posttoday

ไล่บี้คดี อภิสิทธิ์-สุเทพ เกมบีบเร่งนิรโทษกรรม

13 ธันวาคม 2554

การไล่เช็กบิล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จากคดีสลายการชุมนุม เมื่อเดือน เม.ย. 2553

การไล่เช็กบิล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จากคดีสลายการชุมนุม เมื่อเดือน เม.ย. 2553

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การไล่เช็กบิล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จากคดีสลายการชุมนุม เมื่อเดือน เม.ย. 2553 ที่นำมาสู่การเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ 91 คน กำลังถูกมองว่าเป็นหนึ่งในความพยายามหาตัวประกัน สร้างแนวร่วมเดินหน้ากระบวนการนิรโทษกรรม ที่เพื่อไทยต้องการจะผลักดัน

แน่นอนว่าลำพังแค่เสียงข้างมากในสภาของ “เพื่อไทย” และแรงหนุนนอกสภาจาก “เสื้อแดง” อาจไม่มีพลังเพียงพอจะผลักดันเรื่อง “นิรโทษกรรม” ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากหลายกลุ่มในสังคม หากไม่ได้แรงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน

ที่ผ่านมาจุดยืน “ประชาธิปัตย์” ค้านหัวชนฝาไม่เอา “นิรโทษกรรม” อันจะเป็นการเปิดประตูให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศ พ่วงด้วยการยกเลิกคดีในกลุ่มคนเสื้อแดงที่ก่อความรุนแรงในช่วงการชุมนุมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ไล่บี้คดี อภิสิทธิ์-สุเทพ เกมบีบเร่งนิรโทษกรรม

คดีนี้เริ่มเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ออกมาเปิดเผยถึงตำรวจญี่ปุ่นแจ้งมายังตำรวจไทย ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ส ได้จ้างนักสืบอิสระสอบคดีช่างภาพชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวมีหลักฐานและข้อมูลกว่า 60 หน้า ส่วนหนึ่งระบุว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนกำหนดการเข้าชี้แจงของทั้ง อภิสิทธิ์ และสุเทพ ไม่กี่วัน

ทำให้ “อภิสิทธิ์” ออกมาตอบโต้ว่ามีความพยายามจะดึงประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง ขอให้รัฐบาลปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานสอบสวน ไม่ต้องการให้มีการเมืองเข้าไปชี้นำ

การเดินหน้าเร่งคดีหาตัวผู้กระทำผิดจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 91 คน ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลยการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง งานนี้จึงได้ทั้งใจคนเสื้อแดงและยังได้ไล่บี้หาความรับผิดชอบจากประชาธิปัตย์

อีกด้านหนึ่งความพยายามดึง “อภิสิทธิ์สุเทพ” เข้ามาดำเนินคดี ย่อมเพิ่มความชอบธรรมให้กับกระบวนการนิรโทษกรรม ซึ่งหมายความว่าคนที่ได้รับประโยชน์จะไม่ใช่คนจากเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงคนทุกสี รวมทั้งประชาธิปัตย์ ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ

กระบวนการนี้ ที่ประชุม ครม.เงาของประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่ามีความพยายามกดดันกระบวนการยุติธรรม และมีความพยายามให้ “อภิสิทธิ์ และสุเทพ” ตกเป็นผู้ต้องหา แล้วจะมีการนำไปสู่กระบวนการพิจารณาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับทุกคน

ทำให้ทั้ง อภิสิทธิ์ และสุเทพ ประกาศชัด พร้อมเดินหน้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยินดียอมรับผลที่ออกมา แต่ไม่ยอมรับกระบวนการที่จะเข้าไปกดดันศาลหรือกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่ให้ทุกฝ่ายต้องเป็นผู้ต้องหา แล้วใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาครอบไว้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนคนหนึ่ง

“ผมจะไม่ยอมที่จะถูกนำไปอ้างเรื่องนิรโทษกรรม ผมจะพูดความจริง และไม่กลัวที่จะพูดความจริง ไม่ว่าบรรยากาศจะเป็นอย่างไร แม้ว่าจะมีเสียงน้อยก็จะพูดความจริง” สุเทพ ระบุ

ท่ามกลางความพยายามจุดกระแสตีประเด็นเรื่องรัฐบาลชุดที่แล้วทำร้ายและสั่งฆ่าประชาชนให้กลับมาอีกรอบ ในช่วงที่คดีนี้กำลังเข้าสู่การพิจารณาสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ประชาธิปัตย์พยายามออกมาตอบโต้ว่าเป็นฝีมือจาก “คนชุดดำ”

ขณะที่มือกฎหมายคนสำคัญจากประชาธิปัตย์อย่าง บัณฑิต ศิริพันธุ์ ต้องออกมาชี้แจงถึงประเด็นการให้ปากคำของ สุเทพ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ว่าสั่งการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และทุกคำสั่งไม่มีการสั่งให้ยิงหรือใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อาวุธ หากจำเป็นต้องยิงต้องมีสถานการณ์พิเศษ ก็มีคำสั่งเรื่องการใช้อาวุธเป็นการเฉพาะ โดยให้ยิงระดับต่ำในจุดที่ไม่สำคัญ พร้อมตัดตอน “อภิสิทธิ์” ว่าเป็นเพียงแต่เป็นคนใช้อำนาจประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้ง ศอฉ.

ที่สำคัญการให้ปากคำครั้งนี้ของ อภิสิทธิ์ และสุเทพ เป็นการให้ปากคำในฐานะพยานในสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพเท่านั้น และตำรวจไม่มีสิทธิตั้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนได้ หากจะดำเนินการต้องเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนการใช้อำนาจดังกล่าว พร้อมขู่ว่าหากตำรวจตั้งข้อกล่าวหา ก็จะฟ้องกลับ

ความพยายามดึงตัวประกันจากประชาธิปัตย์ให้มาเป็นแนวร่วมกระบวนการนิรโทษกรรม เกิดขึ้นสอดรับกับเหตุการณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามอบตัวของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำเสื้อแดงที่หลบหนีคดีไปนานนับปี ท่ามกลางกระแสข่าวเตรียมเคลื่อนย้ายตัวไปคุมขังยังเรือนจำชั่วคราว หลักสี่

ในขณะที่บ้านเมืองเริ่มมีสัญญาณป่วนจากเหตุการณ์ระเบิดหน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ทำให้สังคมหวั่นวิตกว่าอาจจะลุกลามบานปลายพาสถานการณ์กลับไปสู่วังวนความขัดแย้งอีกรอบ

อีกด้านหนึ่งยังเป็นจังหวะเดียวกับการตั้ง กมธ.ปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน และมีกำหนดส่งรายงานข้อสรุปผลการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองต่อที่ประชุมสภา ตามกำหนดเดิมวันที่ 15 ธ.ค.นี้

ที่สำคัญยังสอดรับกับกระบวนการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากพรรคเพื่อไทย ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาระบุว่าจะเร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในการประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติที่จะเปิดตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2554-18 เม.ย. 2555

โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้จะอภัยโทษคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ตั้งแต่หลังวันที่ 19 ก.ย. 2549 ที่มีคำตัดสินพิพากษาไปแล้ว และนิรโทษกรรมในคดีที่ค้างอยู่

ทั้งนี้ จากเสียงส่วนใหญ่จากพรรคร่วมรัฐบาลกว่า 300 เสียง ไม่น่าจะมีปัญหาในการผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ข้อครหาเรื่องการทำเพื่อพวกพ้อง หรือคนคนเดียว ย่อมนำมาสู่การต่อต้านหรือยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่จะทำให้กระบวนการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องทอดเวลาออกไปอีกนาน หรืออาจจะไปติดขัดสะดุดอยู่ในชั้นวุฒิสภา ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ดังนั้น การนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมฝ่ายค้าน ด้วยย่อมลดแรงเสียดทาน และข้อหาทำเพื่อคนคนเดียวได้ เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ที่มีความพยายามหยิบยกประเด็นเรื่องการสืบสวนสอบสวนคดี 91 ศพ ที่พบว่าบางคดีเป็นการกระทำที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ จึงน่าจะทำให้ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้อานิสงส์ไปด้วยไม่ออกมาต่อต้านการเดินหน้ากระบวนการนิรโทษกรรมครั้งนี้

ยังไม่รวมกับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ย่อมเป็นแรงหนุนสำคัญที่จะช่วยฝ่าฟันอุปสรรคเดินหน้านิรโทษกรรม

ระหว่างนี้จึงต้องดูว่าการไล่บี้คดี 91 ศพ จะสร้างแรงบีบให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมเกมนิรโทษกรรมของเพื่อไทยได้หรือไม่