posttoday

โลกสวดรัฐไทย สางปมน้ำท่วม ยิ่งแก้...ยิ่งทะลัก!

19 ตุลาคม 2554

โลกต้องหันกลับมาจับตาไทยอย่างใกล้ชิดและจริงจังอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

โลกต้องหันกลับมาจับตาไทยอย่างใกล้ชิดและจริงจังอีกครั้ง ภายหลังจากที่การเมืองของประเทศเริ่มมีเสถียรภาพได้ไม่นานนัก

เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ใช่ปมประเด็นขัดแย้งทางการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของปริมาณมวลน้ำมหาศาลที่ไหลเชี่ยวกรากเข้าท่วมพื้นที่ประมาณ 400 เอเคอร์ (ราว 1,011.6 ไร่) หรือบริเวณ 60 จังหวัดของประเทศไทย

เรียกได้ว่าเป็นเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมที่หนักหนาสาหัสมากที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งทำให้มีประชาชนทั่วประเทศเสียชีวิตแล้วมากกว่า 300 คน และนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานหลักๆ ของบริษัทชั้นนำของโลกต้องปิดตัวไปแล้วถึง 5 แห่ง

ประเด็นที่ทั่วโลกสนใจและสะท้อนให้เห็นจากการรายงานของสื่อต่างชาติไม่ได้อยู่ที่ความร้ายแรง หรือความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่อยู่ที่ระบบการบริหารจัดการของรัฐบาลไทย ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่ว่าจะมองด้วยใจเป็นกลางอย่างไร บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็อดที่จะส่ายหน้ารับไม่ได้กับความไม่พร้อม ไม่เป็นมืออาชีพของรัฐบาลไทย

โลกสวดรัฐไทย สางปมน้ำท่วม ยิ่งแก้...ยิ่งทะลัก!

 

วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมของไทยทวีความเลวร้ายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับมือของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้เอง

ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ระบุตรงกันว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ การจัดการข้อมูลข่าวสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม

พูดให้ง่ายก็คือว่า การแจ้งข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมของรัฐบาลไทยค่อนข้างมั่ว ไม่เป็นระเบียบ เอาแน่เอานอนไม่ได้ และไร้ความเที่ยงตรงแม่นยำ ข้อมูลที่กระจัดกระจายส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศตระหนกตกใจเพราะข้อมูลข่าวสารที่ได้มาแบบผิดๆ

และไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ตื่นกลัว เนื่องจากผู้ประกอบการชาวต่างชาติหลายรายก็ตกอยู่ในสภาพหลอนผวาจากเหตุการณ์น้ำท่วม จนต้องสั่งปิดโรงงานกันเป็นทิวแถวเพื่อรอดูสถานการณ์ แม้ว่าที่ตั้งของโรงงานจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า

วอลสตรีต เจอร์นัล ชี้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดการข้อมูลได้ เป็นเพราะความขัดแย้งภายในของรัฐบาลระหว่างรัฐบาลประชานิยม ข้าราชการสายอนุรักษนิยม และผู้นำทหารยังคงมีอยู่ เพียงแต่ไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเท่านั้นเอง

แน่นอนว่าการที่รัฐบาลไทยจัดตั้งศูนย์บัญชาการ (วอร์รูม) เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ไว้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและน่าชื่นชม

และในทางทฤษฎีแล้วการมีศูนย์บัญชาการแห่งเดียวในภาวะวิกฤตเช่นนี้ จะช่วยให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์มีอำนาจในการสั่งงานได้ง่ายขึ้น

ทว่าในความเป็นจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลต้องสะดุด ต่างฝ่ายต่างทำงาน แทนที่งานจะสอดคล้องไปด้วยกัน ก็เป็นการประสานงานที่ขัดแย้งกันเอง

ปัญหาต่อมาก็คือ วิกฤตความเป็นผู้นำของรัฐบาลไทยที่ไม่รู้ว่าอะไรสมควรจะจัดการก่อนหลัง

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิเคราะห์จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยรับทราบเรื่องวิกฤตน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว แต่ไม่ได้ลงมือป้องกันจริงจัง

เมื่อถึงเวลาน้ำมา การเตรียมการจัดการรับมือแก้ไขจึงกลายเป็นความโกลาหล ยิ่งเมื่อสถานการณ์เริ่มกระชั้นเข้าใกล้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครเข้ามาทุกขณะ ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันของบรรดาผู้นำประเทศของไทยก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมือให้ความช่วยเหลือได้เต็มที่ แต่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์กลับกังวลว่าหากประกาศออกไปจะทำให้นักท่องเที่ยวกลัวไม่กล้าเข้ามาเที่ยวเมืองไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

แน่นอนว่าความลังเลเอาแน่เอานอนไม่ได้ของรัฐบาลไทย ทำให้บรรดาธุรกิจห้างร้านหวั่นใจว่าวิกฤตในครั้งนี้จะเดินหน้ากินเวลายาวนานเท่าไร และความเสียหายจะเกิดขึ้นมากแค่ไหน

เห็นได้จากการที่บริษัท ฮอนด้า โตโยต้า โซนี่ นิคอน คาสิโอ และผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น ต่างพร้อมใจบ่นออกมาให้ได้ยินกันชัดว่า “ไม่ได้ข้อมูลอะไรจากรัฐบาลไทยเลย ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือรู้แต่ไม่มีข้อมูล รวมถึงระยะเวลาเพียงพอที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อไป และไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นถูกต้องเที่ยงตรงหรือไม่”

ขณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า มีแผนแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะยาว

ทว่าในท่ามกลางวิกฤตหนักสุดเช่นกัน สิ่งที่รัฐบาลเลือกทำกลับเป็นการเดินหน้าอนุมัติการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้มีผลบังคับใช้ในกรุงเทพฯ รวมถึงพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่าง จ.พระนครศรีอยุธยา ภายในเดือน เม.ย. 2555

การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นสิ่งที่หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจชื่อดังของโลก อย่างไฟแนนเชียล ไทมส์ มองว่า แม้จะช่วยเลี้ยงปากท้องประชาชนคนธรรมดาได้ แต่จะสร้างปัญหาปวดหัวให้กับโรงงานกว่า 1,000 โรง ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ที่จะต้องได้ใช้เงินมหาศาลไปกับการฟื้นฟูสภาพโรงงาน

แน่นอนว่าในที่สุดก็จะผลกระทบต่อการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะซบเซา

จุน ทรินิแดด นักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้ แบงก์ คาดการณ์ว่า การขึ้นค่าจ้างจะผลักดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น ขณะที่ราคาอาหารเองก็จะแพงมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวได้รับความเสียหายอย่างหนัก

เรียกได้ว่าการขึ้นค่าจ้างไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากจะทำให้เกิดยุคข้าวยากหมากแพง ซ้ำเติมประชาชนมากไปกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกก็ยังต้องจับตามองไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากรัฐบาลไทยยังเหลืออีกหนึ่งบททดสอบสำคัญที่จะพิสูจน์ฝีมือ

นั่นก็คือแผนบรรเทาฟื้นฟูหลังจากที่ภัยน้ำท่วมได้ผ่านพ้นไป และเป็นสิ่งที่ทั้งประชาชนภายในประเทศกับนักลงทุนชาวต่างชาติต่างรอคอยด้วยความหวัง

ทั้งนี้ หากว่ารัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถเรียกศรัทธาจากประชาชน พร้อมๆ กับเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้

เมื่อนั้นไทยอาจจะเจอสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่าน้ำท่วมก็เป็นได้