posttoday

จับอีซีบีเสริมเขี้ยวตามรอยเฟด เพิ่มอำนาจแก้หนี้ยุโรป

09 ธันวาคม 2554

การประชุมสุดยอดผู้นำ 27 ชาติยุโรปในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ดูเหมือนจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้มากนัก

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

การประชุมสุดยอดผู้นำ 27 ชาติยุโรปในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ดูเหมือนจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้มากนัก ดูได้จากปฏิกิริยาในตลาดหุ้นเอเชียที่ปิดลบกันถ้วนหน้า ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง

นั่นเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างทราบดีว่าวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปหรือ อาจเรียกได้ว่า “วิกฤตความเชื่อมั่นในยุโรป” ไม่มียาวิเศษใดที่จะรักษาได้ในเข็มเดียวหลังเวทีประชุม และฝั่งพี่ใหญ่ของยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ก็ประกาศท่าทีชัดเจนแล้วว่าจะขอใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนมาก กว่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ

เพราะกลไกการเงินสำคัญอย่างธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) นั้น “ด้อยอำนาจ” มากเกินกว่าจะรับมือวิกฤตครั้งนี้ได้ และเป็นเหตุผลว่าทำไมวิกฤตหนี้ยุโรปจึงยืดเยื้อมานานถึง 2 ปี ไม่เหมือนเมื่อครั้งวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส ปี 2008 ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สามารถประสานงานกับรัฐบาลอเมริกันตรงเข้าแก้ปัญหาวิกฤตซับไพรม์ได้แบบ “เอาอยู่”

หากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อนในช่วงที่สหรัฐเผชิญวิกฤตซับไพรม์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำใกล้ล่มสลาย และภาวะสินเชื่อตึงตัวสุดขีด เฟดภายใต้การนำของผู้ว่าการเบน เบอร์แนนคี คือหน่วยงานที่มีบทบาทมากที่สุด ด้วยการทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง

จับอีซีบีเสริมเขี้ยวตามรอยเฟด เพิ่มอำนาจแก้หนี้ยุโรป

ที่สำคัญคือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือการพิมพ์เงินเหรียญสหรัฐเข้าระบบ เพื่อนำเงินนับล้านล้านเหรียญสหรัฐไปแก้ปัญหาใหญ่ 2 จุด คือ 1.การเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดสินเชื่อที่ตึงตัว และ 2.เข้าซื้อตราสารหนี้ทั้งของรัฐบาลและเอกชน

การลดดอกเบี้ยนับสิบครั้งจนเหลือต่ำสุดแบบลดไม่ได้อีกแล้วที่ 0– 0.25% บวกกับมาตรการคิวอี 2 ครั้ง และการเข้ามาช่วยซื้อสินทรัพย์ของบรรดากองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) ทั้งจากจีนและชาติอาหรับในขณะนั้น ช่วยให้วิกฤตการทางการเงินของสหรัฐทุเลาลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มกลับมามีสัญญาณฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ภายใน 3 ปี

แต่เมื่อพิจารณาปัญหาหนี้ยุโรปและบทบาทการแก้ปัญหาของอีซีบี เปรียบเทียบกันแล้ว อีซีบีแทบจะไม่ได้ใช้มาตรการเหล่านี้เลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาขึ้นกับกรีซในช่วงปลายปี 2009 โดยส่วนใหญ่หมดไปกับการปล่อยเงินกู้ (Bailout) ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้กับกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส และเพิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยลงไปเพียงครั้งเดียวเมื่อไม่นานมานี้

การใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต่างกัน มีสาเหตุหลักๆ 3 ประการ คือ 1.ขอบเขตอำนาจที่จำกัดของอีซีบีภายใต้สนธิสัญญายุโรป (European Treaties) 2.ขอบเขตของปัญหาที่กว้างกว่า (17 ประเทศยูโรโซน) รุนแรงกว่าและต้องใช้เงินมหาศาลกว่า และ 3.แนวคิดแก้ปัญหาของยุโรปนั้นแตกต่างจากสไตล์ของสหรัฐ

ขอบเขตอำนาจหลักๆ ของอีซีบีนั้น คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยกลางของ 17 ประเทศยูโรโซนที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน ควบคุมปริมาณเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สมดุล ช่วยสอดส่องดูแลตลาดทุนและสถาบันการเงิน อนุญาตให้ธนาคารกลางแต่ละแห่งในกลุ่มยูโรโซนออกธนบัตรและดูแลรักษาเสถียรภาพด้านราคา

ทว่าทั้งหมดนี้ อีซีบีไม่มีอำนาจที่จะเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรโดยตรง ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนกับเฟด อีซีบีสามารถแทรกแซงได้เพียงเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรอง (Secondary Market) เช่นที่อีซีบีเพิ่งเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลีและสเปนจำนวนหนึ่งในปีนี้ เพื่อช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถระดมทุนได้ ในยามที่ผลตอบแทนความเสี่ยงพุ่งสูง ทั้งเฉียดและเกินระดับ 7% ไปแล้ว

ในการประชุมวันที่ 9 ธ.ค.นี้ สิ่งที่นักลงทุนจับตาก็คือ จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใดๆ ให้อีซีบีสามารถพิมพ์เงินไปซื้อพันธบัตรได้เหมือนกับที่ธนาคารสหรัฐทำหรือไม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าจะเพิ่มอำนาจให้อีซีบีมากขึ้นหรือไม่

แม้จะมีการคาดหวังสูงท่ามกลางสภาวะที่เข้าตาจน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าอีซีบี หรือฝั่งยุโรปนั้น มีแนวคิดแก้ปัญหาที่ต่างจากฝั่งอเมริกัน ซึ่งต้องการวางสถานะให้อีซีบีเป็นกลางจากการเมืองมากที่สุด และไม่เชื่อเรื่องการปั๊มเงินซื้อพันธบัตร ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสั้น และรังแต่จะดันให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

โดยเฉพาะเยอรมนีที่ขึ้นชื่อว่าเคร่งครัดในหลักการมากที่สุด และมีอำนาจเงินกับอำนาจการตัดสินใจมากที่สุดในสหภาพยุโรปนั้น ยิ่งไม่เชื่อการขายผ้าเอาหน้ารอด

จึงไม่น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส จะเสนอ “เรื่องใหญ่” กับการแก้สนธิสัญญายุโรปเพื่อนำไปสู่การแก้ต้นตอปัญหา ด้วยการเปิดทางให้มีหน่วยงานกลางที่สามารถกำหนดงบประมาณของแต่ละประเทศสมาชิกได้ ในรูปแบบสหภาพการคลัง (Fiscal Union)

เพราะอีซีบีไม่มีอำนาจแทรกแซง หรือกำหนดเรื่องงบประมาณของแต่ ละประเทศสมาชิก จึงทำให้เกิดปัญหาการใช้จ่ายเกินตัว จากการกำหนดเพดานให้ก่อได้ไม่เกิน 3% ของจีดีพี หลายประเทศกลับมีหนี้พุ่งไปกว่า 100% ของจีดีพี หรือสูงถึง 300% เช่น กรีซ โดยไม่มีบทลงโทษชัดเจน

แม้รูปแบบดังกล่าวอาจเป็นหนทางยาวไกลที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้เฉพาะหน้า แต่ช่วงเวลาเข้าตาจนที่หลายประเทศกำลังต้องการเงินช่วยเหลือเช่นนี้ คือจังหวะและโอกาสอันดีที่เยอรมนีจะใช้ต่อรองเพื่อปูทางไปสู่การแก้ปัญหาของยูโรโซนอย่างยั่งยืน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความต้องการปฏิรูปวินัยการคลังครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แม้ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการเพิ่มอำนาจเพื่อแก้หนี้ยุโรปครั้งนี้จะเป็นรูปแบบใด ระหว่างเพิ่มอำนาจและบทบาทให้อีซีบี หรือตั้งเป็นองค์กรใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ที่สุดแล้วทุกฝ่ายก็ตระหนักตรงกันว่าต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก่อนที่ทั้งอีซีบี ยูโรโซน และอียู จะ “เอาไม่อยู่” กับวิกฤตหนี้ที่กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของทั้งโลกในวันนี้