posttoday

รื้อกรอบเงินเฟ้อ ปลดล็อกดอกเบี้ย

06 ตุลาคม 2554

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดมีมติเคาะกรอบเงินเฟ้อปี 2555

โดย...ทีมข่าวการเงิน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดมีมติเคาะกรอบเงินเฟ้อปี 2555 เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบ เพื่อส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีไฟเขียวใช้ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจปีหน้าต่อไป

กรอบเงินเฟ้อปี 2555 มีการรื้อใหญ่ ใน 3 ประเด็นสำคัญด้วยกัน

ประการแรก กนง.ได้เสนอปรับกรอบเงินเฟ้อจากเดิมที่ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมราคาพลังงาน และอาหารสด เป็นตัวอ้างอิง แต่ของใหม่ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ตัวเดียวกับที่กระทรวงพาณิชย์ใช้ประกาศเป็นรายเดือน

ประการที่สอง จากเดิมกรอบอัตราเงินเฟ้อเป็นช่วง เช่น ปี 2554 มีการกำหนด 0.5-3% ต่อปี แต่ของใหม่มีการกำหนดเป็นจุดค่าเฉลี่ยที่แน่นอน และมีอัตราบวกลบเป็นตัวยืดหยุ่นในการบริหาร โดย กนง.ได้เสนอกรอบเงินเฟ้อปี 2555 ไว้ที่ 3% บวกลบ 1.5% ต่อปี

และประการที่สาม การกำหนดกรอบเงินเฟ้อแบบเดิม อัตราเงินเฟ้อคิดเฉลี่ยเป็นรายไตรมาส แต่กรอบใหม่คิดเฉลี่ยทั้งปี

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจงว่า กรอบเงินเฟ้อใหม่จะง่ายต่อการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะการกำหนดกรอบเงินเฟ้อจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นตัวเดียวกับที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ประชาชนรับรู้ความเคลื่อนไหวทุกเดือน

การใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังแก้ความสับสนที่เกิดขึ้นในอดีตที่กระทรวงพาณิชย์ใช้เงินเฟ้อทั่วไป และ ธปท.ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาในการดำเนินนโยบายการเงิน ขึ้นลงดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ

รื้อกรอบเงินเฟ้อ ปลดล็อกดอกเบี้ย

 

นอกจากนี้ กรอบใหม่ที่มีการกำหนดอัตรากลางที่แน่นอน และมีส่วนยืดหยุ่นให้ระดับหนึ่ง รวมถึงการคิดอัตราเงินเฟ้อเป็นรายปี ที่ระยะยาวขึ้น ทำให้การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ ธปท. ยืดหยุ่นมากขึ้น

ที่ผ่านมาการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อที่เฉลี่ยเป็นรายไตรมาสมีข้อเสียช่วงเวลาที่สั้น ทำให้เวลาอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวขึ้นลงส่งผลทำให้ดอกเบี้ยของ ธปท.ต้องขยับขึ้นลงตามเพื่อสกัดเงินเฟ้อหรือผ่อนคลายให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ซึ่งในบางครั้งการขึ้นลงดอกเบี้ยของ ธปท.มีความรวดเร็ว จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก

แต่สำหรับกรอบอัตราเงินเฟ้อใหม่ที่ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยเป็นรายปี มีข้อดีทำให้ ธปท.ยืดหยุ่นการขึ้นลงดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น เพราะมีเวลาหยุดคิดตั้งหลัก เพราะหากช่วงใดช่วงหนึ่งมีการสวิงขึ้นของราคาน้ำมันและราคาอาหารเพิ่มขึ้นชั่วคราว ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูง ธปท.ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อทันที เพราะหากประเมินแล้วว่าเงินเฟ้อทั้งปียังยืนพื้นอยู่ได้ 3% บวกลบไม่เกิน 1.5% ต่อปี ตามที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม กรอบเงินเฟ้อใหม่ก็อาจจะมีจุดอ่อนว่า ธปท.ต้องทำงานอย่างละเอียด วิเคราะห์สถานการณ์ให้ขาดว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับเปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยชั่วคราว หรือเป็นปัจจัยกระทบระยะยาว เพื่อให้การดำเนินการนโยบายดอกเบี้ยไม่ผิดพลาดหรือไม่ทันการณ์

อย่างน้อยก็มีคนกังวลว่า กรอบใหม่หากปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยถาวรระยะยาว แต่ ธปท.มองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว ไม่ขึ้นดอกเบี้ยดูแลเงินเฟ้อ ก็อาจจะส่งผลเสียในอนาคตเมื่อเงินเฟ้อขึ้นสูงจะคุมไม่อยู่ กระทบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ในทางตรงข้าม หากปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ ธปท.ไปประเมินว่าเป็นปัจจัยระยะยาวที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง มีความเสี่ยงกับเศรษฐกิจ และขึ้นดอกเบี้ยสูงสกัด ก็จะเป็นการให้ยาผิดที่ผิดเวลา เป็นผลร้ายกับเศรษฐกิจก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้อใหม่ของ ธปท. น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ฝ่ายการเมืองยิ้มออก และเลิกแรงกดดันกับ ธปท.ได้ในระดับหนึ่งในเรื่องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย ที่ฝ่ายการเมืองมองว่า ที่ผ่านมา ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยดูแลเงินเฟ้อตึงเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องการเร่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

ทั้งนี้ การที่ ธปท.กำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3% บวกลบ 1.5% ต่อปี ก็ถือว่าสอดคล้องกับเงินเฟ้อทั่วไปที่คาดว่าในปีหน้าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 4% ต่อปี หรืออย่างเลวร้ายไม่เกิน 5% ต่อปี ซึ่งทำให้ ธปท.ไม่มีแรงกดดันมาก ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หรือหากขึ้นก็เป็นจำนวนไม่มาก และไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นต้นปี เพราะยังมีเวลาไปตัดสินใจในช่วงครึ่งปีเพื่อประเมินสถานการณ์ให้แน่นอน

หากมองไปถึงปีหน้า ความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยต้นๆ ของเศรษฐกิจไทย เพราะมีหลายแรงกดดันที่จะรุมเร้าเข้ามา

ราคาน้ำมันที่แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะยังไม่ชัดเจน ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงจากเงินไหลออก ทำให้การนำเข้าราคาน้ำมันยังสูงขึ้น

นอกจากนี้ ปีหน้ารัฐบาลประกาศลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจี ยกเลิกแทรกแซงราคาน้ำมัน ทั้งเรื่องการเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนเดิม การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ลดลงไปลิตรละ 5 บาท ต้องกลับมาเก็บเหมือนเดิม

ยังมีมาตรการรถเมล์ รถไฟฟรี หมดอายุมาตรการค่าไฟฟรีจะมีการลดยูนิตที่ใช้ลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นทั้งนั้น

ปัญหาน้ำท่วมทำลายพืชผลทางการเกษตร ส่งผลให้ราคาพืชผักแพงขึ้น ก็เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในปีหน้าเช่นกัน

ดังนั้น การที่ ธปท.ชงรื้อกรอบเงินเฟ้อในจังหวะนี้ให้คลังพิจารณา น่าจะเป็นช่วงที่พอเหมาะพอเจาะ เพราะอย่างน้อย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ก็มีท่าทีเห็นด้วยและพร้อมจะพิจารณาเปิดไฟเขียวให้

ที่ผ่านมา รมว.คลัง ถือเป็นคนหนึ่งที่ออกมากดดัน ธปท.อย่างหนักเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย และส่งสัญญาณถึงขนาดให้มีการรื้อกรอบเงินเฟ้อที่ใช้อยู่ปี 2554 ที่กำหนดจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5-3% ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

หรือแม้แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ก็ออกมากดดัน ธปท.ไม่ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นไปอยู่ 3.5% ต่อปี แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนล่าสุด ก.ย. 2554 ก็ยังสูงอยู่ถึง 4% ต่อไป ซึ่งเกรงว่า ธปท.อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้แน่ใจว่าคุมเงินเฟ้อได้อยู่หมัด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ธปท.จะยังไม่ยอมรื้อกรอบเงินเฟ้อปี 2554 แต่สุดท้ายก็ยอมยกเครื่องกรอบเงินเฟ้อปี 2555 ยกใหญ่เลยทีเดียว จึงเป็นเสมือนการพบกันครึ่งทางระหว่าง ธปท. และฝ่ายการเมือง ถือว่าไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป

ทำให้การรื้อกรอบเงินเฟ้อของ ธปท. จึงเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย นอกจากทำความเข้าใจกับสังคมได้ง่ายตรงไปตรงมา เข้าใจถูกเรื่องตรงประเด็นแล้ว และเป็นเรื่องสากล เพราะทุกประเทศก็ใช้เงินเฟ้อทั่วไปในการกำหนดกรอบเงินเฟ้อหมดแล้ว

การรื้อกรอบเงินเฟ้อยังเป็นการปลดล็อกการดำเนินนโยบายการเงินดอกเบี้ยของ ธปท. ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับฝ่ายการเมืองมาตลอดอีกด้วย

เรียกได้ว่างานนี้เสมอตัว ไม่มีความขัดแย้ง ถือเป็นสัญญาณที่ดีในเรื่องการสมานฉันท์ระหว่างกระทรวงการคลัง และธปท.