posttoday

ประเทศไทยเนื้อหอม ต่างชาติขุดทองในสายน้ำ

22 พฤศจิกายน 2554

ถึงตอนนี้หากนับรวมทุกพื้นที่ ทุกครัวเรือน ต้องยอมรับว่าความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ถึงตอนนี้หากนับรวมทุกพื้นที่ ทุกครัวเรือน ต้องยอมรับว่าความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว

ขณะที่การฟื้นฟูถนน คูคลอง บ้านเรือนประชาชน วิถีชีวิต การค้า และระบบการผลิตของประเทศให้คืนคงดังเก่า แน่นอนว่าต้องมีทุนทรัพย์มหาศาล

ซึ่งวันนี้ประเทศไทยไม่ได้มองแค่การฟื้นฟูบูรณะแล้ว แต่ต้องมองไปไกลถึงการปรับโครงสร้างเพื่อวาง “อนาคต” ของประเทศให้ปลอดจากความเสี่ยงของภัยธรรมชาติ

“วิกฤตน้ำทำให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดผลกระทบ เราต้องมองเกินน้ำ ไม่ใช่แค่ปรับปรุงกลับมา แต่เมื่อสร้างกลับมาก็ต้องทำให้มันดีขึ้น” ประเสริฐบุญสัมพันธ์ กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ระบุ

นั่นหมายถึง การทุ่มเททรัพยากรประเทศ โดยเฉพาะเงินทุนที่นอกจากต้องลงไปกับการฟื้นฟูประเทศ และการลงทุนตามแผนการสร้างอนาคตประเทศ จะต้องใช้เงินทุนมากกว่าการฟื้นฟูความเสียหายหลายเท่าตัว

เปรียบดั่งว่า “น้ำท่วมที่กลายเป็นน้ำเน่า แต่ในน้ำเน่าทั่วประเทศนั้น ยังมีขุมทองซ่อนอยู่”

ประเทศไทยเนื้อหอม ต่างชาติขุดทองในสายน้ำ

หากมองเฉพาะตัวเลขวงเงินลงทุนเพื่อฟื้นฟูและวางโครงสร้างประเทศใหม่เพื่อรองรับภัยพิบัติต่างๆ ในระยะ 50 ปี หรือ 100 ปีข้างหน้าแล้ว เงินในการฟื้นฟูบูรณะประเทศตรงนี้มหาศาล เปรียบเสมือน “เค้กชิ้นโต” สำหรับผู้รับเหมาทั้งในและต่างประเทศ ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้

บรรดานายธนาคาร บริษัทยักษ์ใหญ่ สถาบันการเงิน บริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศต่างพยายามที่จะเข้าถึงเค้กก้อนนี้อย่างหนัก

ท่ามกลางการเสนอช่วยเหลือด้านวิชาการ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

บ้างก็ส่งตรงถึงรัฐมนตรีบางคน บ้างก็ส่งตรงถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีการพบปะกันอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะการจัดการน้ำของผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์ที่มีประสบการณ์กั้นน้ำทะเล เพราะเนเธอร์แลนด์มีพื้นที่อาศัยต่ำกว่าทะเล แต่ไม่เคยประสบภัย “น้ำเหนือหลาก” เช่นไทย

ผู้เชี่ยวชาญจากสวิตเซอร์แลนด์ที่สำรวจพื้นที่น้ำท่วมเพียง 9 วัน และระบุว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชั้นในไม่เกิน 30 เซนติเมตร

เช่นเดียวกับกลุ่มทุนในยุโรป ตะวันออกกลาง เสนอเงื่อนไขในการลงทุนสร้างระบบป้องกันน้ำแก่ไทยด้วยเม็ดเงินมหาศาล

เช่นเดียวกับสถาบันการเงินนานาชาติ อาทิ ธนาคารโลก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจกา) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่ให้ข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูบูรณะวางแผนประเทศในระยะยาวที่น่าสนใจ พ่วงด้วยข้อเสนอการให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ย “ต่ำ” เป็นพิเศษที่รัฐบาลอาจเห็นแล้วตาโต

และดูเหมือนว่า ยิ่งลักษณ์และคนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะชื่นชอบข้อเสนอแนะที่แตกต่าง-หลากหลาย เพียงแต่ต้องนำมาปะติดปะต่อกันเสียก่อนว่า จะเห็นเป็นแผนรูปธรรมก็ต้องใช้เวลานานปี

กระทั่งอาจลืมไปว่า ไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำที่ยิ่งใหญ่และมีประสบการณ์จัดการน้ำในประเทศนานกว่า 60 ปี คือ “ในหลวงของเรา” พระองค์ทรงรู้และเชี่ยวชาญเรื่องน้ำประดุจแผนที่ใน “ฝ่ามือ” หากแต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครรับแนวพระราชดำริไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม แม้พระองค์จะทรงเน้นย้ำเรื่องน้ำมาตลอดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

รัฐบาลต้องตระหนักและต้องจำแนกให้ออกในเรื่องการช่วยเหลือทางวิชาการ กับการช่วยเหลือที่มีนัยซ่อนเร้นแอบแฝง

หากจำกันได้ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของต่างประเทศและองค์กรนานาชาติมัก “แฝงเร้น” บ้างก็มีการ “ลักไก่” สอดแทรกเงื่อนไขที่ทำให้ “คนไทย-ประเทศไทย” เสียประโยชน์

ในอดีตที่เอดีบีเข้ามาศึกษาเรื่องน้ำในไทย และเสนอว่า หากรัฐบาลลงทุนสร้างเขื่อน ทำคลองชลประทานให้เกษตรกรใช้น้ำฟรี จะทำให้มีการใช้น้ำสิ้นเปลืองและขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นต้องมีการปฏิรูประบบชลประทานชุดใหญ่ในประเทศ

นำไปสู่ข้อเสนอการเก็บ “ค่าน้ำ” จากเกษตรกร และการให้กรรมสิทธิ์เอกชนในการเป็นเจ้าของน้ำเช่นเดียวกับ “โฉนดที่ดิน” ที่ซื้อขายกันได้

บ้างเกินเลยไปถึงขั้นให้บริษัทต่างชาติเข้ามาผูกขาดในกิจการบางอย่าง เช่น กรณีรัฐบาลเปิดทางให้ “ดูไบเวิลด์” ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือทวายแทนท่าเรือปากบารา และสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดยดูไบเวิลด์ออกเงินศึกษาทั้งหมด แต่ต้องให้สิทธิบริษัท “ผูกขาด” การขนส่งน้ำมันผ่านท่อ

เมื่อถูกต่อต้านหนัก โครงการนี้ก็ต้องล้มเลิกไป

หรือกรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดประมูลให้เอกชนมาลงทุนสร้าง “ไซโล” แต่พ่วงด้วยการให้บริษัทที่ชนะประมูลผูกขาดการเป็น “ตัวแทน” ข้าวไทยให้รัฐบาล 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งบริษัทที่ชนะการประมูลครั้งนั้น คือ บริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) เมื่อมีการตรวจสอบว่าประเด็น “ฮั้วประมูล” สัญญาถูกยกเลิก แต่ก็ไม่หา “คนผิด” ไม่ได้

แต่ตัวอย่างความสำเร็จที่นักลงทุนต่างชาติใช้วิกฤตของไทยเป็นโอกาสก็มีให้เห็น โดยยื่นข้อเสนอช่วยเหลือที่แฝงด้วยผลประโยชน์ระยะยาว โดย “ผู้รับผิดชอบ” ฝ่ายไทยทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

กรณีวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ธนาคารนครธน ต้อง “ล้ม” จากวิกฤตครั้งนั้น กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าไปอุ้ม ก่อนจะตัดสินใจขายให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ลงเงินถือ “หุ้นใหญ่” และผูกติดในสัญญาการขาย ได้ทั้งค่าบริหารกิจการธนาคารเป็นรายปี ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และกินส่วนแบ่งจากการขายทรัพย์สินในฐานะผู้ถือหุ้นข้างมาก

แม้สุดท้ายธนาคารนครธนจะเปลี่ยนมือไปเป็นของ “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” แต่ตรงนี้ถือเป็นสัญญาที่อัปยศยิ่งในการขายกิจการสถาบันการเงิน

หากรัฐบาลไม่ตระหนักในเรื่องการช่วยเหลือกับการใช้โอกาสนี้ขุดทอง คนไทยอาจต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องสิทธิพิเศษที่รัฐบาลต้องเปิดให้เป็นใบผ่านทางให้กับผู้ให้การช่วยเหลือ

แต่ในมุมมอง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กลับมองว่า เงินลงทุนฟื้นฟูประเทศครั้งนี้ เราไม่ได้กู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงไม่น่าจะมีการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ไทยต้องเสียเปรียบ และแม้แต่ประเทศ หรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือไทยครั้งนี้ ก็ต้องช่วยแบบไม่มีเงื่อนไข

“จะเสียเปรียบหรือไม่เสียเปรียบอยู่ที่เราเลือก ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอะไร จากที่ไหน และส่วนใหญ่ต่างประเทศที่เข้ามาตอนนี้ก็เข้ามาด้วยหลักมนุษยธรรม ช่วยเหลือแบบให้เปล่า ส่วนถ้าจะมีเงื่อนไข ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะให้สัมปทานอะไรกับเขาแน่ อย่างญี่ปุ่นที่ให้เรากู้เงิน เขาก็ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อของของเขา” อาคม กล่าว

อาคม ย้ำว่าทุกอย่างอยู่ที่เรา อย่างกรณีที่บริษัท ดูไบเวิลด์ มาศึกษาการสร้างท่าเรือปากบาราเขาก็มีเงื่อนไขแต่ไทยไม่รับ และมีมติ ครม.ออกมาว่า การให้ความช่วยเหลือใดๆ จากต่างประเทศ จะต้องไม่มีเงื่อนไขใดพ่วงมาด้วย

หากมีการเดินหน้าโครงการ ก็ต้องมาประมูลงานแข่งกัน

ขณะที่ สศช.ก็จะดูเรื่องนี้ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครเสนออะไรเข้ามา

“ทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาลเราจะตัดสินใจ” อาคม ทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับ ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช. ระบุว่า “ระดับหนี้สาธารณะของไทยที่อยู่ที่ระดับ 40% ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องง้อให้ใครมาลงทุนโดยมีเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายไทย ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลต้องระมัดระวังเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็ระวังตัวด้วยกันทั้งหมด ผมมองว่าอย่างนี้”

นอกจากนี้ บทบัญญัติมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า สัญญาใดที่มีผลผูกพันกับประเทศ ต้องเสนอให้สภาพิจารณา น่าจะตรวจสอบและป้องกันไม่ให้มีการสร้างเงื่อนไขใดที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ

จึงได้แต่หวังว่า ภายใต้การลงทุนครั้งใหญ่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในหลากหลายชื่อ “New Thailand” หรือ “ReBuilt Thailand” จะไม่มีการสร้างเงื่อนไขที่เปิดทางให้ใครเข้ามา “ผูกขาด” กิจการของประเทศ ผ่านระบบการให้สัมปทาน หรือสัญญาที่เสียเปรียบไปชั่วลูกชั่วหลาน

เพราะสิทธิพิเศษเหล่านี้เป็น “ขุมทรัพย์” ที่เป็น “ทองคำที่ซ่อนอยู่ในน้ำเน่า” และมีมูลค่ามากกว่าเงินฟื้นฟูบูรณะประเทศและเงินลงทุนสร้างประเทศมากนัก