posttoday

หาตัวช่วยก่อนจมน้ำ

09 พฤศจิกายน 2554

หลังเจอวิกฤตอุทกภัยซัดจน “รัฐนาวายิ่งลักษณ์” แทบจมน้ำไปด้วย ก็ได้ฤกษ์ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด

หลังเจอวิกฤตอุทกภัยซัดจน “รัฐนาวายิ่งลักษณ์” แทบจมน้ำไปด้วย ก็ได้ฤกษ์ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด

โดย...ทีมข่าวการเมือง

หลังเจอวิกฤตอุทกภัยซัดจน “รัฐนาวายิ่งลักษณ์” แทบจมน้ำไปด้วย ก็ได้ฤกษ์ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด กระชับอำนาจการบริหารในภาวะวิกฤตขึ้นมา

ชุดแรก เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) มี “วีรพงษ์ รามางกูร” เป็นประธานกรรมการ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองประธานกรรมการ

ส่วนกรรมการที่น่าสนใจ ประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ กิจจา ผลภาษี ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ วิษณุ เครืองาม ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ชุดสอง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ประธานกรรมการไม่ปรากฏชื่อ แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หรือรองนายกฯ จะมอบหมาย ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย คนในรัฐบาล นักวิชาการ อดีตข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำ และผู้เชี่ยวชาญดินฟ้าอากาศ ทั้งที่ทำงานใน ศปภ. และนอก ศปภ. เช่น กิจจา ผลภาษี ปราโมทย์ ไม้กลัด ปลอดประสพ สุรัสวดี ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รอยล จิตรดอน รัชทิน ศยามานนท์ สมิทธ ธรรมสโรช เป็นต้น โดยมี สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา

หาตัวช่วยก่อนจมน้ำ

การตั้งคณะกรรมการระดับชาติเป็นรูปแบบการบริหารของทุกรัฐบาลในยามเผชิญวิกฤตศรัทธาที่จะดึง “คนนอก” มาร่วมทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภารกิจที่รัฐบาลมอบหมาย

อย่างไรก็ตาม “คนนอก” ที่มาร่วมงาน ลึกๆ ไม่ได้ต้องการช่วยรัฐบาลฝ่ายเดียว หลายคนที่ร่วมเป็นกรรมการก็ไม่ได้จุดยืนชัดว่า สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่า วิษณุ เครืองาม ปราโมทย์ ไม้กลัด หรือ สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

แต่การให้เกียรติเข้าร่วมงานของรัฐบาล ด้านหนึ่งเพื่อต้องการใช้โอกาสที่ได้รับมอบหมายวางระบบเพื่อฟื้นฟูแก้ปัญหาประเทศ และปฏิรูประบบน้ำในระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างที่เห็น

สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังเจอวิกฤตเสื้อแดงก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 45 ชุด ดึงนักวิชาการจำนวนมากมาร่วมขับเคลื่อนภารกิจผ่าทางตันวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง เช่น คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ดึง นพ.ประเวศ วะสี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ยังมี นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการชื่อดังเข้าร่วม และคณะกรรมการพิจารณาแก้ไข รธน. มี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน

การตั้งคณะกรรมการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนั้น ด้านหนึ่งก็ช่วยต่ออายุรัฐบาลที่กำลังซวนเซกับเหตุการณ์ม็อบเผาเมืองและทหารสลายเสื้อแดง 91 คน ทั้งที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ผลักดันข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำท่วมรัฐบาลนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ มาเกือบ 20 คณะ มีทั้งตั้งแล้วยุบและตั้งใหม่โดยอ้างว่า เป็นการตั้งคณะกรรมการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สะท้อนว่าการทำงานของรัฐบาลมีปัญหามากและไม่เป็นเอกภาพ

สถานการณ์ของรัฐบาลเวลานี้กำลังเมาหมัดกับปัญหาน้ำท่วม หลายคนยังไม่เชื่อกับตัวเอง เหตุใดต้องมาเจอกับวิกฤตตั้งแต่เริ่มเป็นรัฐบาล และเกิดความเสียหายรุนแรงกับประชาชนคนต่างจังหวัด กทม. เกือบ 10 ล้านคน ภาคธุรกิจที่นิคมอุตสาหกรรมยับเยินไปแล้ว 7 แห่ง กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและธุรกิจท่องเที่ยว

และไปๆ มาๆ เกิดกระแสไม่เอายิ่งลักษณ์ และเริ่มเรียกร้องให้ “เปลี่ยนตัวนายกฯ” สอดรับกับ กทม.

โพลล่าสุดที่ให้คะแนนยิ่งลักษณ์สอบตกเกือบทุกด้าน ไม่ว่าการตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาด ผลงานช่วง 3 เดือน ผลงานด้านเศรษฐกิจ

“ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ที่รัฐบาลดึงตัวมาช่วยครั้งนี้ไม่ใช่คนอื่นไกล ก่อนหน้านี้เป็นเต็งหนึ่งที่ทักษิณเคยทาบทามให้มาเป็นผู้นำทัพเพื่อไทยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเคยร่วมงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ ดร.โกร่ง ปฏิเสธ เพราะไม่อยากเป็นนายกฯ ในสถานการณ์ความขัดแย้งเกรงจะเสียชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าตัวเสนอความเห็นสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทยมาตลอด ไม่ว่าการตั้งกองทุนมั่งคั่ง การเสนอให้ผ่าตัดโครงสร้าง ธปท.กลับไปขึ้นตรงกับ รมว.คลัง

การเข้ามานั่งเก้าอี้ “ประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ” เป็นการเปิดหน้าครั้งแรกของ ดร.โกร่ง กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อกู้ศรัทธากลับคืนให้กับรัฐบาล เพราะความเชื่อมั่นที่มีต่อทีมเศรษฐกิจก็จมหายไปกับอภิมหาวารี โดยเฉพาะ “ขุนคลัง” ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง หากทำงานเข้าตาและเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับน้องสาวทักษิณได้ ก็อาจทอดสะพานให้กับ ดร.โกร่ง ในตำแหน่งนายกฯ ในอนาคตหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ดร.โกร่ง แถลงทันทีว่า ภารกิจ 1 ปีหลังจากนี้ จะทำเพื่อให้ความมั่นใจว่า ปีหน้าหากฝนตกอย่างนี้อีกก็จะต้องไม่เกิดปัญหาเหมือนปีนี้ และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และ 56 ปี จะต้องมีโครงการที่สำเร็จเรียบร้อย จะลงทุนเท่าไหร่ก็ต้องยอม เพราะความเสียหายเที่ยวนี้หนักหนาสาหัสมาก

ตัวช่วยอย่าง “ดร.โกร่ง” คือ ตัวช่วยของทักษิณไม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จมน้ำจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาล

ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลดึงตัวช่วยอย่าง “ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน” มาเป็นประธานกรรมการชุดคณะกรรมการอิสระเพื่อหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) นำร่องทำโมเดลรื้อ รธน. และปูทางสู่นิรโทษกรรม

สองภารกิจที่สำคัญฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดกับแก้ไข รธน.หลังน้ำลด ลำพังแต่ “รัฐบาลปู” ฝ่ายเดียวไม่สามารถผลักดันเดินหน้าประเทศได้อีกต่อไป จำเป็นต้องดึงเหล่าพันธมิตรทั้งหลายให้ช่วยออกแรงผลักดันแทน