posttoday

วิกฤติน้ำท่วม จุดเริ่มต้น สมานฉันท์

13 ตุลาคม 2554

ภาพการพบปะระหว่าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้จะเป็นเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยาม

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ภาพการพบปะระหว่าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้จะเป็นเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยาม กับการร่วมรับฟังเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดอนเมือง

แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีว่าความขัดแย้งที่สั่งสมยาวนานในสังคม กำลังจะถูกชะล้างด้วยมวลน้ำก้อนมหึมาที่ถาโถมเข้าท่วมในหลายพื้นที่เวลานี้ หรือเป็นจุดเริ่มต้นให้แต่ละฝ่ายได้เลิก ละ ลด ทิฐิ หยุดเกมการเมืองมาแก้ปัญหาใหญ่ของชาติ แบบไม่มีเรื่องสี เรื่องพรรค เข้ามาเกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าไม่อาจปฏิเสธกระแสอารมณ์ความรู้สึก “เคลือบแคลง” ในการพบปะครั้งนี้ของ นายกฯ คนปัจจุบัน และอดีตนายกฯว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือเป็นเพียงแค่การ “จัดฉาก” ที่สมประโยชน์ทางการเมืองด้วยกันทั้งสองฝ่าย

บางเสียงสะท้อนว่าการร่วมหารือราว 30 นาที ที่ยิ่งลักษณ์อภิสิทธิ์ พล.ต.อ.ประชาพรหมนอก ผอ.ศปภ. พรเทพ เตชะไพบูลย์ในฐานะ รองผู้ว่าฯ กทม. กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง อลงกรณ์ พลบุตร อดีต รมช.พาณิชย์ ฯลฯ เป็นเพียงแค่ละครสมานฉันท์ฉากใหญ่

แต่จากเนื้อหาสาระ ข้อเสนอของ “อภิสิทธิ์” ที่ฝากให้ “ยิ่งลักษณ์” พิจารณา ทั้งยุบศูนย์ต่างๆ ที่ทำงานซ้ำซ้อนให้เหลือเพียงศูนย์เดียว เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ กำหนดพื้นที่การแก้ปัญหาให้ชัดเจน และเร่งอพยพคนที่ติดน้ำอยู่ให้ออกมาอย่างรวดเร็ว

วิกฤติน้ำท่วม จุดเริ่มต้น สมานฉันท์

 

รวมถึงการกระตุ้นให้ “ยิ่งลักษณ์” กล้าประกาศใช้กฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤต ที่จะต้องอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่อย่างเร่งด่วน

ล้วนเป็นสิ่งที่ “ประชาธิปัตย์” เสนอไปยังรัฐบาล ก่อนการพบปะครั้งนี้ ตามลำดับเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่รู้ว่า รัฐบาลจะนำไปปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อหัวขบวนใหญ่ของคู่ขัดแย้งหลัก แสดงออกชัดเจนถึงการเริ่มขยับเข้าหากัน ย่อมกลายเป็น “สัญญาณ” ที่ส่งต่อไปถึง กลางขบวน ปลายขบวน ให้ต้องเดินทางไปตามแนวทางนี้ แม้จะขัดแย้งกับอารมณ์ ความรู้สึกที่ยังค้างคาอยู่บ้างก็ตาม

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนชัดเจนถึงการยอมถอยกันคนละก้าว

ทั้ง “อภิสิทธิ์” ที่ขนทีมงานไปเยือนถึง ศปภ. แม้เหตุผลเริ่มแรกเดิมทีจะตั้งใจไปให้กำลังใจ บรรดาทีมงาน อาสาสมัครที่ทำงานที่นั่น

รวมทั้ง การที่ “ยิ่งลักษณ์” ออกมาให้การต้อนรับด้วยตัวเอง แถมยังแสดงความตั้งใจที่เปิดให้ทีมงานจากประชาธิปัตย์ ได้เข้ารับฟังการสรุปสถานการณ์ และรับฟังข้อเสนอแนะแบบเป็นเรื่องเป็นราว

ก่อนหน้านี้ “ยิ่งลักษณ์อภิสิทธิ์” เคยพบปะกันมาแล้วครั้งหนึ่งระหว่างร่วมงานรวมพลังรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันที่สวนลุมพินี

ที่สำคัญประเด็นที่ “อภิสิทธิ์” เสนอฝากไว้ครั้งนั้น คือ เรื่องเงินส่วนต่างประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลใหม่ และประกันรายได้ของรัฐบาลเก่า ซึ่งสัญญาณขณะนั้นเหมือนรัฐบาลจะไม่จ่ายเงินส่วนนี้

สุดท้ายรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้เกษตรกร 1,437 บาทต่อไร่ แม้จะเป็นการเลี่ยงไม่ใช้คำว่าเงินส่วนต่างประกันรายได้ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการรับฟังข้อเรียกร้องและยอมรับนำมาปฏิบัติ

เหล่านี้ล้วนเป็น “สัญญาณ” อันดี ที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ ที่รุนแรงเกินกว่าจะแก้ไขได้เพียงลำพัง จนต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันคลี่คลาย

ที่ชัดเจนคือ “สงครามน้ำลาย” ที่แต่ละฝักแต่ละฝ่ายพร้อมใจกันลดลง และหันมาพูดจาภาษาเดียวกันมากขึ้น แม้จะไม่ได้เลิกแบบทันทีทันใด แต่ก็ลดอุณหภูมิความขัดแย้งลงไปจากช่วงก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก

ประเด็นการอภิปรายในสภาบรรดาสมาชิกต่างหันมาให้ความสนใจพูดจาถึงปัญหาน้ำท่วม พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ ลดการกระทบกระทั่ง หรือการตีรวนต่างๆ

ความขัดแย้งไปจนถึงประเด็นร้อนต่างๆ ถูกพักไว้รอจนกว่าจะพ้นช่วงวิกฤตน้ำท่วม ทั้งเรื่องโยกย้ายข้าราชการ เรื่อง พ.ร.บ.กลาโหม ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ฯลฯ

อีกด้านหนึ่งความระหองระแหงระหว่างรัฐบาลและกองทัพ ที่ออกอาการไม้เบื่อไม้เมายืนอยู่คนละฝั่ง แต่ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ กลับร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมลงพื้นที่ช่วยคลี่คลายวิกฤตในพื้นที่ที่ต่างๆ

เรื่อยจนถึง กทม. ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่แม้จะอยู่ฝั่งประชาธิปัตย์ แต่ก็ร่วมทำงานประสานกับรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เวลานี้เข้ามาทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่

แม้แต่ภาคเอกชน ภาคประชาชน เครือข่ายอาสาสมัครฯ ที่เข้ามาหลอมรวมทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อจุดหมายร่วมฟันฝ่าวิกฤตเฉพาะหน้าในเวลานี้ให้ผ่านพ้นไป

ก็มีเพียงแค่ “ส่วนน้อย” แค่บางกลุ่ม ที่ออกมาขวางโลกไม่ยอมลดอคติ ที่หากยังดื้อดึงเช่นนี้ต่อไป นับวันก็มีแต่จะ “ตกขอบ” และถูกกระแสสังคมต่อต้านไปในที่สุด

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้แม้จะสร้างความเสียหายรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่ง นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะสลายความขัดแย้งที่มีอยู่ พร้อมใจร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน