posttoday

ฝันกลางวันมาตรการบ้าน-รถ หนุนส่งภาษีล้นคลัง

28 กันยายน 2554

ถึงตอนนี้มาตรการบ้านหลังแรกและรถคันแรกยังอลเวงไม่เลิก จนมิอาจสรุปว่าสุดท้ายแล้วเงื่อนไขต่างๆ จะไปสุดทางที่ไหน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ถึงตอนนี้มาตรการบ้านหลังแรกและรถคันแรกยังอลเวงไม่เลิก จนมิอาจสรุปว่าสุดท้ายแล้วเงื่อนไขต่างๆ จะไปสุดทางที่ไหน

เพราะหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้เพียง 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีการขออนุมัติจาก ครม.เพิ่มเติม เงื่อนไขอีกมากมาย เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการเรียกร้องกดดันอย่างหนัก

แน่นอนว่า การเพิ่มเงื่อนไข หนีไม่พ้นทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินจากภาษีมากขึ้น

ผลจากการปรับเงื่อนไขย่อมทำให้ผู้เสียภาษีได้รับภาษีที่ลดมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

เดิมมาตรการบ้านหลังแรก คาดว่าจะทำให้เสียเงินภาษีแค่ 1,700 ล้านบาท ก็จะพุ่งเป็น 8,600 ล้านบาทในทันที ภาษีหายไปร่วม 4-5 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ลดค่าธรรมเนียมการโอน 2% และค่าจดจำนอง 1% ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไปอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดจากฐานบ้าน 1 แสนยูนิต ราคายูนิตละ 1 ล้านบาท เป็นมูลค่าบ้าน 1 แสนล้านบาท

ฝันกลางวันมาตรการบ้าน-รถ หนุนส่งภาษีล้นคลัง

ยังมีแพ็กเกจสินเชื่อ 0% คงที่ 3 ปี ให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำเงินภาษีไปชดเชยให้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อีกปีละ 400 ล้านบาท รวม 3 ปี ก็ตก 1,200 ล้านบาท

ในส่วนมาตรการรถคันแรก จากเดิมที่ให้รถราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ ก็ทำท่าว่าจะขยับให้ไม่เกิน 1600 ซีซี หรือเปิดกว้างไม่จำกัดขนาดเครื่องยนต์ไปเลยเหมือนรถกระบะ

มาตรการรถคันแรก เดิมมีการประเมินว่าทำให้รัฐเสียเงินภาษีไป 3 หมื่นล้านบาท แต่พอมีการเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้รัฐเสียเงินภาษีเกิน 3 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน

เฉพาะมาตรการบ้านหลังแรกและรถคันแรก ดีดลูกคิดบวกเป็นตัวเลขกลมๆ เท่ากับว่า รัฐบาลจะต้องเสียภาษีไปถึง 5-6 หมื่นล้านบาท

จึงเป็นคำถามต่อมาว่า รัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาชดเชยภาษีที่หายไป

ยิ่งมีข่าวว่า กรมสรรพสามิตกำลังเสนอเรื่องให้คลังปรับเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์ทั้งระบบ มีการทำกรุ๊ปอัตราภาษีรถยนต์ใหม่ให้มีความเหมาะสม ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น

ในส่วนของรถยนต์กระบะ ก็จะเสนอเพิ่มอัตราภาษีจาก 3% เป็น 5% และรถยนต์ดัดแปลงที่เสียภาษี 12% ก็จะขอขยับเพิ่มเป็น 15% ซึ่งจะทำให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้เพิ่ม 1-2 หมื่นล้านบาท

เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์ไม่สบายใจ เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ

แม้ว่า บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง ออกมายืนยันว่า มาตรการบ้านหลังแรกไม่กระทบการเก็บภาษีของรัฐบาล โดยเฉพาะการเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2555 โดย รมช.คลัง สำทับกลับว่า แม้ทั้งสองโครงการจะทำให้เสียภาษีเงินหลวงไป 4 หมื่นล้านบาทเศษ แต่รายได้จากการเก็บภาษีจะได้เพิ่มขึ้นถึง 8 หมื่นล้านบาท

รมช.คลัง พยายามดีดลูกคิดให้เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลลุยทำตามที่หาเสียงไว้ ไม่ได้ทำให้ประเทศเจ๊งอย่างที่ถูกโจมตี แต่ในทางตรงข้าม กลับสร้างกำไรให้ประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

เขาแจกแจงว่า มาตรการบ้านหลังแรกที่เหมาว่าจะขายบ้านได้ 1 แสนยูนิต ราคายูนิตละ 1 ล้านบาท เป็นเงิน 1 แสนล้านบาท แค่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% รัฐก็ได้เงินภาษี 7,000 ล้านบาท

หากคิดต่อยอดจาก รมช.คลัง หมายความว่า ถ้าราคาบ้าน 2 ล้านบาท ประเทศก็จะได้ภาษี VAT ถึง 1.4 หมื่นล้านบาท หากราคาบ้าน 3 ล้านบาท ก็จะเก็บภาษีได้ 2.1 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว

ยังไม่รวมว่าราคาบ้าน 4-5 ล้านบาท จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษี VAT ได้ 2.8-3.5 หมื่นล้านบาท

แต่ในส่วนนี้เป็นไปได้ยาก เพราะราคาบ้านน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาท

ในส่วนของรถยนต์ รมช.คลัง เหมาโหลว่าจะขายรถได้ 5 แสนคัน ราคาคันละ 1 ล้านบาท มูลค่า 5 แสนล้านบาท เก็บภาษี VAT ได้ถึง 3.5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

จากมาตรการทั้งสอง จะทำให้ผู้ประกอบการรถและบ้านมีกำไรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท นั่นหมายถึงว่าจะทำให้รัฐเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราที่จะปรับใหม่ 20-23% ทำให้รัฐเก็บภาษีนิติบุคคลได้อีก 1 หมื่นล้านบาท

เหมารวมเข่ง 2 มาตรการ ตามสูตรของ รมช.คลังค่ายปูแดง รายได้เข้าคลังไม่หนี 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่สิ่งที่เสียไปแค่ 4 หมื่นล้านบาท

เรียกว่ากำไรเท่าตัวสบายๆ

จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า แนวคิดของ รมช.คลัง จะเป็นฝันหวานตามที่วาดไว้สวยหรูเกินไปหรือไม่

อันดับแรก รายได้ที่สูญเสียจากทั้งสองนโยบาย จริงๆ สูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่แค่ 4 หมื่นล้านบาท อย่างที่ รมช.คลังดีดลูกคิดไว้ เพราะนโยบายมีการต่อเติมรายวัน ทำให้รายจ่ายบานปลาย

อันดับต่อมา ยอดขายบ้านที่ รมช.คลัง บอกว่าจะขายได้เพิ่ม 1 แสนยูนิต กับยอดขายรถยนต์ที่จะขายได้เพิ่ม 5 แสนคัน จริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็นยอดที่ขายได้เพิ่มจริงทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นตามปกติ มีเพียงบางส่วนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้เท่านั้น

ดังนั้น การที่ รมช.คลัง เหมาเข่ง ว่ายอดขายบ้านและรถเป็นยอดที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การนำไปคิดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านบาท จึงผิดพลาด ไม่ถูกต้องไปด้วย

เพราะหากคิดดูดีๆ ถึงแม้ไม่มีมาตรการดังกล่าวออกมา การขายบ้าน การขายรถ ก็ต้องขายด้วยยอดดังกล่าวเป็นปกติอยู่แล้ว

หมายความว่าเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้จากการขายบ้าน ขายรถ เป็นภาษีที่รัฐบาลควรได้อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นภาษีที่ได้เพิ่มทั้งกองเหมือนอย่างที่ รมช.คลังเหมารวม

อันดับต่อมา ในส่วนของบ้าน ที่บอกว่ามาตรการนี้กระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น

เพราะยอดขายบ้านที่คาดว่าจะขาย 1 แสนยูนิต ในโครงการลดภาษีของรัฐบาล ล้วนแล้วแต่เป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ที่ค้างสต๊อก สร้างเสร็จแล้ว หรือจวนจะเสร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่

บ้านหรือคอนโดมิเนียมที่เริ่มสร้างใหม่วันนี้ เห็นทีจะไม่ทันกับมาตรการ เพราะการสร้างแต่ละโครงการใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี ขณะที่มาตรการบ้านหลังแรกมีอายุแค่ 1 ปีเศษ สิ้นสุดปี 2555 โครงการใหม่จึงผุดโผล่ไม่ทันแน่นอน

ดังนั้น มาตรการบ้านหลังแรกจึงเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตมากกว่า ไม่ได้เป็นการกระตุ้นในระยะสั้นปัจจุบันทันด่วนอย่างที่รัฐบาลพยายามอธิบาย

การจะหวังผลเลิศว่าจะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อขายอุปกรณ์ก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย จึงเป็นเรื่องที่คิดไกล คิดเร็วเกินไป

ครั้นเมื่อพิจารณาด้านภาษีที่ต้องเสียไป จะเห็นว่ามีช่องให้เกิดการสวมสิทธิเกิดขึ้น คนที่มีรถอยู่แล้ว แต่ต้องการรถใหม่ก็หาคนรู้จักไม่เคยมีรถไปซื้อแทน ทำให้รัฐบาลเสียเงินภาษีไปเปล่า ทั้งๆ ที่ไม่ควรเสีย

เช่นเดียวกันกับมาตรการบ้านหลังแรก ที่เกิดการสวมสิทธิของคนมีเงิน นำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 5 แสนบาท

นี่ยังไม่รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องซื้อรถคันแรกหรือบ้านหลังแรกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีมาตรการนี้ออกมาหรือไม่ แต่เมื่อมีมาตรการนี้ออกมาก็ทำให้คนซื้อบ้านหลังแรกและรถคันแรกส้มหล่นโดยที่ไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าวที่ไหนเลย อยู่ดีๆ ก็มีคนให้

เมื่อนำทั้งสองด้านมาประชันกัน ด้านรายได้ที่เสียแบบไม่ควรเสีย กับรายได้ที่คาดว่าจะเก็บเพิ่มขึ้น จะพบว่าเป็นการวาดฝันเกินจริง

นำสิ่งที่ควรเก็บได้อยู่แล้ว มาเหมารวมว่าเป็นการเก็บได้เพิ่ม

ส่งผลให้รัฐบาลวาดฝันชวนเชื่อว่ามาตรการบ้านหลังแรกและรถคันแรกได้ภาษีมากกว่าเสียภาษี เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากแสนยากเหลือเกิน