posttoday

ยิ่งลักษณ์ ยิ่งแก้ ยิ่งแย่

04 พฤศจิกายน 2554

ออกอาการ “ลิงแก้แห” ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหยิง!!! ผ่านมาเกือบ 3 เดือน นายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาตุปัดตุเป๋ไป หนักขึ้นเรื่อยๆ

ออกอาการ “ลิงแก้แห” ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหยิง!!! ผ่านมาเกือบ 3 เดือน นายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาตุปัดตุเป๋ไป หนักขึ้นเรื่อยๆ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ออกอาการ “ลิงแก้แห” ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหยิง!!! ผ่านมาเกือบ 3 เดือน นายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาตุปัดตุเป๋ไป หนักขึ้นเรื่อยๆ ตามเสียงต่อว่าต่อขานทั้งจากชาวบ้านชาวช่องที่ต้องทนทุกข์กับสภาพน้ำท่วมขังมายาวนาน รวมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวกรุง ที่รัฐบาลไม่อาจปกป้องพื้นที่ไว้ได้อย่างที่เคยประกาศ

เดิมทีน้ำท่วมครั้งนี้มีความพยายามจะโยงให้เข้าใจว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” ที่ถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากพายุเนสาด ไห่ถาง นาลแก ประดังประเดเข้ามาแบบต่อเนื่อง จนส่งผลให้ระดับน้ำเหนือค้างอยู่ในพื้นที่มากเป็นประวัติศาสตร์ ยากจะทยอยระบายออกลงสู่ทะเลได้ทันท่วงที

แต่จนถึงวันนี้ ทั้งท่าที ความตั้งใจ แนวนโยบาย มาตรการรับมือที่ออกมา ล้วนแต่ตอกย้ำถึงความล้มเหลวในการ “บริหารจัดการ” แก้ปัญหาที่ยิ่งแก้ ยิ่งนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ แก้เท่าไหร่ก็ไม่จบสิ้น ที่สำคัญยังฉุดรั้งพาตัว “ยิ่งลักษณ์” เข้าไปติดอยู่ในวังวนปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งลักษณ์ ยิ่งแก้ ยิ่งแย่

 

ไล่ย้อนดูไปตั้งแต่นโยบายตั้งต้น “2P 2R” เตรียมตัว ป้องกัน แก้ปัญหารวดเร็ว และดูแลชดเชย มาจนถึง “บางระกำโมเดล” ที่มองกันว่าไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าแผนปกติ แต่กลับถูกขยายผลใช้ไปทั่วทุกพื้นที่

ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ลุกลามบานปลายด้วยสมมติฐานที่ว่ารัฐบาลประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าที่จะเกิดขึ้น จนทำให้การเตรียมการป้องกันน้ำเหนือก้อนใหญ่เป็นไปอย่างสะเปะสะปะไร้ระบบเอาจริงเอาจัง

จนปัญหาลุกลามหนักขึ้นถึงขั้นตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. แทนที่ศูนย์อำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ที่แต่งตั้ง ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ เป็นประธานแบกรับแรงเสียดทาน

แต่เอาเข้าจริง ศปภ. ในฐานะหน้าด่านสำคัญที่บูรณาการทุกภาคส่วนมาร่วมรับมือแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ไม่อาจแม้แต่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยข้อมูลที่กลับไปกลับมา ไปจนถึงการไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ

สถานการณ์น้ำท่วมหนักขึ้นเรื่อยๆ 5 ต.ค. ระดับน้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เกินระดับวิกฤต ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และลุกลามมาถึงนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ สร้างความเสียหายนับแสนล้านบาท

การประเมินสถานการณ์ผิดครั้งนั้น นำไปสู่การแสดงออกว่าจะปกป้องรักษานิคมอุตสาหกรรมมากกว่าการประกาศแจ้งเตือน อพยพลำเลียงสิ่งของเครื่องจักรต่างๆ เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ต่างจากนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก 7 แห่ง ที่ทยอยท่วมไล่ตามมา

ทว่า... ท่าทีของรัฐบาลยังแสดงความมั่นใจต่อการรับมือน้ำท่วมครั้งนี้เรื่อยมา จนน้ำเริ่มทะลักคันกั้นน้ำคลองรังสิตที่พัง ส่งผลให้น้ำท่วม กทม. ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.

คำนวณระยะเวลาจากวันที่ 522 ต.ค. รัฐบาลมีเวลากว่าครึ่งเดือนกับการรับมือมวลน้ำจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยการวางแผนระดมสรรพกำลังเร่งระบายไปทางตะวันตกหรือตะวันออก แต่ก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมายเมื่อมีปัญหาติดขัดรายพื้นที่

สุดท้ายสถานการณ์ย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ จน“ยิ่งลักษณ์” ออกมาแถลงยอมรับสถานการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า กทม.ชั้นในมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมในวันที่ 25 ต.ค. หลังจากที่เคยประกาศจะปกปักรักษาพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจให้พ้นน้ำท่วม

จนถึงวันนี้สถานที่สำคัญต่างๆ ถูกน้ำท่วมกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นพระบรมมหาราชวัง กองทัพอากาศที่ต้องขนย้ายเครื่องบินหนีน้ำ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ที่ต้องขนยุทโธปกรณ์หนีน้ำไป จ.กาญจนบุรี ไปจนถึงที่ตั้งของศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

แม้แต่สนามบินดอนเมือง สถานที่ตั้ง ศปภ. ที่มั่นใจนักหนาว่าน้ำจะไม่ท่วม แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านทานแรงน้ำ จนต้องย้ายมาที่ตึก ปตท. ซึ่งกำลังถูกมวลน้ำไล่กระชับพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ จนต้องเสริมถนนเตรียมความพร้อมสถานการณ์ที่น้ำเริ่มไหลเข้าสู่ใจกลางกรุงขึ้นทุกที

หลายต่อหลายจุดตามคันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ที่มีปัญหาเรื่องการเปิดการปิดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างคนต้นน้ำกับปลายน้ำ ยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ตก และส่งผลให้ลุกลามบานปลายเรื่อยๆ ยังไม่รวมถึงปัญหาความล่าช้าในการเข้าไปแก้ไข ที่มองว่าตั้งรับน้ำที่จะมาแทนที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าและไปหาทางป้องกันอย่างทันท่วงที

จุดเสี่ยงอย่างประตูน้ำคลองสามวาที่กำลังชุลมุนวุ่นวายกับมวลชนที่ออกมากดดันการเปิดน้ำ ที่งัดกันไปงัดกันมาระหว่างประชาชนในพื้นที่กับความพยายามปกปักรักษา “นิคมอุตสาหกรรมบางชัน” ที่ตั้งโรงงาน 93 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ปัญหานี้ลุกลามยืดเยื้อจน “ยิ่งลักษณ์” ต้องมาบัญชาการด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ข้อยุติเด็ดขาด ยังคงมีการต่อรองขอเปิด ขอหรี่ประตูนี้ไม่จบสิ้น

ยังไม่รวมกับปัญหาการจัดการในเรื่องระบบให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง มีการเล่นพรรคเล่นพวกให้กับคนบางสี บางพื้นที่ จนถึงปัญหาของบริจาคตกค้างที่ลอยน้ำประจานอยู่ที่สนามบินดอนเมือง

ในขณะที่พื้นที่รอบๆ กทม.น้ำเริ่มท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายพื้นที่น้ำท่วมค้างเดิมตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ฯลฯ ยังกลับไม่มีวี่แววว่าจะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ แม้ฝนจะหยุดตกไปได้สักพัก ช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดผ่านไปแล้ว

ปัญหา “น้ำท่วม” ยังไม่คลี่คลาย ปัญหาใหม่อย่าง “น้ำเน่า” เริ่มเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่จะลุกลามไปถึงโรคระบาดที่สุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสียอีกมากมาย

สิ่งที่ทำได้เวลานี้ยังเป็นเพียงแค่การบรรเทาอาการด้วยการเร่งผลิตอีเอ็มบอลไปหย่อนกระจายแต่ละพื้นที่ดังจะเห็นจากที่ “ยิ่งลักษณ์” ลงพื้นที่ดอนเมือง วัดไผ่เหลือง ตลาดโกสุมรวมใจ ชุมชนสรงประภา 7 ที่น้ำเริ่มเน่าส่งกลิ่นแล้ว พร้อมนำอีเอ็มบอลไปหย่อนลงน้ำ

นี่แค่ส่วนหนึ่งของปัญหาใหม่ๆ ที่ตามมาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด และไม่รู้ว่าจะมีปัญหาใดๆ เพิ่มเข้ามาอีกในช่วงอย่างน้อย 1 เดือน กว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่สภาวะปกติ