท

รองลงมา คือ ธ.ก.ส. ที่มียอดเงินฝากมากกว่า 7-8 แสนล้านบาทส่วน ธอส. มียอดเงินฝากรวม 56 แสนล้านบาท โดยธนาคารรัฐบางแห่งมีการออกโครงการเงินฝากให้ผลตอบแทนมากถึง 5%

นอกจากนี้ การระดมเงินฝากในรูปแบบของการออกสลากทั้งของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แต่ละปีระดมเงินได้รวมๆ แล้วไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท

การระดมเงินฝากอย่างหนักของธนาคารรัฐ เป็นเพราะธนาคารรัฐก็ถูกใช้ให้ปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลอย่างหนักเช่นกัน เช่น กรณีของธนาคารออมสิน นอกจากจะปล่อยกู้ในโครงการธนาคารประชาชน การแก้หนี้นอกระบบ การแก้หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อประชาวิวัฒน์ให้กู้กับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์แล้ว ธนาคารออมสินยังต้องควักเงินหรือสภาพคล่องตัวเองสำรองจ่ายเป็นเงินชดเชยให้กับผู้ประสบภัยนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเป็นเงินไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังถูกให้ปล่อยกู้นิคมฯ เพื่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมอีก 1.5 หมื่นล้านบาท และยังต้องควักอีก 2 หมื่นล้านบาท ทำซอฟต์โลนประเคนให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ลูกค้าตัวเองอีก

หากในอนาคตรัฐบาลจะลุยเรื่องกองทุนหมู่บ้านอีก ธนาคารออมสินก็น่าจะควักเงินอีกอย่างน้อย 6 หมื่นล้านบาทแจกกองทุนหมู่บ้านอีก

ด้าน ธ.ก.ส. ก็ไม่น้อยหน้า เพราะถูกสั่งให้พักหนี้เกษตรกรในหลายโครงการ ปล่อยกู้ประชาวิวัฒน์ แก้หนี้นอกระบบ แต่ที่กระอักที่สุดคือการควักสภาพคล่องกว่า 9 หมื่นล้านบาท

ทำโครงการรับจำนำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเตรียมออกหน้ากู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 1.7 แสนล้านบาทในปี 2555 เพื่อเอามารับจำนำข้าวให้ครบทุกเม็ดตามที่รัฐบาลต้องการ

ขณะที่ ธอส. ถูกสั่งให้ทำโครงการบ้านหลังแรก 0% สำหรับกู้ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท และโครงการบ้านหลังแรก 0% สำหรับกู้ซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท รอบที่ 2 อีก 2 หมื่นล้านบาท และโครงการพักหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย

ผลของการทำนโยบายการคลังที่แบบซุกหนี้ไว้ใต้พรม ก็ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ธนาคารรัฐต้องเร่งปล่อยสินเชื่อสนองการเมือง ทำให้ต้องเร่งดูดสภาพคล่องเข้าระบบให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมา โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพยังออกมายอมรับว่าการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากความต้องการทางการคลังยังมีอยู่สูง โอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยย่อมมีน้อยตามไปด้วย แม้นโยบายการเงินจะปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้วก็ตาม

และเป็นเพราะนโยบายการคลังที่ให้ธนาคารของรัฐระดมเงิน เช่น การเร่งหาเงินฝาก เช่น กรณีของธนาคารออมสินต้องเสนออัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูง ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลดลงไม่ได้ เพราะต้นทุนไม่ได้ลดลง ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังควรทำงานควบคู่กันไป

สรุปคือทิศทางดอกเบี้ยจะลดได้ตามนโยบายรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือลดบทบาทการใช้นโยบายกึ่งการคลังลง เพื่อผ่อนคลายแรงบีบที่มีต่อธนาคารรัฐ ไม่ต้องเร่งหาสภาพคล่องเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล

หรือไม่รัฐบาลก็ต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดสภาพคล่องในตลาดการเงินเอง ผลที่ตามมาคือหนี้สาธารณะจะพุ่งเกินกรอบที่ตั้งไว้ 60%

ทางออกอื่นก็คือ รัฐบาลก็ต้องเร่งหารายได้จากทางอื่นเข้ามาเสริมเม็ดเงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทน อย่ามัวแต่คิดจะลดแต่ภาษีท่ามกลางสถานการณ์ที่บ้านเมืองไม่ปกติ

แต่ถ้ายังเลือกที่จะใช้ธนาคารรัฐเป็นแขนขาต่อไป ก็บอกได้คำเดียวว่าอย่าบ่นถึงผลร้ายๆ ที่จะตามมาในอนาคต เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้

การไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามถือเป็นความเสี่ยง หากสินเชื่อขยายตัวก็จะไม่มีสภาพคล่องพอที่จะปล่อยกู้

เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากไม่ลด ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ลดไม่ได้

และหากดอกเบี้ยเงินฝากยังต้องขยับขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์จะต้องไปแข่งกับธนาคารของรัฐในที่สุดก็จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้

สวนทางกับความต้องการของรัฐบาลอย่างแน่นอน

กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องดอกเบี้ยสูงไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการ ปัญหาของผู้ประกอบการ คือ การไม่มีเงินสดหมุนเวียน

หากดอกเบี้ยสูง แต่ยังมีแหล่งเงินให้กู้ก็ยังดีกว่า

นอกจากนี้ การที่ธนาคารพาณิชย์จะลดดอกเบี้ยลงหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียว แต่ขึ้นกับสภาพตลาด ความต้องการ และปริมาณเงินที่มีอยู่ด้วย

ดังนั้น หากรัฐบาลยังเลือกจะใช้ธนาคารของรัฐเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้เงินนอกงบประมาณ

รัฐบาลก็จะต้องทำใจที่จะต้องรับสภาพ ดอกเบี้ยสูง การฝืนกลไกตลาดทำได้เพียงชั่วคราว แต่จะฝืนกลไกตลาดตลอดไปนั้น ไม่มีทางจะทำได้

ฉะนั้น ทิศทางดอกเบี้ยนับจากนี้ไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ธปท.เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองด้วย