posttoday

คลองสามวา จุดน็อกรัฐบาลปู

03 พฤศจิกายน 2554

เป็นไปตามคาด “นิคมอุตสาหกรรมบางชัน” เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กำลังเป็นอีกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

เป็นไปตามคาด “นิคมอุตสาหกรรมบางชัน” เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กำลังเป็นอีกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เป็นไปตามคาด “นิคมอุตสาหกรรมบางชัน” เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ กำลังเป็นอีกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นผลจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สั่งให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวามากกว่าเดิม

หากนิคมอุตสาหกรรมบางชันยันน้ำไม่อยู่ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 8 ที่จมน้ำ โดยนิคมฯ แห่งนี้มีมูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท มีโรงงาน 93 แห่ง แรงงาน 1.4 หมื่นคน

ถ้าเป็นช่วงแรกที่น้ำเหนือเริ่มไหลเข้า จ.พระนครศรีอยุธยา จนเข้าท่วม นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ฯลฯ ก็เหนือกำลังที่จะต้านอยู่ แต่กรณี “นิคมอุตสาหกรรมบางชัน” แตกต่างไป เพราะผู้บริหาร กทม. ทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. และ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาเตือนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลยกประตูระบายน้ำคลองสามวาขึ้นในระดับ 1 เมตร ตามแรงกดดันของชุมชน จะเกิดผลกระทบมากและรุนแรงกว่าเดิม

คลองสามวา จุดน็อกรัฐบาลปู

กรุงเทพฯ จะท่วมทุก 50 เขต ไม่ใช่ 19 เขต ที่จะมีโอกาสรอด โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในที่รับน้ำจากคลองสามวา 3 เขตแรก คือ บางกะปิ สะพานสูง และบึงกุ่ม มีความเสี่ยงจมน้ำสูง

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เคยประกาศว่า จะต้องรักษากรุงเทพฯ ชั้นในไว้ให้ได้ เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศ และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ รวมถึงจะปกป้องไม่ให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมที่ยังเหลือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

แต่การยอมเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นคนเซ็นอนุมัติเอง กลับเป็นการปฏิบัติที่ตรงกันข้าม

ต้นเหตุที่ชุมชนริมคลองและละแวกใกล้เคียงก่อม็อบเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำ เนื่องจากเกิดความเครียดสูงที่ต้องทนอยู่กับน้ำมาร่วมเดือน ไม่มีใครมาช่วยเหลือ หรืออธิบายว่า น้ำจะท่วมอีกเท่าไหร่ จึงหวังว่าการเปิดประตูน้ำจะช่วยถ่ายน้ำไปด้านล่าง บรรเทาน้ำที่ท่วมขังได้บ้าง

การกดดันของชาวบ้านครั้งนี้ มี 2 สส.พรรคเพื่อไทย คือ วิชาญ มีนชัยนันท์ จากเขตมีนบุรี และ จิรายุ ห่วงทรัพย์ จากเขตคลองสามวา มาร่วมไกล่เกลี่ยและสนับสนุนชาวบ้าน ก่อนจะใช้อำนาจ สส.เปิดประตูระบายน้ำ 1 เมตรทันที

ทั้งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ทราบข้อตกลงระหว่าง สส.เพื่อไทย กับชาวบ้าน โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องนี้จบแค่ 80 ซม. จากเดิมอยู่ที่ 70 ซม. แต่ที่สุดก็ยอมเซ็นให้เปิด 1 เมตร

ชาวบ้านรายหนึ่งที่ร่วมประท้วง “ลาวัลย์ สังข์ศิลปะไชย” ให้สัมภาษณ์ โพสต์ทูเดย์ ก่อนหน้านี้ถึงสาเหตุที่ต้องออกมาชุมนุมว่า ได้ร้องเรียนไปหลายที่ แต่ไม่มีใครมาช่วย

“เคยโทรศัพท์ไปที่สำนักงานเขตคลองสามวา และหมายเลข 1111 กด 5 หรือแม้กระทั่งโทร.หา จิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.ในพื้นที่ ก็แค่รับเรื่องไว้ ไม่ได้เข้ามาช่วยอะไร เวลาหาเสียงแม้แต่ลูกสาววัย 5 ขวบ เขายังยกมือไหว้ พอเกิดเหตุกลับไม่เห็นใครลงมาดูแลเลย”

ชุมชนริมคลองแห่งนี้ต้องอยู่ในความเดือดร้อนทั้งการยังชีพ ขาดแคลนอาหารการกิน สะท้อนความเครียดที่ระบายออกมา กระทั่งร้องผ่านนักการเมืองในพื้นที่ ซึ่งเป็น สส.พรรคเพื่อไทยและอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ จนต้องรวมตัวประท้วง ปิดถนน เปิดศึกกับตำรวจ เพื่อบีบให้เปิดประตูระบายน้ำ โดยเชื่อว่าน้ำที่ท่วมขังมานานจะลดลงได้บ้าง

ปัญหาที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึง จิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.เพื่อไทย เขตคลองสามวา ก็ยอมรับว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจริง แต่โยนว่า กทม.ไม่ยอมดูแล เช่น เรื่องถุงยังชีพ ผู้อำนวยการเขตแจ้งว่า ได้รับมาเพียง 200 ถุง จึงได้โทรศัพท์แจ้งนายกฯ ผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปแล้ว

ถ้ารัฐบาลมีคำชี้แจง และดูแลปัญหาความเดือดร้อนให้ทั่วถึง อธิบายถึงค่าชดเชยที่จะได้รับ ก็อาจลดความเครียดชาวบ้านลงได้ จนเกิดเหตุม็อบ ไม่เฉพาะที่คลองสามวาเท่านั้น แต่ลุกลามในหลายพื้นที่ก่อนหน้า และยังบานปลาย ทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยง

แต่ท่าทีของสอง สส.เพื่อไทย “วิชาญจิรายุ” กลับถล่มไปที่ กทม. จิรายุ ระบุว่า กทม. ไม่เคยมาเจรจากับชุมชนแห่งนี้ และไม่อยากให้ กทม. ปกป้องนิคมอุตสาหกรรมบางชันมากเกินไป เพราะหากไม่ได้รับคำตอบที่ดี ประชาชนก็จะปิดถนนต่อไป และอาจลุกฮือพังประตูระบายน้ำได้

คำสั่งของยิ่งลักษณ์ให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาจึงเป็น “ใบเสร็จ” ชิ้นดี เพราะหากนิคมอุตสาหกรรมบางชันจมน้ำ หรือกรุงเทพฯ ชั้นในที่ กทม.ประเมินสถานการณ์ว่า 20 เขตอาจจะรอด เพราะมีปัจจัยบวกเกิดขึ้น เช่น การระบายน้ำทางตะวันออกเริ่มทำได้ดี ถ้าที่สุดแล้วฝั่งบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม จมลึกกว่าที่คิด ก็จะเป็นหลักฐานว่านี่คือ ความผิดพลาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่นำมาสู่การฟ้องร้องเอาผิดเรียกค่าเสียหายได้

กระนั้นหลังจากเดินแต้มผิด ฝ่ายเพื่อไทยจึงออกมาปัดพัลวัน วิชาญ บอกว่า ไม่ได้เป็นคนปลุกม็อบ แต่มีมือที่สามมาสร้างสถานการณ์ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานประสานฝ่ายปฏิบัติการระบบระบายน้ำ กทม.และ ศปภ. ก็เตรียมเสนอนายกฯ สั่งการให้ กทม.ตั้งคันกั้นน้ำที่บริเวณถนนหทัยราษฎร์ บริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) คลองสามวา โดยให้เหตุผลว่า เพราะปริมาณน้ำที่บ่ามาจากคลองสอง ผ่านประตูคลองสามวามีมาก หากไม่ตั้งคันดังกล่าว แม้ว่าจะซ่อมประตูระบายน้ำ ก็จะไม่มีประโยชน์ เพราะจะทำให้ไม่สามารถคุมปริมาณน้ำที่ไหลไปลงคลองแสนแสบได้ จะส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมบางชันได้

ส่วนนายกฯ ยิ่งลักษณ์กลับลำ 360 องศา เมื่อรู้ว่า น้ำเริ่มกระทบนิคมอุตสาหกรรมบางชัน หลังเปิดประตูน้ำคลองสามวา 1 เมตร ก็อ้างว่าเป็นน้ำที่มาจากท่อระบายน้ำ ไม่ได้ไหลมาจากประตูระบายน้ำคลองสามวา แต่ยอมรับว่านิคมอุตสาหกรรมบางชันจะได้รับผลกระทบบ้าง และถ้าแก้ไขปัญหาหูประตูระบายน้ำคลองสามวาเสร็จ สถานการณ์จะคลี่คลาย จนล่าสุดในช่วงเย็นวานนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แจ้งข่าวว่า รัฐบาลเปลี่ยนท่าทียอมให้ กทม.เป็นผู้ตัดสินใจในการลดระดับประตูระบายน้ำคลองสามวา

ปรากฏการณ์ คลองสามวา แม้จะเป็นจุดเล็ก แต่นี่คือความผิดพลาดใหญ่หลวงในการแก้วิกฤตน้ำท่วมของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ตัดสินใจไม่เด็ดขาด กลับไปกลับไปมา สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพียงเพื่อทำตามแรงกดดันของกลุ่มพวกตัวเอง