posttoday

เร่งงบ-เร่งเงิน ยิ่งมั่ว มือดีรองาบ

21 ธันวาคม 2554

ออกอาการ “ฉุน” กลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ออกอาการ “ฉุน” กลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ออกอาการ “ฉุน” กลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่หยิบยกประเด็นการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 5,000 บาทต่อครัวเรือน ที่ถึงตอนนี้ยังไม่ถึงมือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม

ทั้งๆ ที่ ครม.มีมติอนุมัติวงเงินเยียวยาผู้ประสบภัย 2.63 ล้านครัวเรือน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ในการประชุม ครม.นัดพิเศษ วันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา

การประชุม ครม.ครั้งนั้น ยิ่งลักษณ์ ย้ำนักย้ำหนาว่าเงินจะถึงมือชาวบ้านภายใน 3 วัน แต่ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ส่งเสียงบ่นว่ายังไม่ได้รับเงินก้อนนี้

เรียกได้ว่า “เสียเครดิต” ในฐานะผู้นำประเทศ

ทว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์โยนบาปนี้ไปที่ “สำนักงบประมาณ” เสมือนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การจัดสรรงบล่าช้า พร้อมสั่งการสำนักงบประมาณลดขั้นตอนต่างๆ ให้การเบิกจ่ายรวดเร็วขึ้น และเงินถึงมือผู้ประสบภัยโดยเร็ว

สวนทางกับข้อมูลกรมบัญชีกลางที่ระบุว่าเงินเยียวยาน้ำท่วม 5,000 บาท ได้มีการเบิกจ่ายไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว และเงินไปกองอยู่ที่ธนาคารออมสินแล้ว

เร่งงบ-เร่งเงิน ยิ่งมั่ว มือดีรองาบ

“ตอนนี้เงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ ครม.อนุมัติวงเงินไว้ มีการเบิกจ่ายไปจากกรมบัญชีกลางไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ที่ไม่ได้ขอเบิกก็เหลืออีกไม่มาก” รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ

เมื่อลงพื้นที่สำรวจการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านน้ำท่วมจะถึงมือชาวบ้านเร็วหรือช้า แบ่งได้อย่างน้อย 3 กรณี และขึ้นอยู่กับ “เส้นสาย” และ “ความสัมพันธ์” ของผู้ประสบภัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เขต และอำเภอ

หนึ่ง กรณีบ้านเรือนของชาวบ้านในหมู่บ้าน ชุมชนที่มีผู้นำ หรือหมู่บ้านจัดสรรที่มีประธานและกรรมการหมู่บ้าน ตรงนี้จะได้รับเงินเร็วที่สุด เพราะสามารถต่อสายตรงกับ อบต. เทศบาล อำเภอ แล้วแต่กรณี ให้มา “ตั้งโต๊ะ” รับลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาหน้าหมู่บ้าน เพียงแสดงบัตรประชาชนทะเบียนบ้าน เซ็นชื่อแล้วก็รับเงินสดไปทันที 5,000 บาท

กรณีนี้เครดิตจะตกกับผู้นำชุมชน และประธานหมู่บ้านหรือกรรมการหมู่บ้านได้รับการ “การันตี” ว่าจะได้รับการเลือกตั้งอีกสมัย เช่นเดียวกับนายกเทศมนตรี นายก อบต. ที่ได้เสียงจากชาวบ้านไปเต็มๆ

สอง ยื่นหลักฐานต่อเทศบาล หรือ ณ จุดที่เทศบาลและเขตจัดไว้ ผู้รับเงินช่วยเหลือต้องแสดงหลักฐาน แต่ต้องยื่นหลักฐาน 3 อย่าง สำเนาบัตรประชาชนสำเนาทะเบียนบ้านภาพถ่ายบ้านเรือนยืนยันว่าบ้านถูกน้ำท่วมจริงและต้องเห็นเลขที่บ้าน เมื่อยื่นแล้วเจ้าหน้าที่จะให้ “บัตรคิว” และกำหนดวันที่ให้มารับเงินเยียวยา บ้างก็ 12 สัปดาห์ บ้างก็ 25 วัน

บางกรณีให้มารับเงินสดได้ที่เขต และบางกรณีจ่ายตรงให้ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน

เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ต้องการตรวจสอบว่าบ้านน้ำท่วมจริง และเป็นบ้านที่มีเลขที่จริง ไม่ใช่ถ่ายภาพ “เพิงหมาแหงน” แล้วมาอุปโลกน์ขอรับเงินเยียวยา

กรณีนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ เพราะหากเกิดความผิดพลาด เงินรั่วไหล เจ้าหน้าที่รายนั้นจะถูกลงโทษอาญาและไล่ออกจากตำแหน่ง แต่ก็ไม่น่าจะต้องใช้เวลานานนับหลายสัปดาห์ เทียบกับการจ่ายเงินช่วยเหลือข้าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และลูกจ้าง กทม. กว่า 9 หมื่นคน ที่ได้รับเงินเยียวยา 1 หมื่นบาท ภายในเดือน ธ.ค.นี้

มาตรฐานระหว่างเจ้าหน้าที่สังกัด กทม. “แตกต่าง” กันสิ้นเชิงกับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ 30 เขตของ กทม.

สาม กรณีถือว่าเลวร้ายที่สุด มีการยื่นหลักฐานให้กับเทศบาลหรือเขตครบถ้วน แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าได้รับเงินไปแล้ว ทั้งๆ ที่ชาวบ้านรายนั้นไม่ได้รับ และทางเขตบอกว่าจะติดต่อกลับ ตกเย็นเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปหาผู้ประสบภัยรายนั้นและไปรับเงินที่เขตได้ทันที

เรียกว่า ทำงานได้รวดเร็วผิดสไตล์การทำงานของระบบราชการ

เป็นกรณีที่ตั้งข้อสงสัยได้ว่าอาจมีการ “งุบงิบ” เงินเยียวยาหรือไม่ หากไม่มีใครติดต่อขอรับเงิน หรือผู้ประสบภัยบางคนที่มีฐานะ ไม่อยากเสียเวลายุ่งยากไปกับการยื่นหลักฐาน และเงิน 5,000 บาท ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เปิดช่องเกิดการรั่วไหลทันที และไม่รู้เงินจะไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง

เพราะหากคำนวณจากจำนวนผู้มีสิทธิได้เงินเยียวยา 2.6 ล้านครัวเรือน ถ้าไม่มีคนติดต่อขอรับเงิน 5% ก็ตกราว 1.3 แสนครัวเรือน หากคูณ 5,000 บาท ก็ตกเป็นเงิน 650 ล้านบาท

ถ้าไม่มีคนมาติดต่อ 10% ก็เป็นเงิน 1,300 ล้านบาท ส่วนหลักฐานก็หาไม่ยาก ภาพถ่ายบ้านน้ำท่วมก็เหมือนๆ กัน ลายเซ็นก็ปลอมกันได้

ดังนั้น ถ้าเงินจะ “รั่ว” การันตีได้เลยว่าคงไม่ใช่ฝีมือชาวบ้านแน่ๆ

สรุปตรงนี้เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้ประสบภัยต้องยื่นหลักฐานเพื่อขอรับเงิน มีการตรวจสอบความถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ และต้องทอดเวลาการรับเงินออกไป จนหลายคน “ถอดใจ” นี่อาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทล่าช้า จนเสียงบ่นของชาวบ้านดังถึง “หู” นายกฯ ยิ่งลักษณ์

ทั้งๆ ที่เทศบาลหรือเขตและอำเภอ ต่างก็มีเลขทะเบียนบ้านในพื้นที่ประสบภัยทั้งหมดอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่รู้ว่าใครบ้างมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถอนุมัติตัวเลขเงินเยียวยาที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ได้แน่นอน

ดังนั้น ไม่ว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเร่งงบเร่งเงินอย่างไร เงินก็ไม่ลงถึงมือชาวบ้าน หรือลงไปจริงแต่ได้ช้า

นี่ยังไม่นับรวมถึงมาตรการช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายน้ำท่วมที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 23 หมื่นหลังต่อครัวเรือน จนบัดนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของเขต เทศบาล และอำเภอ ลงไปตรวจสอบและประเมินความเสียหายบ้านเรือนของชาวบ้านเพื่อขอรับเงินเยียวยาเลย และหากซ่อมแซมบ้านเรือนไปก่อนแล้ว ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะให้เจ้าหน้าที่ประเมินอะไรอีก

ทั้งๆ ที่การจ่ายงบตรงนี้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เซ็นอนุมัติเงินช่วยเหลือได้ทันที ไม่ต้องรอส่วนกลาง

ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถนำเงินทดรองจ่ายราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ที่บางจังหวัดขอขยายวงเงินทดรองจ่ายจาก 50 ล้านบาท เป็น 300-400 ล้านบาทแล้ว

“อย่างวันนี้ผู้ว่าฯ ปทุมธานี บอกว่ามีคนมาลงทะเบียนขอเยียวยาซ่อมบ้านเรือน 2 แสนราย บอกว่าต้องใช้วงเงินเป็นพันล้าน ส่วนลพบุรีบอกว่าต้องใช้เงิน 700 ล้านบาท” วรวิทย์ จําปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณให้สัมภาษณ์

แต่วันนี้แทบไม่มีใครได้รับเงินซ่อมแซมบ้าน แม้ว่าใน “โบรชัวร์” ของรัฐบาลระบุชัดว่าผู้ประสบภัยน้ำท่วมมีสิทธิได้รับเงินตรงนี้ แต่ทำไมเงินยังไม่ออก

ทำให้หลายคนบอกว่าไม่รอแล้ว คงต้องตรวจสอบกันว่าผู้ว่าฯ อนุมัติเงินทดรองจ่ายราชการไปเท่าใดแน่ โดยเฉพาะ “ฤดูกาลโยกย้าย” ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในขณะนี้ เพราะทุกตำแหน่งเป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น

นอกจากนี้ ครม.เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ได้อนุมัติวงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะงบโครงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานมีวงเงิน 3,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน 296 แห่ง วงเงิน 1,382.61 ล้านบาท

2.โครงการฟื้นฟูเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายสำคัญ วงเงิน 1,813.87 ล้านบาท และ 3.โครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบทอันเนื่องมาจากอุทกภัย 11 สายทาง วงเงิน 139.81 ล้านบาท ที่แทบไม่มีการดำเนินการใดๆ

“ไปตรวจราชการในต่างจังหวัด ถนนหนทางพังอย่างไร ก็พังอย่างนั้น” เสียงอัดอั้นของ ยิ่งลักษณ์ ที่พูดผ่านสื่อ

นั่นหมายความว่าโครงการเร่งด่วน และผ่านการกลั่นกรองก่อนเสนอให้ ครม.อนุมัตินั้น ไม่มีความพร้อมใช่หรือไม่ เงินจึงไม่ออก

ยิ่งลักษณ์ จึงสั่งการซ้ำใน ครม.ว่า โครงการใดที่สามารถจัดซื้อจัดจ้างและหา “ผู้รับเหมา” ก็ให้ทำทันที เพราะเมื่องบออกมาแล้วจะเริ่มโครงการซ่อมแซมและฟื้นฟู การเร่งรัดหาผู้รับเหมาโดยด่วนถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติงบประมาณไปแล้ว

เรียกว่างานนี้ผู้รับเหมาต้อง “วิ่งกันฝุ่นตลบ” บ้างก็ “ล็อกตัว” กันไว้แล้ว

น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้งบฟื้นฟูน้ำท่วม 2 หมื่นล้านบาท จะมีการรั่วไหลหรือไม่ ท่ามกลางการจัด “โผผู้ว่าฯ”

ท่ามกลางกระแสข่าวเปลี่ยน ครม.ที่เงินเป็น “ตัวจักร” ที่สำคัญไม่น้อยกว่าความ “ภักดี”