posttoday

ปปช.ลับมีดรัฐบาลปูผวา

20 ธันวาคม 2554

สถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ทุกประการ ว่าภายหลังจากน้ำลดเมื่อไหร่ ความขัดแย้งจะกลับมาปะทุอีกครั้ง

สถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ทุกประการ ว่าภายหลังจากน้ำลดเมื่อไหร่ ความขัดแย้งจะกลับมาปะทุอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมือง

สถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ทุกประการ ว่าภายหลังจากน้ำลดเมื่อไหร่ ความขัดแย้งจะกลับมาปะทุอีกครั้ง โดยไม่ให้ประเทศไทยได้พักหายใจกันเลยทีเดียว ประชาชนคงต้องตั้งหน้าตั้งตาดูสงครามระหว่าง “เพื่อไทยประชาธิปัตย์” ไปกันอีกนานพอสมควรแบบไม่มีสัญญาณว่าจะลดราวาศอกกันแต่ประการใด

บนความขัดแย้งของสองขั้วการเมือง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ต้องตกกระไดพลอยโจนแบบไม่ได้ตั้งใจไปโดยปริยาย หลังจากทั้งสองฝ่ายพยายามใช้ช่องตามรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการของ ป.ป.ช.กันอย่างหนัก

ไล่มาตั้งแต่ประเด็นใหญ่สุดอย่าง การบริหารจัดการน้ำผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่ง ป.ป.ช.แยกออกมาเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1.การจัดซื้อถุงยังชีพของรัฐบาล แน่นอนประเด็นนี้พุ่งเป้าไปที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เป็นหลัก ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจากรัฐบาลโดยตรง ในการดำเนินนโยบายที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ปลอดการทุจริต

แม้ว่าคดีนี้ในส่วนของ ป.ป.ช. จะยังไม่มี ความคืบหน้ามากนัก แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เตรียมใช้กลไกของคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เร่งตรวจสอบคดีนี้ และส่งให้ ป.ป.ช.เป็นข้อมูลเชือดผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ถึงเวลานั้นคงจะได้ภาพรวมว่าคดีดังกล่าวที่สุดแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร

ปปช.ลับมีดรัฐบาลปูผวา

2.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประเด็นนี้เป็นการดูแนวนโยบายของรัฐบาลต่อการบริหารน้ำในช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างปลายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต่อเนื่องมาถึงพรรคเพื่อไทย เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐบาลไหนกันแน่ที่เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554

กรณีนี้ถือว่าจะมีส่วนเชื่อมโยงถึงรัฐบาลของทั้งสองพรรคอย่างแน่นอน โดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องมีคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดออกมาอย่างหนึ่งอย่างใด

นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาน้ำท่วม ป.ป.ช. ไม่ได้รับมาเพียงเฉพาะการพิสูจน์ข้อกล่าวหาเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น แต่ยังรับเผือกร้อนเกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองด้วย

ทั้งนี้ เป็นกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบชี้มูลความผิด และส่งให้วุฒิสภามีมติถอดถอน สส.พรรคเพื่อไทย 8 คน นำโดย พล.ต.อ.ประชาพรหมนอก สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) การุณ โหสกุล สส.กทม. เป็นต้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270, 271 และ 272 ในฐานความมาตรา 265 และ 266

ล่าสุดสำหรับกรณีของการคืนหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของกระทรวงการต่างประเทศ ถึง ป.ป.ช.จะยังไม่มีใครยื่นเข้ามาให้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ ป.ป.ช.จะต้องนำเรื่องมาพิจารณาตรวจสอบแน่นอน เนื่องจากเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

“ถึงจะยังไม่มีการยื่นเรื่องเข้ามา หาก ป.ป.ช.สนใจก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเองได้ ซึ่งต้องหารือกับที่ประชุม ป.ป.ช.อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดแก่ข้าราชการรายหนึ่งมาแล้ว ทั้งที่บุคคลนั้นใช้อำนาจโดยมีกฎหมายรองรับ แต่ปรากฏว่าการกระทำของข้าราชการรายนั้นเป็นไปในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องอย่างไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ประชาชนและสาธารณะเสียประโยชน์เป็นจำนวนมาก” ท่าทีจาก เมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช.

ความน่าสนใจของคดีนี้ หากสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ การวางบรรทัดฐานการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นเพราะที่ผ่านมามักกล่าวหากันมาตลอดว่าพรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบายรัฐเพื่อบุคคลเพียงคนเดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งข้อกล่าวหาเป็นลักษณะนามธรรม ไม่เคยมีการพิสูจน์หรือตัวชี้วัดว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก ดังนั้น คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต

ไม่เพียงเท่านี้ อาจจะส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลด้วย เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 55 ระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะมีคําพิพากษา แล้วแต่กรณี”

หมายความว่า ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดขึ้นมา เลวน้อยสุดก็คงมีผลแค่เฉพาะตัว สุรพงษ์โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของกระทรวง ต้องยุติหน้าที่ชั่วคราวและนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับกันหากเป็นกรณีเลวร้ายสุด คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกชี้มูลความผิดไปด้วย งานเข้าแน่นอน!! เพราะต้องยุติการทำหน้าที่ชั่วคราวเช่นกัน เมื่อไม่มีนายกฯ บริหารประเทศ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมมติฐานในกรณีเลวร้ายที่สุดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก แต่หากมองในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 171 กำหนดว่า “พระมหา กษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกฯ การแต่งตั้งรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน” จากบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์ที่ผ่านมา ย่อมส่งผลให้รัฐบาลหนาวๆ ร้อนๆ ได้เหมือนกัน

ปรากฏการณ์ของคดีไหลบ่าเข้าสู่มือ ป.ป.ช.ด้านหนึ่ง ย่อมส่งผลให้ ป.ป.ช.ถูกจับตามองจากสังคมเข้มข้นถึงขั้น ป.ป.ช.คงกระดิกตัวลำบาก เพราะไม่ว่าจะมีมติหรือความเห็นต่ออรรถคดีออกมาด้านใดด้านหนึ่ง ป.ป.ช.ก็ต้องโดนทั้งขาขึ้นและขาล่องเป็นแน่ เหมือนกับครั้งหนึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยเจอกับภาวะกดดันอย่างรุนแรงมาแล้วจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2553

บนความเหนื่อยของ ป.ป.ช. ถือเป็นข้อดี สังคมที่มีหน่วยงานกลางเข้ามาพิสูจน์และให้ความกระจ่างต่อสาธารณชนในข้อกังขาต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากเสียที หลังจากที่ผ่านมามีแต่ต่างฝ่ายต่างมีส่วนได้เสียมาชี้ถูกชี้ผิดกันเอง สร้างความสับสนให้สังคมแบบอีนุงตุงนัง

ถึงกระนั้นในความโชคดีของสังคมที่มี ป.ป.ช.เข้ามาคลี่คลายปัญหาให้สังคม แต่อาจจะเป็นทุกข์ของพรรคเพื่อไทย เพราะกำลังหวาดหวั่นว่าอาจสูญเสียอำนาจเหมือนคดีซุกหุ้นในช่วงที่ผ่านมา

มิเช่นนั้น คงไม่เร่งเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทันทีที่เปิดรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ (21 ธ.ค. 2554-18 เม.ย. 2555) ซึ่งแน่นอน เป้าคือการล้างบางบุคคลในองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ชุดนี้