posttoday

รัฐบาลปู หนีไม่พ้นต้องกู้ดะ

19 ตุลาคม 2554

คําสั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

คําสั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ไปดำเนินการพิจารณาออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินก้อนใหญ่มาฟื้นฟูวิกฤตน้ำท่วม เป็นหลักฐานมัดรัฐบาลว่าไม่มีกระสุนสำรองไว้ใช้ในยามที่เกิดวิกฤตที่คาดไม่ถึงเลย

แม้ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา จะไม่สามารถสรุปวงเงินกันได้ก็ตาม

ส่วนการมีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณปี 2555 ที่เป็นงบขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านบาท รวมเป็นงบขาดดุล 4 แสนล้านบาทนั้น วงเงินขาดดุลจำนวนดังกล่าวก็ไม่พอที่จะรับมือวิกฤตครั้งนี้

ทำให้หนีไม่พ้นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินจากในประเทศและต่างประเทศมาสมทบเร่งด่วนในการวางโครงสร้างประเทศ การกู้เงินจากการขาดดุลเพิ่มและการออก พ.ร.ก.ชุดนี้ ยังไม่รวมการหั่นงบประมาณรายจ่ายประจำมากองรวมกันอีก 10% หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลมีมติไปก่อนหน้านี้

รัฐบาลปู หนีไม่พ้นต้องกู้ดะ

 

ปฏิบัติการเร่งระดมเงินจำนวนมหาศาลเช่นนี้ เป็นกระจกสะท้อนความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากกว่า 1-2 แสนล้านบาท ที่มีการประเมินก่อนหน้านี้

โดยเฉพาะเงินที่จะเข้าไปทำการฟื้นฟู มีการประเมินกันว่าอาจจะต้องสูงกว่าความเสียหายถึง 2 เท่า

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับคำพูดของ กิตติรัตน์ ที่ออกมาแพลมว่าจะเสนอให้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจากในและต่างประเทศมาฟื้นฟูน้ำท่วม ในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลเคยโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่าดีแต่กู้ ตอนออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท มาจัดทำโครงการไทยเข้มแข็งกระตุ้นเศรษฐกิจ

การออกกฎหมายพิเศษกู้เงินจะส่งผลดีกับรัฐบาล เพราะมีเงินมากพอที่จะฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็ว

แต่ในทางการเมืองรัฐบาลก็ต้องยอมเสียหน้า กลืนน้ำลายตัวเองที่เคยสร้างวาทกรรมทางการเมืองถล่มรัฐบาลเก่าว่าดีแต่กู้บ้าง เป็นนักกู้สิบทิศบ้าง

เพราะหากว่ากันตามจริงแล้ว หากการกู้ไม่ดี รัฐบาลนี้คงไม่แหกโค้งกู้เงิน และในแง่ของจำนวนเงินที่ต้องกู้เชื่อว่าไม่น้อยหน้ากว่ารัฐบาลที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว รัฐบาลก็ไม่มีทางอื่นที่จะหาเงินมาฟื้นฟูประเทศตอนนี้นอกจากการกู้ เพราะผลกระทบน้ำท่วมทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงไปไม่น้อยกว่า 1-1.7% ซึ่งจะส่งผลทำให้การเก็บรายได้ปี 2555 รายได้จะเก็บได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ขั้นต่ำ 3-5 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างน้อย

ดังนั้น การจะคาดหวังว่าจะสามารถหารายได้เพิ่มมาฟื้นฟูหายนะของประเทศในครั้งนี้จึงปิดประตูไปได้เลย

ไม่ว่ารัฐบาลหันหน้าไปทางไหนก็ต้องกู้มาใช้อย่างเดียว

แถมไม่กู้เงินมาเพราะรัฐบาลปูหน้าบางก็ไม่ได้เสียด้วย

ในยามที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูบูรณะธุรกิจ หมายถึงการว่างงานที่มหาศาล และอาจจะไม่ใช่แค่ 2 แสนคน แต่อาจหมายถึง 5-6 แสนคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากรายได้ที่หายไป

ในยามที่คนทั้งประเทศเผชิญภัยกันครึ่งค่อนประเทศ รัฐบาลจะมานั่งเอกเขนกบริหารจัดการตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ได้

ต้องใช้พลังคน พลังเงินจำนวนมหาศาลมาขับเคลื่อนปัญหาที่กระจายในวงกว้างกว่า 36-37 จังหวัด

และหากจะต้องแก้ปัญหาระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาเงินมาตอกเสาเข็มโครงการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ก่อนที่พวกเขาจะโบกมือบ๊ายบาย...เพราะไร้ความเชื่อมั่นในแผนการแก้ปัญหาระยะยาว

จะมาหวังพึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ก็ใช่ที่ เพราะกว่างบก้อนนี้จะคลอดก็ปาเข้าไปถึงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2555 โน่น

นานขนาดนั้นคนนับล้านคงรอรัฐบาลเดินแบบปูไม่ไหวแน่...

การกู้เพิ่มงบขาดดุล 5 หมื่นล้านบาท กับส่วนที่หั่นงบดำเนินการมาใช้ 8 หมื่นล้านบาท จะเป็นเพียงเงินที่ใช้เยียวยาในช่วงที่น้ำท่วมและหลังน้ำท่วมได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

แต่การแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมขึ้นอีก ทำให้ประเทศไทยจมน้ำนอนอยู่ใต้โคลนตมอีก

การกู้เงินมาลงทุนในเรื่องระบบชลประทานจึงเป็นทางออกเดียวเท่านั้นที่รัฐบาลปูแดงจะทำได้

ทั้งนี้ จากแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีการบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน ต้องใช้เงินงบประมาณปี 2554-2558 รวมกันถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแข่งกับเวลา ทำให้การกู้เงินเป็นหัวใจของการดำเนินการโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การกู้ของรัฐบาลก็มีข้อจำกัด ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะปัจจุบันจะเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถกู้ได้เพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท โดยที่สัดส่วนหนี้ยังไม่เกิน 60% ของจีดีพีตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้

แต่การกู้เงินก็ถูกล็อกคอเอาไว้เรื่องของความยั่งยืนทางการคลังว่า ภาระการชำระหนี้ต้องไม่เกิน 15% ของงบประมาณรายจ่าย

ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2555 ภาระการชำระหนี้สูงถึง 12% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ชำระดอกเบี้ยเกือบทั้งหมด มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ชำระเงินต้น

โดยจากดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 4% ทำให้การกู้เงินทุก 1 แสนล้านบาท รัฐบาลต้องมีภาระเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท

ลำพังการกู้ขาดดุลปี 2555 จำนวน 4 แสนล้านบาท ก็ทำให้มีภาระดอกเบี้ยปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการกู้เงินเพื่อทำโครงการประชานิยมอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินเพื่อโครงการรับจำนำข้าวอีก 3 แสนล้านบาท เป็นดอกเบี้ย 1.2 หมื่นล้านบาท

โครงการแจกเงินกองทุนหมู่บ้านที่กู้เงินจากธนาคารออมสินไปจ่ายก่อนอีก 8 หมื่นล้านบาท ทำให้มีภาระอีก 3,000 ล้านบาท

หากต้องกู้เงินผ่านการออก พ.ร.ก.อีก 5 แสนล้านบาท หมายถึงว่ารัฐบาลจะต้องเสียดอกเบี้ยอีก 2 หมื่นล้านบาท รวมกันแล้วภาระดอกเบี้ยจะชนเพดาน 15% ที่กำหนดไว้เข้าจั๋งหนับ

แถมจะเป็นการชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว ไม่สามารถชำระเงินต้นได้เลย

การที่ภาระหนี้การชำระหนี้สุ่มเสี่ยงที่จะเกินเพดานที่กำหนดไว้ จะทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นในฐานะการเงินการคลังของประเทศได้ เหมือนกับประเทศยุโรปที่กู้จำนวนมาก จนวันหนึ่งกลายเป็นดินพอกหางหมู มากจนชำระเงินต้นไม่ได้ ก็จะต้องถูกลดเครดิต เศรษฐกิจดิ่งลงเหวทันที

ทำให้ก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการลดแลกแจกแถมแก้บนเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงจนเกิดปัญหา และให้นำเงินมาใช้ฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมก่อนดูมีน้ำหนัก

เพียงแต่รัฐบาลไม่ฟังเสียง ยังเดินหน้ากู้แจกทำประชานิยมควบคู่ไปกับการกู้วิกฤตน้ำท่วม ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในความเสี่ยงไม่ต่างอะไรจากการยืนอยู่บนปากเหวที่ลมแรง

ทั้งๆ ที่การกู้เป็นเรื่องที่ดี หากนำไปลงทุนและทำให้เศรษฐกิจโต ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นมาใช้หนี้ และลงทุนได้เพิ่ม

แต่ในทางตรงข้าม หากกู้มาเป็นจำนวนมากถมใส่ลงเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไม่ได้เดินไปอย่างที่ฝันไว้ จะส่งผลทำให้ทั้งสัดส่วนหนี้เพิ่มและเงินชำระหนี้ยังไม่พอ จะทำให้ไทยหนี้จากจมน้ำมาจมกองหนี้สิ้นใจได้เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจากการใช้เงินกู้จากการออกกฎหมายพิเศษ ที่จะให้สิทธิการใช้เงินได้คล่องตัวกว่าการใช้เงินงบประมาณปกติ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่านักการเมืองกำลังจ้องรุมงบก้อนนี้ยิ่งกว่าน้ำไหลบ่าท่วมประเทศไทยเสียอีก

ดังนั้น การกู้เงินจึงเป็นดาบหลายคมที่รัฐบาลไม่มีทางเลือก

หากวางแผนดี กู้เงินในจำนวนที่พอเหมาะ ใช้ในเรื่องที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แก้ปัญหาน้ำท่วมที่รากเหง้า เชื่อว่ารัฐบาลแก้ตัวจากการบริหารแก้น้ำท่วมที่ล้มเหลวได้ระดับหนึ่ง

แต่หากทุกอย่างเป็นด้านตรงข้าม รัฐบาลก็จะล้มเหลวการบริหารประเทศครั้งใหญ่อีกครั้ง

ไม่แน่ว่ารัฐบาลอาจเสียคะแนนนิยมทางการเมืองเหมือนน้ำไหลบ่าลงทะเลได้เหมือนกัน

เบาะแดงที่เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ไม่อาจพยุงความล้มเหลวของรัฐบาลได้ เพราะตัวเองก็เดือดร้อนพอๆ กับคนอื่นๆ ที่ไร้บ้าน ไร้ที่ซุกหัวนอน ไร้ซึ่งรายได้มายาไส้รายวัน