posttoday

เข็มทิศเฟดยังสับสน ขึ้นดอกเร็วถอนกระตุ้นช้า?

22 กุมภาพันธ์ 2553

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างปัจจุบันทันด่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นับเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นปริศนาที่ทุกฝ่ายรอให้นายเบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการเฟด ชี้แจง

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างปัจจุบันทันด่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นับเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นปริศนาที่ทุกฝ่ายรอให้นายเบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการเฟด ชี้แจง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างปัจจุบันทันด่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นับเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นปริศนาที่ทุกฝ่ายรอให้นายเบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการเฟด ชี้แจงถึงสาเหตุเบื้องหลังอย่างแจ่มชัดกับสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ อย่างน้อยก็เพื่อชี้ทางให้นักลงทุนคลายความกังวล ที่อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นความตื่นตระหนก

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นวอลสตรีตกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียตอบรับด้วยการสงวนท่าที แต่วอลสตรีตกลับรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลายและยินดีปรีดาในระดับหนึ่ง

 

เข็มทิศเฟดยังสับสน ขึ้นดอกเร็วถอนกระตุ้นช้า? เบน เบอร์แนนคี

ปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน เป็นผลมาจากมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่เฉพาะแต่นักลงทุนเท่านั้น แม้แต่เฟดยังอาจเผชิญกับความเห็นตรงกันข้ามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลและสภาคองเกรส

ฝ่ายหนึ่งมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่พร้อมกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจำเป็นต้องได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดขีดต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูงมาก มิหนำซ้ำยังมีท่าทีที่จะถีบตัวสูงขึ้นต่อไป

แต่อีกฝ่ายกลับมองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยหลัก แต่เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานหรือ Discount Rate ที่เฟดเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ที่ขอกู้ยืมเงิน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยประเภทนี้ ก็เพื่อเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์หันมากู้เงินกันเอง ซึ่งการทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการบอกเป็นนัยว่า ระบบการเงินฟื้นตัวในระดับหนึ่งแล้ว

สำหรับประเด็นแรก เฟดตกเป็นเป้าโจมตีอย่างรุนแรงว่า หมกมุ่นกับปัญหาเงินเฟ้อมากเกินไป จนรีบร้อนขึ้นดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร ทั้งๆ ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคช่วงเดือนม.ค. ขยับขึ้นมาเพียงเล็กน้อยที่ 0.2% จากเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ดัชนีราคาสินค้าหลัก หรือสินค้าจำเป็นยังปรับลดลงอย่างเหนือความคาดหมายที่ 0.1%

แต่เฟดยืนยันว่า ปัญหาว่างงานและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นภารกิจอันดับต้นๆ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Discount Rate ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อคุมเงินเฟ้อ แต่เพื่อเปิดทางให้ระบบการเงินเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง โดยปราศจากการแทรกแซงจากเฟด

สำหรับฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่มีปัญหากับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบสายฟ้าแลบของเฟด ชี้ว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วสำหรับการถอนตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าเงื่อนไขของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป แต่แต่ละประเทศสามารถตัดสินใจใช้วิธีการถอนตัวที่เหมาะสมและมีระดับความหนักหน่วงที่แตกต่างกันออกไป

การเลี่ยงไปขึ้นดอกเบี้ย Discount Rate ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของสหรัฐที่ยังระแวงปัญหาคนตกงานพร้อมๆ กับปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งที่ระบบการเงินเริ่มพยุงตัวเองขึ้นมาได้บ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะให้เหตุผลที่เป็นตรรกะมากเพียงใด แต่ความเห็นของ 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ย และฝ่ายที่เห็นด้วย ยังเป็นความเห็นที่ยากที่จะประสานให้ลงรอยกันได้ในระยะเวลาอันใกล้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

นายวิลเลียม ดัดลีย์ ผู้ว่าการเฟด สาขานิวยอร์กให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับความไม่ลงรอยนี้ว่า “ควรมองว่า (การขึ้นดอกเบี้ย) เป็นมาตรการปรับสมดุลสุดท้ายของมาตรการกระตุ้นสภาพคล่องทั้งหมดที่เคยมีมา และควรคิดว่านี่คือมาตรการสุดท้ายของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่มาตรการแรกของแผนการใหม่ทางการเงิน”

ทัศนะเช่นนี้นับว่ายอดเยี่ยมสำหรับประนีประนอมความเห็นที่แตกต่าง เพื่อสกัดกั้นความสับสนอลหม่านของตลาด แต่ยังนับว่าไม่มากพอ เพราะเจตนาที่แท้จริงของฝ่ายที่สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้อยู่ที่การตัดสินในครั้งนี้

เพราะครั้งนี้ เฟดไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก (Fed Fund Rate) หรือไม่ หรือเมื่อไร

นักลงทุนในตลาดใช้วิธีคาดเดามานานเกินไปแล้ว ว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด แม้กระทั่งขณะนี้นักลงทุนก็ยังอาศัยดัชนีดอกเบี้ยล่วงหน้าเป็นตัวชี้วัดความเป็นไปได้ในอนาคต โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยหลักมีโอกาสที่จะปรับขึ้น 70% ก่อนปลายเดือนก.ย.นี้ จากดัชนีเดิมที่ 54%

กระนั้นก็ตาม โอกาสที่มากขึ้น 70%ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันความแน่นอนได้มากนัก พิจารณาจากการตัดสินใจแบบสายฟ้าแลบของเฟด สามารถเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า เฟดเริ่มที่จะเก็บงำท่าทีมากขึ้น จากที่แต่เดิมมักแย้มพรายให้ตลาดพอจับทางได้บ้าง

ไม่เพียงเท่านั้น ความเห็นของผู้ว่าการเฟดสาขาต่างๆ ยังแตกต่างกันอย่างไม่อาจประมวลแนวโน้มได้ ตัวอย่างเช่น ถ้อยคำของนายเจมส์ บูลลาร์ด ผู้ว่าการเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ที่ชี้ว่า กระแสคาดการณ์ในตลาดที่มุ่งหมายจะให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักในปีนี้เป็นเรื่องที่เกินความเป็นจริง เพราะแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ปีหน้า

ขณะที่แถลงการณ์ของเฟดกลับบอกเป็นนัยถึงการถอนตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังที่ระบุว่า “เช่นเดียวกับการยุติโครงการด้านสินเชื่อจำนวนหนึ่งในช่วงต้นเดือนนี้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อปรับกลไกการกู้ยืมของเฟดให้เป็นปกติ”

พิจารณาจากท่าทีหลอกล่อเช่นนี้พอจะเปรียบเทียบได้ว่า เฟดกำลังเลียนแบบยุทธวิธีสายฟ้าแลบ และปั่นกระแสด้านตรงข้ามของธนาคารกลางบางแห่ง เช่น ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ที่นำวิธีนี้มาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสเก็งกำไรครอบงำตลาดมากเกินไป
ท่าทีที่กำกวมของเฟดจะส่งผลต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆ หรือไม่?

ดังที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก แม้ว่าจะเผชิญกับวิกฤตในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะเกี่ยวพันกับประเทศอื่นๆ น้อยลง

ดังจะเห็นได้จากกรณีของญี่ปุ่นที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้ว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดจะทวีความรุนแรงขึ้นก็ตาม

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีความเป็นไปได้น้อยกว่าญี่ปุ่น เนื่องจากภาวะการฟื้นตัวไม่เพียงเชื่องช้าและลุ่มๆ ดอนๆ กว่าสหรัฐเท่านั้น แต่ยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากปัญหางบประมาณขาดดุลมหาศาลของสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หลายประเทศ โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรีซ

แม้จะมีความแตกต่างกันด้านเงื่อนไขของสภาพเศรษฐกิจ จนทำให้นโยบายอัตราดอกเบี้ยยิ่งเป็นเอกเทศจากกันมากขึ้น แต่ท่าทีใดๆ จากเฟดยังส่งผลสะเทือนต่อตลาดทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างน้อยก็เป็นเข็มทิศให้เราได้จับทางได้ว่า เศรษฐกิจโลกยังอยู่ที่ก้นเหว หรือกำลังก้าวขึ้นสู่ยอดเขาอย่างช้าๆ