posttoday

กันงบฟื้นน้ำท่วมแสนล้าน จัดการไม่ดีกลายเป็นละเลง

13 ตุลาคม 2554

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติอนุมัติให้ทุกส่วนราชการ “กัน” งบของแต่ละกระทรวงออกมา 10%

โดย...ทีมข่าวการเงิน

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติอนุมัติให้ทุกส่วนราชการ “กัน” งบของแต่ละกระทรวงออกมา 10% เพื่อนำมาวางกองรวมกันเพื่อใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยาสถานการณ์น้ำท่วมครั้งที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ สร้างความเสียหายแล้วนับแสนล้านบาท

มติ ครม.ระบุชัดว่า หัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวงต้อง “เกลี่ย” งบลงทุนและงบดำเนินการมาไว้เป็น “เงินกองกลาง” เป็นวงเงินอย่างน้อย 1-1.2 แสนล้านบาท

ก่อนที่รัฐบาลจะส่งผ่าน “เม็ดเงินก้อนมหึมา” ไปให้คณะกรรมการ 3 ชุด ที่ ครม.มีมติแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ดูแลการฟื้นฟูสถานการณ์หลังน้ำลด

กรรมการ 3 ชุด จะแยกเป็น กรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กรรมการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน และกรรมการฟื้นฟูสังคมและเยียวยาด้านจิตใจ

ถือว่าเป็นมิติที่ดีที่รัฐบาลจะมีกระบวนการจัดการบริหารงบ ประมาณในการฟื้นฟูประเทศอย่างเป็นระบบ

กันงบฟื้นน้ำท่วมแสนล้าน จัดการไม่ดีกลายเป็นละเลง

 

แต่ประเด็นปัญหาที่ตามมา คือ การกันงบดำเนินการและงบลงทุนออกมา 10% เพื่อฟื้นฟูน้ำท่วม จะส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณปี 2555 ที่เตรียมไว้สำหรับดำเนินการโครงการเร่งด่วน 1 ปีของรัฐบาลกระเทือนเลื่อนลั่นทันที

โดยเฉพาะเม็ดเงินที่เตรียมการไว้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ “กระชับพื้นที่” เข้ามาใกล้ตัวคนไทยทุกที

เช่นเดียวกับเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างขีดความสามารถแข่งขันในระยะยาว ที่เปรียบเสมือนการลงเสาเข็มของประเทศในอนาคต ก็จะถูกดึงมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากปัญหาน้ำท่วม ทำให้โครงการลงทุนหลายโครงการจะถูกชะลอออกไป

บางโครงการที่เสนอแผนงานเพื่อลงทุนให้ได้ในปีนี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า บางโครงการก็ทำได้เพียงแค่การ “ศึกษา” เท่านั้น

นั่นเป็นเพราะเงินลงทุนร่วมแสนล้านบาท ถูก “พัดพา” ไปพร้อมกับกระแสน้ำ และไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ว่า เม็ดเงินที่ใส่เข้าสู่ระบบเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาสถานการณ์น้ำท่วม จะสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมที่ “ถาวร” หรือไม่

แต่การทุ่มเงินลงไปเพื่อฟื้นฟูเหตุการณ์กลายเป็นสิ่ง “จำเป็น” ที่ต้องทำขณะนี้

ดังนั้น ประสิทธิภาพการลงทุนระบบน้ำ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ “ซ้ำรอยเก่า” คือ นักการเมืองถลุงงบกันเพลิน

ปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2552 รัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนหลายหมื่นล้านเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและเยียวยาความเสียหาย ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เร่งรีบ” ประชุมวางแผนและขอรับการจัดสรรงบเพื่อลงทุนระบบน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวอย่างแข็งขัน

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเดือน ต.ค. 2554 เป็น “บทพิสูจน์” ว่า เงินที่รัฐบาล “ทุ่มเท” ลงไป ไม่ได้แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน แม้หลายหน่วยงานรัฐจะอ้างว่า ปีนี้เป็นปีที่มีปริมาณน้ำมากเกินความคาดหมาย ประสิทธิภาพการจัดการเงินลงทุนด้านน้ำเป็นสิ่งที่สมควรถูกตั้ง “คำถาม” และควรมี “คำตอบ” มาจากฟากฝั่งภาครัฐ

“ผมไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ ไม่ใช่แค่รัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นมาทุกๆ รัฐบาล เราเสียหายจากน้ำท่วมมาเท่าไหร่แล้ว ขณะที่เราลงเงินลงทุนด้านน้ำปีละเป็นแสนล้านบาท” พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย ระบุ

พร้อมย้ำว่า “จะต้องไม่มีน้ำท่วมอีกแล้วไม่ใช่ในอีก 3-5 ปี แต่ต้องเป็นวันนี้ และรัฐบาลจะมาอ้างความผิดพลาดอีกไม่ได้แล้ว เพราะรอบ 3 ปี มีน้ำท่วม 2 ครั้ง อย่างปีนี้ผมคาดว่าเราเสียหายอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท”

พรศิลป์ ยังชี้ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ว่า จะทำให้บริษัทประกันภัยคิดเบี้ยประกันภัยกับเอกชนในอัตราที่สูงขึ้น เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงจากน้ำท่วม ส่งผลให้ต้นทุนเอกชนเพิ่มขึ้น

หากย้อนกลับมาพิจารณาเงินงบประมาณที่ถูก “อัดฉีด” เพื่อฟื้นฟูน้ำท่วม แต่ทำให้เงินลงทุนของรัฐบาลหายไปนั้น ตรงนี้รัฐบาลไม่น่าจะเป็นห่วงมากนัก เพราะรัฐบาลมีช่องทางการหาเงินอย่างน้อย 2 ช่องทาง

1.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ แต่ก็ไม่ง่าย

2.กู้เงินเพื่อลงทุน หรือตั้งงบประมาณกลางปี ปีงบประมาณ 2555 ซึ่งหมายถึง “หนี้” ที่จะตามติดตัวมา

แม้ว่ารัฐบาลจะระบุว่า มีเงินเพียงพอที่รัฐบาลจะนำมาใช้การฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม หากเงินไม่เพียงพอ หรือจะกู้เงินมาลงทุนโครงการต่างๆ ที่ถูกตัดไปฟื้นฟูน้ำท่วม เพราะหนี้สาธารณะของไทยที่อยู่ที่ 42-43% ของจีดีพี

แต่หากพิจารณาในแง่รายได้แล้วจะพบว่า การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 ทำให้รายได้รัฐบาลหายไป 1.5 แสนล้านบาท เป็นอย่างน้อยในระยะ 23 ปีข้างหน้า

ขณะที่ประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐอยู่ในระดับไม่เกิน 20% ของจีดีพี นั่นหมายความว่า สถานะความพร้อมในการลงทุนของประเทศไทยต้อง “พร่องลง” ไปทันที

“ผมคิดว่าโครงการที่รัฐบาลประกาศไปแล้ว เช่น รถคันแรกที่ตั้งงบคืนเงิน 3 หมื่นล้านบาท แท็บเล็ตนักเรียน 3,000 ล้านบาท และวงเงินโครงการรับจำนำข้าว 4.35 แสนล้านบาท โครงการเหล่านี้ควรมีการทบทวน เพื่อนำงบมาใช้จ่ายในโครงการลงทุนหรือฟื้นฟูน้ำท่วม และผมคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจ เพราะเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงจริงๆ” กนก วงษ์ตระหง่าน รมว.ศึกษาธิการเงา พรรคประชาธิปัตย์ แนะนำ

ขณะที่เดียวกันการใช้งบ 8 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วมลด ควรระดมกำลังจากทั้งภาครัฐ เอกชน และทหาร เข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน และหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการนำระบบการประมูลจัดซื้อจัดจ้างโดยภาคเอกชน เพราะ

1.เสี่ยงทำให้การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานมีความล่าช้า

2.เงินที่ลงไปฟื้นฟูความเสียหายจะถูกปันส่วนเป็น “กำไร” ของเอกชน ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญมากนักในสถานการณ์นี้ รวมทั้งเสี่ยงต่อการทุจริตได้

เพื่อไม่ให้เงินที่ลงไป “รั่วไหล” จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบระดับพื้นที่ เช่น เปิดให้ สส. นักการเมืองท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ และประชาชนร่วมกันตรวจสอบ

ขณะที่การจะลงทุนฟื้นฟูโครงการใดก็ตามต้องมีหลักฐานเป็น “รูปถ่าย” เป็นหลักประกันของความรั่วไหล

“หากทำอย่างนี้ ผมเชื่อว่าเงินที่รัฐบาลทุ่มลงไป 8 หมื่นล้านบาท จะได้ผลการดำเนินงานคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เม็ดเงิน 8 หมื่นล้านบาท จะมีผลเท่ากับการใช้เงินเป็นหลายแสนล้านบาทก็ได้” กนก กล่าว

นอกจากนี้ การที่รัฐบาล “บีบ” ให้ส่วนราชการลดการใช้จ่ายงบดำเนินการ แน่นอนว่าจะทำให้เกิดความ “อัตคัด ขัดสน” ในการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงได้

เพราะต้องยอมรับว่า วันนี้ระบบราชการเป็น “อุปสรรค” ในการแก้ปัญหาของประเทศ แม้แต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ยังบ่นว่า “อึดอัด” กับระบบราชการไทย ขณะที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่า ระบบราชการ “ไม่รู้ร้อนรู้หนาว” หรือไม่ตอบสนองเท่าที่ควรในยามวิกฤต ที่สำคัญ คือ ข้าราชการไม่กล้า “ตัดสินใจ”

“แทนที่จะทุ่มเทในการทำงาน แต่ข้าราชการวันนี้กลับมุ่งวิ่งเต้นหาตำแหน่งกันมากกว่า” แหล่งข่าวจากทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เปิดเผย

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวอย่างมั่นใจ “แม้งบดำเนินงานของภาครัฐจะถูกตัดลงไป 10% แต่ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานภาครัฐว่า จะทำงานได้เท่าเดิม ในภาวะที่มีงบจำกัดหรือไม่ หน่วยงานราชการจะประหยัดงบจัดซื้อจัดจ้างได้หรือไม่ ผมมองว่ามันเป็นความท้าทาย”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการสร้างระบบป้องกัน “น้ำท่วม น้ำแล้ง” นอกจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายแล้ว “องค์ความรู้” จัดการน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

เช่น มีข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ เขื่อนที่สร้างกั้นน้ำในประเทศไทยนั้น หากเป็นเขื่อนที่สร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นจะเขื่อนที่สร้างขึ้นผลิตไฟฟ้า โดยแต่ละเขื่อนต้องสำรองน้ำไว้ในเขื่อนอย่างน้อย 50% เพื่อใช้ในการปั้นกระแสไฟฟ้า ทำให้มีพื้นที่รับน้ำ “ไม่เต็มที่” เวลาที่มีปริมาณน้ำฝนมาก ก็ต้องรีบปล่อย

ดังนั้น การจัดการสร้างเขื่อนเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำบริเวณ “หลังเขื่อน” จึงเป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาและน่าจะมีการสร้างเขื่อนรองเหล่านี้ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการกั้นน้ำ และบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มที่

ขณะที่ปัจจุบันการลงทุนก่อสร้างถนนและแหล่งน้ำในพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละพื้นที่ ทำให้ไม่มีบูรณาการการทำงาน บางครั้งถนนที่สร้างขึ้นกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ และทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องมีการประสานข้อมูลการลงทุนของ อปท.ในภาพรวมด้วย

การบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่รอไม่ได้แล้วสำหรับประเทศไทย