posttoday

เศรษฐกิจไทยเผาจริงกำลังมา

30 พฤศจิกายน 2554

หากให้จับทิศทางเศรษฐกิจในเดือน พ.ย.นี้ กล้าฟันธงเลยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจะดิ่งลงเหวมากกว่า

โดย...ทีมข่าวการเงิน

หากให้จับทิศทางเศรษฐกิจในเดือน พ.ย.นี้ กล้าฟันธงเลยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจะดิ่งลงเหวมากกว่าในเดือน ต.ค. ตามที่ สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาล่าสุด ว่า นับเป็นเดือนที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรุนแรงที่สุด เพราะดัชนีทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเกือบทุกตัวหัวปักลงดิน

ไล่มาตั้งแต่การบริโภคภาคประชาชน สะท้อนจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงเหลือ 11.3% จาก 13.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภค (เหรียญสหรัฐ) ลดลงเหลือ 6% จาก 12.9% ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งถึงขั้นติดลบ 38.8% จากที่เคยขยายตัวได้ 29.6% ในเดือนก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ติดลบ 4.6% จากที่เคยขยายตัวได้ 11.4% ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมลดลงเหลือ 62.8% จาก 72.2%

ด้านการลงทุนภาคเอกชนก็กระทบหนัก โดยพบว่าปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งเชิงพาณิชย์ติดลบ 41.8% จากที่ขยายตัวได้ 25.7% ในเดือนก่อน ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมติดลบ 17% จากที่ขยายตัวได้ 16.5%

เศรษฐกิจไทยเผาจริงกำลังมา

เช่นเดียวกับดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างแรง ตั้งแต่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบถึง 34.5% มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบในรูปเงินเหรียญสหรัฐลดลงเหลือ 31.3% จากที่เคยขยายตัวได้ 69.2% ในเดือนก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง 46.8% จาก 65.5% ส่วนภาคบริการพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 1.4 ล้านคน ลดลงเหลือ 7% จาก 22.7% ในเดือนก่อน

แต่ทว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มปักหัวนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมแห่งชาติรุนแรงมากนัก ที่เริ่มมหกรรมกวาดล้างเขตเศรษฐกิจและบ้านเรือนประชาชนจากจังหวัดภาคเหนือตอนล่างตั้งแต่ ชัยนาท นครสวรรค์ มาพระนครศรีอยุธยา กวาดนิคมอุตสาหกรรมระเนระนาดเต็มที่ในเดือน พ.ย.ต่างหาก

และในเดือนนี้ น้ำเหนือและน้ำทุ่งกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ได้ไหลเข้ารังสิตและไหลบ่ามาท่วมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และจมดอนเมืองในเวลาต่อมา ลามไปถึงคลองสามวา คลองหกวา สายไหม สะพานใหม่ บางเขน ลาดพร้าว เมืองเอก แจ้งวัฒนะ และทะลักต่อไปที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ฝั่งตะวันตก ท่วมบางพลัด จรัญสนิทวงศ์ บางแค พระราม 2

ฝั่งตะวันตกของ กทม.นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจหน่วยย่อยๆ โดยเฉพาะในย่านหนองแขม บางแค ภาษีเจริญ บริเวณนั้นมีโรงงานห้องแถวที่เป็นธุรกิจรายย่อยหรือเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 500 แห่ง ส่วนย่านพระราม 2 ค่อนไปทางสมุทรสาครนั้น มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลมากมายหลายแห่ง

แม้น้ำจะไม่เข้าท่วมเขต กทม.ชั้นใน ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจประเทศ แต่ก็ทำให้การค้าขายเงียบเชียบ ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เงียบเหงา พนักงานห้างมีมากกว่าคนเดินจับจ่ายใช้สอย

ชีพจรเศรษฐกิจเดินช้าลงถึงขั้นที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงขั้นออกปากว่า การกำหนดนโยบายการเงินนั้นจะต้องปรับไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะดูผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย

แค่ผู้ว่าการ ธปท.พูดแค่นี้ ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ มีโอกาสสูงที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งคาดว่า กนง.จะค่อยๆ ลดดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.25%

แต่ตลาดคาดหวังว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยลง 0.5% เพื่อฉุดเศรษฐกิจ เพราะดัชนีความเชื่อมั่นด้านต่างๆ กำลังดิ่งลงเหว

ในขณะที่ ธปท.ส่งสัญญาณกังวลว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง และสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างๆ ก็พากันปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวไม่เกิน 2%

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณเตือนว่าตัวเลขเศรษฐกิจเผาจริงยังไม่มา แต่เอกชนก็เตรียมการรับมือกันแล้ว

ทว่าฝั่งรัฐบาลนั้นมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล เป็นแค่ “มาตรการน้ำจิ้ม” เพราะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่มีอำนาจล้นฟ้าแต่กลับไม่แอ็กชันเรื่องช่วยเหลือเยียวยาคนเดือดร้อน แต่กลับปล่อยให้ ศปภ.ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ไปช่วยคนแทน กลายเป็นการออกมาตรการจ่ายเงินชดเชยครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับภาระของประชาชนที่ต้องจ้างคนมาทำความสะอาดบ้าน และซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย

วิกฤตน้ำท่วมเมืองหนนี้กระทบกับคนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นคนจน มนุษย์เงินเดือน พ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด

แต่เมื่อลองมาวิเคราะห์ถึงความเข้มข้นในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ พบว่า รัฐบาลทุ่มเทสรรพกำลังในการเยียวยาช่วยเหลือนักลงทุน แบบออกหน้าออกตา สั่งธนาคารรัฐอย่าง ออมสิน ปล่อยเงินกู้ 1.5 หมื่นล้านบาท ไปสร้างคันกั้นน้ำรอบนิคม โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาหลักประกันตัวไหนมาค้ำประกันสินเชื่อ แล้วใครจะเป็นผู้รับภาระในการผ่อนสินเชื่อดังกล่าว นอกจากนี้ยังสั่งธนาคารออมสินและธนาคารพาณิชย์ช่วยกันอัดเงินอีก 4 หมื่นล้านบาทเพื่อฟื้นฟูสภาพคล่องให้กับบริษัทต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม

แถมยังส่ง วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ไปพบบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ ให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี บินสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนญี่ปุ่น

และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้มีการยกเว้นภาษีอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งเครื่องจักร เพื่อช่วยเหลือบริษัทรถยนต์ที่โรงงานได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2554-30 มิ.ย. 2555

ถามว่าแล้วที่ประชาชน มนุษย์เงินเดือน คนที่เสียภาษีให้รัฐบาลเหมือนกัน ทำไมคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษี หรือเพิ่มค่าลดหย่อนในการนำไปลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาลงบ้าง

เพราะมาตรการที่รัฐบาลออกมาจ่ายแค่ 5,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งขณะนี้น่าจะยังไม่มีคนใน กทม.ได้รับเงินที่ว่านี้มากนัก ซึ่งยังไม่นับรวมเรื่องการจ่ายค่าเสียหายให้ 3 หมื่นบาท กรณีที่บ้านพังทั้งหลัง หรือจ่ายให้ 2 หมื่นบาท กรณีที่เสียหายบางส่วนซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า กทม. หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.จะรับผิดชอบ

ส่วนมาตรการสินเชื่อที่แต่ละธนาคารทยอยออกมาบรรเทาผลกระทบก็เป็นได้แค่มาตรการต่อลมหายใจ เพราะทำได้ดีที่สุดคือการยืดหนี้ให้ ส่วนเรื่องที่จะปล่อยกู้เพิ่มคงเป็นไปได้อยากเพราะขาดหลักประกัน และคนค้ำประกัน ถือว่าความช่วยเหลือที่ออกมาให้ประชาชน ยังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความสำคัญที่รัฐบาลให้กับนักลงทุนต่างชาติ จึงถือได้ว่า

“รัฐบาลสอบตกเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน”

จากนี้ไปคงต้องจับตาอาการป่วยไข้ของเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มเห็นสัญญาณแล้วในเดือน ต.ค. และเชื่อว่าน่าจะรุนแรงขึ้นในเดือน พ.ย. และผลกระทบที่ว่านี้น่าจะกินเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากนี้ไปจึงต้องจับตามาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาล เพราะถ้าคนยังเดือดร้อน ขาดสภาพคล่องเพราะต้องเอาเงินออม หรือต้องไปกู้เงินมาซ่อมบ้าน ย่อมจะกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชน แม้รัฐบาลจะเชื่อว่า ยอดขายวัสดุก่อสร้างจะเป็นตัวฉุดการบริโภค

แต่สุดท้ายเมื่อประชาชนลดการบริโภค ต้องกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องคอยมอนิเตอร์ความต้องการซื้อสินค้าของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ดี ถ้าคาดการณ์ผิดอาจพลาดเป้า

การค้าอาจเสียหายเป็นโดมิโนได้ ทางออกของผู้ประกอบการปีหน้าอาจต้องขายสินค้าแบบลดกระหน่ำ ยอมกำไรลดลงแต่ขายของได้ เพื่อเป็นทางรอดช่วยเหลือตัวเองในยุคที่รัฐบาลบริหารงานแบบตั้งรับมากกว่าเชิงรุก