posttoday

มหันตภัยน้ำท่วม วิกฤติยิ่งลักษณ์

11 ตุลาคม 2554

วิกฤตน้ำท่วมไม่แต่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยอย่างสาหัส

โดย...ทีมข่าวการเมือง

วิกฤตน้ำท่วมไม่แต่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยอย่างสาหัส แต่ก็กระทบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์พอควรที่ไม่มีระบบเตือนภัย ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด

แน่นอน รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจโชคไม่ดี ที่มาเจอมรสุมหลายลูกต้อนรับเป็นรัฐบาล ทว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้านก่อนหน้านี้ก็ได้โจมตีพรรคประชาธิปัตย์ขณะเป็นรัฐบาลเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ตรงจุดจนสร้างความเสียหายใหญ่หลวง

“ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงขณะเป็นฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2553

ว่า การเตือนภัยของรัฐบาลยังไม่แม่นยำ การช่วยเหลือประชาชนล่าช้า การเยียวยา และการฟื้นฟู ยังไม่เพียงพอ ในฐานะของพรรคฝ่ายค้าน จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณานำเรื่องปัญหาอุทกภัยในปีนี้ เป็นวาระแห่งชาติ

“รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างทันท่วงที ไม่ทำงานซ้ำซ้อน ต้องตั้งศูนย์รับบริจาคไม่ให้เกิดความสับสน ตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการและบัญชาการศูนย์ด้วยตนเอง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส”

มหันตภัยน้ำท่วม วิกฤติยิ่งลักษณ์

พรรคเพื่อไทยรู้ปัญหา ทางออก ทางแก้ และการมาเป็นรัฐบาลก็อยู่ในช่วงที่ก็รู้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญมรสุม และปัญหาน้ำท่วม

มาวันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเผชิญสถานการณ์วิกฤตไม่แตกต่าง แต่หนักกว่าจากปริมาณน้ำฝนที่กระหน่ำต่อเนื่อง

และไม่มีทีท่าว่าวิกฤตภัยพิบัติจะคลี่คลายเมื่อไร โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ให้เฝ้าระวัง ช่วงวันที่ 16-18 ต.ค. น้ำเหนือทะเลหนุนฝนถล่ม อาจถล่มเพิ่ม และอีกครั้งปลายเดือน ต.ค. ผู้เกี่ยวข้องบอกว่า นี่แค่ผ่านไปครึ่งทางเพราะยังต้องเจอมรสุมอีก 4 ลูกที่คาดจะถล่มไทยอีก!!

มหันตภัยน้ำท่วมครั้งนี้ครอบคลุมเกือบ 59 จังหวัด รุนแรงไม่ต่ำกว่า 28 จังหวัด ไล่ตั้งแต่เหนือ เชียงใหม่ พิจิตร ตาก พิษณุโลก ภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย และนครราชสีมา

ภาคกลาง เกือบทุกจังหวัด สาหัสสุด คือ พระนครศรีอยุธยาจมเกือบยกมิดจังหวัด รวมถึง

นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท และกำลังจ่ออยู่ที่ ปทุมธานี นนทบุรี ที่ทำท่าจะรับน้ำเหนือจากเจ้าพระยาไม่ไหว

แม้แต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็สารภาพว่า มีความเป็นไปได้ที่น้ำอาจท่วมกรุงเทพฯ ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ก็ให้คนกรุงทำใจ กรุงเทพฯ เอาไม่อยู่แล้ว

น้ำท่วมครั้งนี้ เป็นวิกฤตหนักที่สุดหลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 มีการประเมินความเสียหายขณะนี้แล้วทั้งประชาชน การเกษตร อุตสาหกรรม รวมแสนล้านบาท

ผู้เสียชีวิตจนถึง ณ วันที่ 10 ต.ค. อยู่ที่ 269 คน สูญหาย 4 คน ประชาชนเดือดร้อนแล้ว 2.3 ล้านคน

เสียงวิจารณ์ด้านหนึ่งไม่พอใจรัฐบาล ที่ประมาท แก้ปัญหาล่าช้า ไม่เตือนภัยล่วงหน้า ถ้าบอกเตือนประชาชนให้รู้ถึงความรุนแรง อาจไม่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน และนิคมอุตสาหกรรมมากมายเพียงนี้ อย่างน้อยก็ขนของ ย้ายออกได้ทันท่วงที

ปัญหาน้ำท่วมเริ่มเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว พอๆ กับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ

ณ เวลานั้น ไม่มีปฏิกิริยาแข็งขันใดๆ จากรัฐบาล นอกจากสื่อ ที่เป็นตัวหลักคอยช่วยเหลือ ส่งข่าว เตือนภัย ส่วนรัฐบาลก็ให้ข้าราชการ และท้องถิ่น แก้ปัญหาตามกลไกแบบเฉพาะหน้า ที่คุ้นหูว่า ก็คือ “บางระกำโมเดล” เมื่อครั้งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่พิษณุโลก ตามด้วย “อุดรฯ โมเดล” แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจับสาระได้ว่าคืออะไร

ช่วงอุทกภัย 2 เดือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์วุ่นอยู่กับการแต่งตั้ง โยกย้าย จัดทัพขุมกำลังตัวเอง เป็นข่าวใหญ่อยู่นานหลายสัปดาห์ว่าหาทางช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับเดินหน้านโยบายที่หาเสียงตามสัญญา

จนเมื่อ “กระแสน้ำ” เริ่มตีเมืองต่างๆ ในภาคกลางเป็นลูกระนาด และไม่มีท่าทีจะคลี่คลายจนกลายเป็น “สึนามิน้ำจืด” ที่อาจทะลักเข้ามากรุงเทพฯ และมีแนวโน้มสร้างความเสียหายเกินกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ รัฐบาลจึงเริ่มตั้งหลัก ตั้งวอร์รูม “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)” ที่สนามบินดอนเมือง

โดยให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการ ศปภ. มี “พระนาย สุวรรณรัฐ” รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองผู้อำนวยการ ส่วนชุดปฏิบัติการ ให้ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหัวหน้าฯ ดูแลปัญหาน้ำ และที่อยู่อาศัย

ทว่า โครงสร้างของวอร์รูมนี้ก็ผิดฝาผิดตัวแทนที่ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 และ รมว.มหาดไทย จะมาเป็นประธานวอร์รูมเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน แต่กลับให้ พล.ต.อ.ประชา ซึ่งเป็น รมว.ยุติธรรม มาเป็นแทน

กระนั้น “ปลอดประสพ” พูดถึงการตั้งศูนย์นี้ ในรายการช่อง 11 ตอนหนึ่งว่า “เรามาช้าแต่ก็ดีกว่าไม่มา” ตอกย้ำให้เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมาช้าจริง

ก่อนที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะแถลงผ่านทีวีพูลครั้งแรกว่า สถานการณ์ครั้งนี้วิกฤตมากกว่าที่คาดการณ์ และรุนแรงมากกว่าทุกปี

เธอบอกว่า ปริมาณน้ำเทียบเท่ากับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2538 ที่กรุงเทพฯ จมน้ำเสียหายอย่างหนัก น้ำทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำที่สูงกว่า 100% ซึ่งกำลังวิกฤตอย่างยิ่ง ประตูระบายน้ำก็ไม่สามารถรับได้

“รัฐบาลกำลังเร่งทำก็คือระบายน้ำลงทะเลให้มากที่สุดก่อนที่มวลน้ำกว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กำลังไหลผ่าน จ.สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก เข้าสู่นครสวรรค์ ซึ่งถ้าหากว่าไม่สามารถจัดการน้ำลงทะเลได้แล้ว จะสร้างความเสียหายบริเวณกว้าง”

การแก้ปัญหาของรัฐบาลตั้งรับ และประมาท เพราะกว่าจะเริ่มลุยอย่างจริงจังก็เกิดความอลหม่าน โกลาหล ส่งผลกระทบรุนแรงใหญ่หลวงหลายพื้นที่

คำสารภาพที่ชัดเจนที่สุด คือคำพูดของปลอดประสพ ที่ยอมรับว่า “เราประเมินสถานการณ์น้ำผิดพลาดในส่วนของ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ที่มีน้ำไหลท่วมสูง เนื่องจากน้ำไหลมาช้ากว่าจากการคาดการณ์ไว้ 2-3 วัน และเมื่อมาถึงก็มีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้”

ทำให้รัฐบาลจึงต้องปรับวิธีการรับมือน้ำใหม่ การสู้กับน้ำไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดแล้ว แต่ต้องเร่งอพยพคนเพื่อป้องกันการสูญเสีย

แน่นอนว่า การแก้ปัญหาต้องอาศัยพลังทุกภาคส่วน ทั้งช่วยเหลือ อพยพ เยียวยา บริจาค แต่นั่นก็เป็นเพียงมาตรการที่ตั้งรับ ไม่สามารถสู้กับ “สงครามน้ำ” เพราะวันนี้มันไกลเกินกว่าจะสู้ได้ มีแต่ข่าวสะเทือนใจว่า อโยธยาแตก เขื่อนกันน้ำที่นั่นแตก คันดินที่นครสวรรค์ ปทุมธานี แตก น้ำทะลัก คนหนีตายอลหม่าน!!

ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ประชาชนต่างมีความหวังที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน

เมื่อรัฐบาลไม่อยู่ในสถานะช่วยอะไรได้มาก บอกกล่าวให้ประชาชนเตรียมตัวและต้องอพยพ หนีภัยกันเอง กระสอบทราย อุปกรณ์ การสร้างคันดิน มาตรการป้องกันเฉพาะหน้าก็ไม่มีความพร้อม

ภาวะรัฐบาลสำลักน้ำ จึงกระเทือนต่อภาวะผู้นำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างยิ่ง