posttoday

ปชป.บินเดี่ยว ฉุดพลังฝ่ายค้าน

22 พฤศจิกายน 2554

ดาบสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป “ประชาธิปัตย์”พุ่งเป้าเจาะจงยื่นซักฟอก

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ดาบสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป “ประชาธิปัตย์”พุ่งเป้าเจาะจงยื่นซักฟอกพร้อมถอดถอน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)

ตอกย้ำความล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายรุนแรงหลายแสนล้านบาท พืชสวนไร่นา นิคมอุตสาหกรรมเสียหาย ลามไปถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ รวมไปถึงการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 600 คน

ในขณะที่รัฐบาลกำลังเริ่มต้นเดินหน้าออกมาตรการฟื้นฟูเยียวยาและมาตรการป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วม ที่พยายามโบ้ยว่าเป็นภัยธรรมชาติครั้งนี้จะไม่กลับมาซ้ำรอยในปีต่อๆ ไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้มากน้อยแค่ไหน

ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศด้วยความเป็นห่วงในการ บริหารจัดการรับมือน้ำ รวมถึงการทำประกันของบริษัทต่างๆ ที่บริษัทประกันต่างชาติกำลังงุนงงว่า ความเสียหายเที่ยวนี้เป็นเพราะ “บริหารจัดการ” หรือ “ภัยพิบัติ” ที่กำลังกลายเป็น “ต้นทุน” ให้หลายบริษัทต่างๆ ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าประกันเพิ่มขึ้น

ทว่าการตัดสินใจยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ทำงานมาได้เพียงแค่ 4 เดือน กำลังกลายเป็นที่จับตาว่าฝ่ายค้านมีหมัดเด็ดหรือไม้ตายอย่างไรกับการอภิปรายครั้งนี้ นอกเหนือจากที่อภิปรายในระหว่างการพิจารณางบประมาณและการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 179 ที่ต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปชป.บินเดี่ยว ฉุดพลังฝ่ายค้าน

เป้าใหญ่เวลานี้เชื่อกันว่าคงหนีไม่พ้นความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อถุงยังชีพ และสิ่งของอุปโภค บริโภค ที่นำไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ที่น่าจะมีหลักฐานเพียงพอจะสาวไปถึงผู้รับผิดชอบ

ยิ่งดูอาการรัฐบาลเวลานี้ ต่างออกมาโยนความรับผิดชอบไม่เกี่ยวข้องกับ “เผือกร้อน” ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อถุงยังชีพและสิ่งของอื่นๆ ที่โยนให้การสั่งซื้อทำในนาม ศปภ.ทั้งนั้น

ไม่ต่างจาก พล.ต.อ.ประชา ที่ปัดพัลวัน ระบุยังไม่ซื้อแม้แต่ปลากระป๋องกระป๋องเดียว และโยนว่าไม่มีอำนาจใช้เงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย “ความจริงต้องเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ ถุงยังชีพถุงเดียวก็ยังไม่เคยสั่งซื้อเลย มีแต่สั่งให้บรรจุแพ็กของที่ชาวบ้านเอามาบริจาค และรีบนำแจกจ่ายชาวบ้านออกไป เรายังไม่ได้ซื้อ ศปภ.ไม่เคยซื้อถุงยังชีพครับ”

งานนี้ทั้งความแตกแยกจากการปัดความรับผิดชอบและเงื่อนงำความไม่โปร่งใส น่าจะสั่นสะเทือนจนทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในฝ่ายบริหาร

ทว่าย้อนมาดูท่าทีของฝ่ายค้านเวลานี้ “ประชาธิปัตย์” เหมือนกำลังถูกโดดเดี่ยว และบินเดี่ยวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ให้ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนกลไกตรวจสอบรัฐบาลเพียงลำพัง

สะท้อนชัดเจนผ่านญัตติยื่นขอเปิดอภิปรายที่มีเพียง สส.ประชาธิปัตย์ 153 คน ร่วมลงรายชื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 159

ลำพังแค่การชี้แจงจากภูมิใจไทย ของ ศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรค ที่ปัดว่าเป็นเรื่องที่แจ้งกะทันหัน ไม่สามารถเรียกประชุมพรรค หรือสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทัน ดูจะฟังไม่ขึ้นเสียเท่าไร ท่ามกลางกระแสข่าวว่าภูมิใจไทยพยายามลอยตัวไม่ให้บอบช้ำ ในช่วงที่ “ภูมิใจไทย” กำลังขับเคลื่อนเสนอญัตติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองของคนในชาติ

ความสัมพันธ์เวลานี้จึงเปลี่ยนไปสิ้นเชิงจากที่ “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ต้องจำใจอยู่ร่วมหัวจมท้ายแบบไม่สามารถเปลี่ยนขั้วไปไหนได้ แต่เวลาเช่นนี้กลับปล่อยให้ประชาธิปัตย์ลุยเดี่ยว

ไม่เว้นแม้แต่ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่เคยยึดอำนาจรัฐบาลเพื่อไทยในวันนั้น มาวันนี้ในฐานะหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กลับไม่ได้เข้าร่วมศึกซักฟอกเที่ยวนี้

หนำซ้ำในฐานะตัวตั้งตัวตีเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ และต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานกรรมาธิการ ถูกประชาธิปัตย์ออกมาตั้งแง่ว่าไปสอดรับกับ พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษเที่ยวนี้

ยังไม่รวมกับกำลังสำคัญอย่าง ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ ที่ประกาศตัวเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ทำงานตามแนวทางของตัวเอง

แม้แต่ “ชูวิทย์” ที่แม้จะถูกมองว่าเป็นสีสัน แต่หลายเรื่องที่เปิดออกมาก็เคยสร้างความสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง อย่างเรื่องบ่อนกลาง กรุงที่ทำให้ ผบ.ตร.เด้งจากเก้าอี้

ศึกซักฟอกเวลานี้ที่ขาดแนวร่วมจากพรรคฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ จึงทำให้ความเป็นปึกแผ่นในการอภิปรายดูแผ่วลงไป แม้ประชาธิปัตย์จะมั่นใจในเอกสารหลักฐานที่มีก็ตาม

เรื่องเหล่านี้ไม่แตกต่างจากสมัยที่ “ประชาธิปัตย์” เป็นรัฐบาล และเคยถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมรัฐบาลเวลานั้น จนทำให้การบริหารงานไม่เดินหน้าอย่างที่ควรจะเป็น แม้จะมาเป็นฝ่ายค้านก็ยังตกอยู่ในที่นั่งไม่ต่างจากเดิม

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 พ.ย. และลงมติในวันที่ 28 พ.ย.นี้จะได้สะท้อนสภาพการทำงานในฐานะฝ่ายค้านของประชาธิปัตย์ว่าจะมีพลังมากน้อยแค่ไหนต่อไป