posttoday

งบปะผุฟื้นฟูแสนล้าน เปิดรูโหว่ให้ไอ้เข้รุมทึ้ง

06 ธันวาคม 2554

ถึงวันนี้ต้องถือว่าสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายลงในหลายพื้นที่แล้ว ผู้คนทยอยกลับคืนสู่ที่พักอาศัยเพื่อเร่งฟื้นฟูบ้านเรือนที่เสียหายอย่างหนัก

ถึงวันนี้ต้องถือว่าสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายลงในหลายพื้นที่แล้ว ผู้คนทยอยกลับคืนสู่ที่พักอาศัยเพื่อเร่งฟื้นฟูบ้านเรือนที่เสียหายอย่างหนัก

สภากาแฟฯ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผลงานจัดการน้ำครั้งนี้ไม่ใช่ฝีมือรัฐบาลและไม่ใช่ฝีมือผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) หากเป็นฝีมือของธรรมชาติล้วนๆ ก็คงต้องฟังหูไว้หู

ขณะที่ปราการกระสอบทรายแนวบิ๊กแบ็ก และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ กลายเป็นตัว “จุดชนวน” ความขัดแย้งของผู้คนก่อเกิดสารพัด “ม็อบ” ไปทั่วทุกทิศ

มวลน้ำส่วนใหญ่ที่ไหลลงทะเลแล้วเมื่อวันวาน

วันนี้เวลาแห่งการฟื้นฟูเยียวยากำลังมาถึง งบกลางปี 2554 กว่า 4 หมื่นล้านบาท ถูกสำรองจ่ายช่วยเหลือภัยน้ำท่วมกรณีฉุกเฉิน เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาทต่อครัวเรือน ค่าซื้อทรายทำแนวกั้นน้ำกว่า 2,000 ล้านบาท

แต่แล้วก็เกิดกรณีหักค่า “หัวคิว” จนได้ เงินเยียวยา 5,000 บาท พบว่า ผู้ประสบภัยได้เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ชาวบ้านเขาร้องมาว่า ตอนไปรับเงิน 5,000 บาท ต้องจ้างเรือไปรับเงินที่อำเภอหรือจังหวัด เรือจ้างก็ใจดี คิดค่าเรือเป็นรายคน คนละ 1,000 บาท

งบปะผุฟื้นฟูแสนล้าน เปิดรูโหว่ให้ไอ้เข้รุมทึ้ง

 

ได้เงินกลับมา 4,000 บาท จากรัฐบาลก็ถือว่าเป็นโชคดีแล้ว

ส่วนการหักหัวคิว ณ จุดรับเงิน ชาวบ้านเขาก็ร้องว่า มี แต่ที่น่าเสียดาย เพราะจับใครไม่ได้คาหนังคาเขา แต่ก็เรียกว่า เหม็นไปทั้งซอย เหม็นไปทั้งอำเภอ

กรณี “ถุงยังชีพ” และสิ่งของที่แจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยกลายสภาพเป็นถุงปลิดชีพ

เพราะข้าวของที่อยู่ในถุงราคาไม่เกิน 300 บาท แต่มีการจัดซื้อจัดจ้างกันถุงละ 500 บาท บางถุงร่วม 800 บาท ส่วน สส.หัวใสอาศัยจังหวะชุลมุนแปะชื่อตัวเองเอาความดีความชอบใส่ตัว

นี่ไม่นับการจัดซื้อเต็นท์ เรือ ส้วมกระดาษ ไปจนถึงส้วมลอยน้ำที่จัดซื้อจัดจ้างในราคาสูงลิ่ว

“เรื่องหักค่าหัวคิว ซื้อของแพงเกินจริง มีแน่นอนอยู่แล้ว และมีมาตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลมากกว่า ครั้นจะไปจับก็ไม่ใช่ง่าย ถ้าประชาชนหรือเอกชนไปยอมเขา” พงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตกรรมการปฏิรูป (คปร.) ระบุ

พงศ์โพยม ชี้ว่า การจัดซื้อสินค้าเพื่อบรรจุในถุงยังชีพ ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่เช่นกัน เพราะการหาข้าวของจำนวนมาก และราคาเท่าเดิมในยามขาดแคลนไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะต้องมีค่าธุรการ ค่าซื้อถุงที่ใส่ของ ซึ่งหากราคาของ 380 บาทแล้วบวกค่าจัดการอีก 50 บาท ตรงนี้พอรับได้

แต่หากสินค้าราคารวมกันไม่เกิน 300 แต่ไปจัดซื้อกันที่ถุงละ 500 บาท กำไรเกิน 50% อย่างนี้รับไม่ได้ และเห็นว่า ซื้อมาจากเจ้าเดียวกันและเป็นราคาเดิม จะให้เรียกอย่างไร

จึงไม่แปลกใจที่วันนี้ทั่วโลกก็รับทราบอยู่แล้วว่าอันดับทุจริตของไทยอยู่อันดับที่ 80 จาก 180 ประเทศ

ทั้งหมดนั้นอาจจะเป็นแค่ขนม เมื่อเทียบกับ “น้ำยา” ชุดใหญ่ที่รัฐบาลกำลังจะแจกจ่ายออกไปหลังจากนี้อีกไม่นาน

นั่นคือ งบกลางปี 2555 ที่รัฐบาลเตรียมไว้ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วมเป็นการเฉพาะทั้งจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เงินเยียวยาเกษตรกรที่พื้นที่เพาะปลูกเสียหายหลายสิบล้านไร่

งบซ่อมถนน สะพาน ขุดลอกคูคลอง บูรณะซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างทางราชการ และระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา และระบบการสื่อสาร

เหล่านี้ล้วนเป็นเหยื่อโอชะของ “ไอ้เข้” และ “มิสเตอร์ 20%” ที่พร้อมโผล่ขึ้นมางาบในยามที่คนเผลอ

ไม่ใช่การใส่ร้าย ไม่ใช่การปรักปรำ แต่หากเป็นการกระตุ้นเตือนรัฐบาลให้ดูแลและจัดสรรเงินเหล่านี้ให้รั่วไหลน้อยที่สุด เพราะการจัดงบแบบปะผุ ซ่อมแซมนั้น ไม่ระวังตัว เขารอมั่วนิ่มกันอยู่

เม็ดเงินเป็นแสนล้านบาท จะหวังไม่รั่วไหลสักบาทคงเป็นไปไม่ได้

ในเบื้องต้นงบซ่อมถนน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) จะมีการเสนอ ครม.อนุมัติงบดำเนินการ 12,983 ล้านบาท

แบ่งเป็น โครงการซ่อมแซมด้านคมนาคมขนส่งและสนามบินดอนเมือง 4,444 ล้านบาท

ฟื้นฟูซ่อมแซมสถานที่ราชการและสาธารณูปโภค 384 ล้านบาท

ซ่อมแซมศาสนสถานและโบราณสถาน 1,593 ล้านบาท ฟื้นฟูสถานศึกษา 1,462 ล้านบาท แก้ปัญหาแหล่งน้ำและชลประทาน 5,098 ล้านบาท

ขณะที่การเสนอของบประมาณในโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ เป็นประธาน วงเงินรวม 6,803 ล้านบาท

การจ่ายเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 5,000 บาท จำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน วงเงินก็ตก 1.7 หมื่นล้านบาท

ค่าชดเชยที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ระบุวงเงิน

ข้อเสนอการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงิน 1.81 หมื่นล้านบาท

ยังมีขอวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยเพิ่มเติม (กรณีพิเศษ) 1.89 หมื่นล้านบาท

สรุปเบ็ดเสร็จ 2 ก้อนนี้ก็เป็นงบเยียวยากว่า 7 หมื่นล้านบาทแล้ว

นี่ยังไม่รวมเงินค่าช่วยเหลือซ่อม แซมที่อยู่อาศัยที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์

เริ่มจากงบซ่อมแซมถนนสะพาน และขุดลอกคูคลอง ต้องยอมรับว่ามีการทำมาหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน วงในบอกว่ากินกันทุกโครงการ โครงการละไม่ต่ำกว่า 20% ตั้งแต่การเคาะโต๊ะกับผู้รับเหมา การจ่ายเงินในการตรวจรับงาน ทุกกระบวนการมีการเรียกรับผลประโยชน์ทั้งสิ้น

“อย่าว่าแต่ไปตรวจรับงานในพื้นที่เลย บางโครงการตรวจกันบนโต๊ะที่บ้าน ไม่ต้องลงพื้นที่ก็ยังมี” แหล่งข่าวในวงการรับเหมารายหนึ่งกล่าว

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะหน่วยราชการเมื่อได้รับงบไปแล้ว เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ก็ไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามลำพัง ต่างคนต่างทำ ใช้วิธีพิเศษบ้าง หรือล็อกวงเงินโครงการให้ไม่เกิน 2 ล้านบาทบ้าง เพื่อไม่ต้องประมูลแบบอีออกชัน

โครงการที่มีแต่ป้าย แต่ไม่มีการดำเนินการก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง

โครงการขุดลอกคูคลอง แต่ไม่มีใครเข้าไปดูว่า ขุดกันจริงจังแค่ไหน ขุดตรงไหนเท่าไหร่ เพราะไม่มีใครไปดู

งานรับเหมาเหล่านี้ ยังถูกแจกจ่ายไปให้กับพรรคพวกเพื่อนพ้องนักการเมืองในแต่ละพื้นที่ทำมาหากินกันเป็นทอดๆ ส่วนโครงการจะทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่ที่แน่ๆ ได้งบไปเนื้อๆ แบ่งเค้กก้อนโตกินกันพุงกาง ทั้งโครงการเล็กโครงการใหญ่

“คุณไม่ต้องห่วง ทุกวันนี้ผู้รับเหมาวิ่งเข้ากรมนั้นกรมนี้ กินข้าวกินกาแฟกับคนนั้นคนนี้ เขาแบ่งกันหมดแล้ว บางบริษัทก็พวกกัน บางบริษัทก็ไปตกลงกันแล้วว่างานนี้ใครได้ งานนั้นใครได้” แหล่งข่าววงการราชการรายหนึ่งตอกย้ำ

ที่เห็นชัดๆ และตัวอย่างเล็กๆ ของโครงการระดับพันล้านบาทเพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โครงการก่อสร้างทางสายเชิงเขาตะนาวศรีกอกะเร็ก ปรับปรุงทางสายเมียวดีเชิงเขาตะนาวศรี

มีผู้ร่วมประมูล 7 ราย แต่ผู้ประมูลรายหนึ่งเสนอราคามาที่ 1,140, 343, 350 บาท โปรดอ่านให้ละเอียด

ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 1,140, 956, 487.65 ล้านบาท

เรียกได้ว่า ต่ำกว่าราคากลางฉิวเฉียดแค่ 6.13 แสนบาท ไม่มีข้อสงสัย ไม่มีใครโต้แย้ง และอธิบดีกรมทางหลวงก็ให้ความเห็นชอบแล้วด้วย

เช่นเดียวกัน หากเรียกระบบราชการเป็น “อำมาตย์” การบริหารท้องถิ่นวันนี้ก็เรียกได้ว่าเป็น “อำมาตย์ น้อย” เพราะระบบระเบียบไม่แตกต่างกัน เปอร์เซ็นต์ทุจริตรายโครงการก็แทบไม่แตกต่างกันแล้ว ซึ่งวันนี้ท้องถิ่นเองก็มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูความเสียหาย ต้องมีระบบตรวจสอบเช่นกัน

หาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการทำอย่างที่ประกาศว่าจะไม่มีการทุจริต ก็ต้องกล้าเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทุกโครงการ เช่น เปิดข้อมูลโครงการทั้งหมดทั้งวงเงิน สเปกโครงการ และแจ้งวันตรวจรับงานล่วงหน้าให้ประชาชนผู้เสียภาษีเข้าไปตรวจสอบ

เพราะเมื่อยามน้ำท่วมประชาชนจำนวนมากมี “จิตอาสา” มาช่วยแพ็กของ บรรจุกระสอบทราย และวางแนวกั้นน้ำ มั่นใจได้เลยคนส่วนใหญ่พร้อมมี “จิตอาสา” ไปตรวจสอบงบซ่อมปะผุเหล่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย

เว้นเสียแต่ว่า หน่วยงานภาครัฐจะอุบอิบทำกันอย่างลับๆ