posttoday

ส่งซีอีโอขึ้นเขียง ภารกิจกู้หน้าโตโยต้า

24 กุมภาพันธ์ 2553

การเรียกผู้บริหารบริษัทต่างชาติขึ้นให้การในสภาคองเกรสไม่ค่อยพบเห็นได้ง่าย ๆ แต่ทำไมจึงต้องเป็นโตโยต้า

การเรียกผู้บริหารบริษัทต่างชาติขึ้นให้การในสภาคองเกรสไม่ค่อยพบเห็นได้ง่าย ๆ แต่ทำไมจึงต้องเป็นโตโยต้า

โดย... ทีมข่าวต่างประเทศ

โดยปกติแล้วสภาคองเกรสสหรัฐมักจะมีการเรียกผู้บริหารของบริษัท เอกชนในประเทศขึ้นให้ปากคำในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอยู่แล้ว ตั้งแต่ซีอีโอของบริษัทบุหรี่ที่อ้างว่าสารนิโคตินไม่มีผลต่อการติดบุหรี่ ไปจนถึงบรรดานายแบงก์กับเรื่องการจ่ายโบนัสมหาศาล ทั้งที่ยังต้องบากหน้าขอเงินภาษีประชาชนอยู่

ส่งซีอีโอขึ้นเขียง ภารกิจกู้หน้าโตโยต้า

ทว่า การขึ้นให้การของ อาคิโอะ โทโยดะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโตโยต้า มอเตอร์ ในคืนวันที่ 24 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น ต่อกรรมาธิการปฏิรูปรัฐบาลและการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เรื่องการเรียกคืนรถยนต์ 8.5 ล้านคันนั้น กลับถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยพบเห็นง่ายๆ กับการเรียกผู้บริหารบริษัทต่างชาติขึ้นให้การในคองเกรส

 ประการแรก เพราะการขึ้นให้การต่อคองเกรสถือเป็นการขึ้นเขียง จึงแทบไม่มีผู้บริหารคนใดอยากเป็นฮีโร่ปกป้องบริษัทด้วยวิธีนี้ แม้แต่ผู้บริหารชาวอเมริกันเองก็ตาม และประการที่ 2 ก็คือ สภาคองเกรสไม่มีอำนาจตามกฎมายที่จะเรียกพลเมืองต่างชาติมาขึ้นให้การ

ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้บริหารต่างชาติจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะขึ้นให้การโดยสมัครใจ เพราะส่วนใหญ่มักจบด้วยการ “ขายหน้า”

การตอบรับของโทโยดะนั้น จึงเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่าปัญหาของโตโยต้าในครั้งนี้ หนักหนาสาหัสเพียงใด

“เขาจะอยู่ท่ามกลางทะเลเพลิง ทว่าก็ถือเป็นภารกิจที่มีเกียรติอย่างยิ่ง และถือเป็นการส่งสัญญาณครั้งใหญ่ถึงการไปปรากฏตัวในถิ่นของคนอื่น” มาร์ก ซูพาน คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ในสหรัฐ กล่าวกับเอพี

ทางด้าน แกรมห์ วิลสัน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งศึกษาเรื่องการเมืองกับธุรกิจ ระบุว่า สภาคองเกรสไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะบังคับให้พลเมืองของประเทศอื่นมาขึ้นให้การ ทว่า โทโยดะเองก็อยู่ในสภาพที่ยากจะหลีกเลี่ยงการขึ้นให้การโดยสมัครใจได้เช่นกัน เนื่องจากเผชิญแรงกดดันอย่างหนักทั้งในและนอกบ้าน โดยเฉพาะตนเองเป็นถึงหลานของผู้ก่อตั้งบริษัท

บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า กรณีของโทโยดะจะเหมือนกับการขึ้นให้การของผู้บริหารต่างชาติก่อนหน้านี้หรือไม่

กรณีการขึ้นให้การของผู้บริหารต่างชาติที่ขึ้นชื่อที่สุดนั้น คือ กรณีเมื่อ 10 ปีก่อนของ มาซาโตชิ โอโนะ ซีอีโอของบริษัท บริดจ์สโตนไฟร์สโตน ซึ่งขึ้นให้การต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2543 และนำไปสู่การเรียกคืนยางรถยนต์หลายล้านเส้นตามมา

การขึ้นให้การของโอโนะ นับเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนที่เห็นได้ไม่บ่อยครั้งนัก ซึ่งเจ้าตัวเองก็ยอมรับว่ารู้สึกตื่นตระหนก และต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อกล่าวถ้อยแถลงต่อคองเกรสเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้ใช้ล่าม 1 คนในภายหลังสำหรับช่วงคำถามคำตอบโดยเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ตอบคำถามก็มักจะเป็นผู้บริหารอีก 2 คนที่นั่งอยู่เคียงข้างมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้จะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาเลวร้ายไม่เป็นท่า โอโนะได้กล่าวขอโทษต่อกรณีการเสียชีวิตของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับยางรถยนต์ของบริษัท ทว่ากลับไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเหตุใดจึงเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น

หากจินตนาการไม่ออกว่าบรรยากาศเลวร้ายเพียงใดนั้น เอพีได้ระบุให้เห็นว่า กรรมาธิการของสภาสูงและสภาล่างสหรัฐได้ใช้เวลาสอบผู้บริหารของบริดจสโตนไฟร์สโตน ถึงเกือบ 13 ชั่วโมง

วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต บาร์บารา มิคัลสกี จากรัฐโอไฮโอ ถึงกับถามคำถามที่แสนเจ็บปวดและไม่มีการปรานีใดๆ ทั้งสิ้นว่า

“ยังมีสำนึกของความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่นในฐานะมนุษย์อยู่อีกหรือไม่”

และผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ การประกาศลาออกจากตำแหน่งของโอโนะ ในอีก 1 เดือนต่อมา

ทางด้าน เจสัน ไวน์ส โฆษกของฟอร์ด มอเตอร์ ซึ่งเคยติดตาม ฌัก นัสเซอร์ อดีตซีอีโอของฟอร์ดในขณะนั้นไปขึ้นให้การกับคองเกรส กรณีปัญหาความปลอดภัยของรถยนต์ ก็เปิดเผยถึงความรู้สึกที่แทบไม่แตกต่างกัน

“มันเหมือนกับหายนะ” ไวน์ส กล่าว

ส่วนผู้บริหารของบริษัทต่างชาติอื่นๆ ก็พยายามหายุทธวิธีอื่นๆ ที่ต่างกันออกไปในช่วงวิกฤต อาทิ กรณีของบริษัท ดีพี เวิลด์

เมื่อปี 2549 ขณะที่สภาคองเกรสสหรัฐได้เคลื่อนไหวเพื่อยับยั้งความพยายามของบริษัท ดีพี เวิลด์ ในดูไบ ที่เข้าซื้อกิจการท่าเรือ 6 แห่งในสหรัฐ และได้เรียกผู้บริหารของดีพี เวิลด์ มาขึ้นให้การกับคองเกรสนั้น ทางบริษัทของดูไบได้ส่งชื่อของ เอช เอ็ดเวิร์ด บิลค์ลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ซึ่งเป็นพลเมืองอเมริกัน ไปขึ้นให้การแทนผู้บริหารชาวดูไบเมื่อเดือน ก.พ. 2549

ทว่า แม้จะส่งบิลค์ลีย์ วัย 72 ปี ซึ่งเป็นหลานของ สว.อเมริกันคนหนึ่ง และยังได้ว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ชั้นนำหลายแห่งให้เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ แต่ในท้ายที่สุด ดีพี เวิลด์ ก็ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันทางการเมืองในสหรัฐได้ และจำเป็นต้องขายต่อท่าเรือทั้ง 6 แห่งให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกันในเวลาต่อมา

และแม้แต่ผู้บริหารสัญชาติอเมริกันด้วยกันเองก็ใช่ว่าจะเจ็บตัวน้อยกว่าผู้บริหารต่างชาติ อาทิ การขึ้นให้การของซีอีโอบิ๊กทรีจากค่ายฟอร์ด จีเอ็ม และไครสเลอร์ ก่อนหน้านี้ ที่ถูกรุมสับอย่างยับเยินกรณีใช้จ่ายเงินกันมหาศาล และการนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวไปขึ้นให้การที่แคปิตอลฮิลล์ ทั้งที่มาของเงินภาษีประชาชนไปช่วยอุ้มบริษัทของตนเอง

หรือแม้แต่เหล่าผู้บริหารของภาคการเงินในวอลสตรีตก็ถูกโจมตีไม่ไว้หน้าเช่นกัน กรณีวิกฤตการณ์ภาคการเงินล่าสุด

ทุกฝ่ายจึงจับจ้องว่าการขึ้นให้การของโทโยดะ จะเป็นการใช้โอกาสพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นตามความคาดหวังของหลายฝ่ายในญี่ปุ่นได้จริงหรือไม่

เพราะนอกจากสภาคองเกรสจะไม่ปรานีใครแล้ว ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังติดกับธรรมเนียมปฏิบัติแบบญี่ปุ่น ที่มักให้ความเคารพและเกรงใจผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะโทโยดะที่แบกชื่อของตระกูลในบริษัทที่ตนเองกำลังดูแล

“เมื่อคุณเป็นหลานของผู้ก่อตั้ง คุณก็มักคิดว่าตนเองจะได้รับการปกป้อง ทว่าในยามที่บริษัทเผชิญกับภาวะวิกฤตนั้น นี่ก็เป็นภาระที่คุณต้องแบกรับไม่แพ้กัน” บิล จอร์จ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว