posttoday

รัฐบาลปูขาเก ปชป.ติดหล่มเกมถอดถอน

28 กันยายน 2554

ถึงแม้จะมีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2548

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ถึงแม้จะมีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2548 สมัยรัฐบาลทักษิณ ก็ยังไม่จบลงง่ายๆ การเมืองไทยวันนี้ยังวนเวียนในหัวข้อเดิมกับ เรื่องทักษิณไม่ทักษิณ กระนั้น ความขัดแย้งการเมืองไทยไม่จบลงและยังคงอึมครึม ไม่รู้จะปรองดองหรือจะเกิดวิกฤตอีกรอบ

ฝ่ายทักษิณกลับมามีอำนาจ มีน้องสาวเป็นนายกฯ แต่รัฐบาลไม่สนต่อเสียงต้าน เพราะการขับเคลื่อนพุ่งไปที่การช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา

ฝ่ายประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินหน้าตรวจสอบหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมหลายตัว ที่มีปัญหากลับไปกลับมาและช่วยนายทุนมากกว่าคนจน รวมถึงปมผลประโยชน์ทับซ้อนที่พันกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนโยบายบ้านหลังแรก

ไม่ว่าโครงการบ้านหลังแรก ปชป.เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแนวทาง เพราะการขยายเพดานผู้ซื้อบ้านหลังแรกเป็นราคา 5 ล้านบาทและให้สิทธิคืนภาษีไม่เอื้อกับผู้มีรายได้น้อย แต่คนรวยจะได้ประโยชน์แทน รวมไปถึง บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ของตระกูลชินวัตรที่ขายบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่ได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า

รัฐบาลปูขาเก ปชป.ติดหล่มเกมถอดถอน

ก่อนที่ ปชป.จะเดินเกมถอดถอนยิ่งลักษณ์ โดยเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่า กลุ่มเอสซีได้ประโยชน์มหาศาล และผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 13(2) ที่ระบุข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

โครงการรับจำนำราคาข้าวที่รัฐบาลหาเสียงและจะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ ที่มีช่องโหว่จน ทีดีอาร์ไอ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ เป็นห่วงจะทำให้รัฐขาดทุนหลายแสนล้าน เปิดช่องให้ทุจริตคอร์รัปชันมโหฬาร ไม่ได้ช่วยเกษตรกรอย่างแท้จริง ขณะที่ ปชป.ก็ออกมาซ้ำ เรียกร้องให้รัฐบาลนำนโยบายประกันรายได้มาแทน

นอกจากการตรวจสอบนโยบายแล้ว ปชป.ยังกระตุกเตือนกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ช่วยเหลือพี่ทักษิณให้พ้นผิด

ฝ่ายทักษิณและเครือข่ายเปิดเกมรุก ทิ้งเชื้อให้ฝ่ายตรงข้ามออกมาต่อต้านได้ ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งทำงานมาแค่เดือนกว่าๆ

ตั้งแต่กรณี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ประกาศว่า จะทำเรื่องคืนพาสปอร์ตทางการทูตให้ทักษิณ หลังจากถูกยึดเพราะเป็นนักโทษหนีคดี

กรณีการฟื้นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ พร้อมกดดันให้สำเร็จก่อนวันที่ 5 ธ.ค.

การยกคณะไปเตะบอลของแกนนำเสื้อแดงและเครือข่ายทักษิณ ที่อ้างว่า เชื่อมสัมพันธ์กับฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา โดยมีแกนนำเสื้อแดงที่หนีคดีหมิ่น ก่อการร้าย จักรภพ เพ็ญแข อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ดารุณี กฤตบุญญาลัย จรัล ดิษฐาอภิชัย โผล่ร่วมงานครึกครื้น แต่บางฝ่ายเห็นว่าไม่เหมาะสมที่ไปร่วมหัวจมท้ายกับผู้นำกัมพูชาจนออกนอกหน้า ยังมีการเผยแพร่ภาพชาวคณะเสื้อแดงไปก้มกราบฮุนเซนด้วย

ข้อเสนอของ “คณาจารย์นิติราษฎร์” นำโดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอให้ลบล้างความผิดตั้งแต่การยึดอำนาจ 19 ก.ย. 2549 โดยยกเลิกคดีทักษิณและคดีที่ คตส.กำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมด ขณะที่ วรเจตน์ ประกาศพร้อมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจะตั้งขึ้นต้นปีหน้า

ฝ่ายทักษิณขานรับว่าเป็นข้อเสนอที่บรรเจิด ลบล้างการรัฐประหารที่คลาสสิก แต่อีกฝ่ายฮือว่า นี่เป็นการช่วยเหลือทักษิณและพวกที่ก่อตัวทำเป็นกระบวนการ “นิติราษฎร์” จึงปลุกให้กลุ่มคัดค้านทักษิณ

ล่าสุด ที่จุดประเด็นร้อน กรณีอัยการสูงสุด (อสส.) มีมติสั่งไม่ฎีกาคดีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาทักษิณ ในคดีเลี่ยงภาษีหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น หลังจากศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ท่ามกลางข้อกังขาต่อบทบาท อสส.ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า ถูกแทรกแซงให้ไม่ฎีกาต่อหรือไม่ทั้งที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกคุณหญิงพจมานและพวก แต่ศาลอุทธรณ์เห็นต่าง และโดยหลักต้องไปตัดสินที่ศาลฎีกาเพื่อรักษาผลประโยชน์แผ่นดิน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีจุดให้ถูกโจมตีมากขนาดนี้ แต่ทว่ากระสุนของพรรคประชาธิปัตย์ยังด้าน ไม่สามารถสร้างแรงกดดันรัฐบาลได้เลย

ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงงัดมุขเก่าๆ มาตรวจสอบ โดยเฉพาะการใช้กลไกอิสระเข้ามาจัดการคือ เกมถอดถอน ซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทว่าสถานการณ์การเมืองที่พลิกผันในปัจจุบันคงยากที่ ปชป.จะใช้มุขนี้ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะนาทีนี้รัฐบาลเข้มแข็งสุดๆ จากพลังเสื้อแดง

ยังไม่นับรวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายราชการที่รัฐบาลกำลังทยอยจัดฐานอยู่ในขณะนี้

ขณะเดียวกัน การไม่ก้าวข้ามด้วยการนำเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาโจมตีกล่าวหา ตั้งแต่ก่อนการหาเสียง จนกระทั่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งก็ยังไม่เปลี่ยนแนว ทำให้ไม่สามารถขยายแนวร่วมได้เพิ่มขึ้นมากในการที่จะโค่นล้มรัฐบาลได้

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเพิ่งทำงานได้แค่ 1 เดือนทำให้ข้อกล่าวหาโจมตีนั้นอ่อนลงไป เนื่องจากประชาชนยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานไปก่อน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวนอกสภาเล็กๆ จากฝ่ายต่อต้านทักษิณของ กลุ่มประชาชนในนาม “เครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.)” นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ซึ่งแยกตัวมาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เดินหน้ากิจกรรมตั้งโต๊ะคัดค้าน การยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ก็ยังไม่มีพลังเข้มแข็งพอ

ทั้งนี้ เนื่องจาก นพ.ตุลย์ เองยังไม่มีการยอมรับจากกลุ่มพลังทางสังคม ที่เคยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ จึงทำได้แค่การจัดกิจกรรมกวนใจเสื้อแดง

ถึงแม้ว่าการขับเคลื่อนของ นพ.ตุลย์ เป็นแค่ปรากฏการณ์ ยังไม่เป็นขบวนการ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังให้โอกาสรัฐบาลที่เพิ่งบริหารประเทศ แต่ถ้ารัฐบาลสร้างเงื่อนไขแก้ผิดเพื่อช่วยคนคนเดียว และแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ช่วยเหลือแต่นายทุน ดำเนินนโยบายประชานิยมจนถังแตก ขึ้นภาษีกระทบประชาชนวงกว้าง ก็จะเป็นแรงบวกสะสมให้ฝ่ายตรงข้ามมีพลังต่อต้าน

อย่าลืมว่า ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยเข้มแข็ง ไม่มีใครคิดว่าทักษิณจะถูกล้มได้ สุดท้ายก็เกิดม็อบต้านจากปัจจัยที่ผู้นำประเทศเหลิงอำนาจ คอร์รัปชัน แทรกแซงองค์กรอิสระ ปิดกั้นการตรวจสอบ จน สนธิ ลิ้มทองกุล ได้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินีจากกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะจุดติดเป็นม็อบพันธมิตรขับไล่ทักษิณ

อย่างไรก็ตาม พลังการตรวจสอบครั้งนี้ จะสัมฤทธิผลได้ ปชป.ต้องปรับวิธีการกันยกใหญ่ เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงไปไกลหลายเท่าตัว