posttoday

โละเจบีซีกัมพูชา เพื่อไทยย่ำรอยเก่า-ของร้อนล่มรับบาล

27 กันยายน 2554

นโยบายการต่างประเทศไทยกัมพูชา เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดหลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมือง

นโยบายการต่างประเทศไทยกัมพูชา เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดหลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา รวมทั้งการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของกัมพูชา อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดรัฐบาลกัมพูชาจึงเปลี่ยนท่าทีต่อประเทศไทยต่างไปจากสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

แต่แนวโน้มความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่ต้องจับตา ใช่เพียงแค่ปัญหาขัดแย้งเรื่องเขตแดนที่ค้างคาอยู่ในศาลโลก ประเด็นร้อนที่สุดในขณะนี้คือแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมในทะเล พื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิ เพราะหลังจากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่นาน องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาก็เปิดประเด็นการเจรจาผลประโยชน์แหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทางทะเลซึ่งทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิ

ยิ่งกว่านั้น หลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับจากการเยือนกัมพูชา บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง เชฟรอน ก็เข้าพบนายกรัฐมนตรี เสนอตัวที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว หากไทยและกัมพูชาหาข้อสรุปร่วมกันได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ขนานใหญ่ ตามที่ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เสนอ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อเอื้อต่อการเจรจาผลประโยชน์ในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว

โละเจบีซีกัมพูชา เพื่อไทยย่ำรอยเก่า-ของร้อนล่มรับบาล

โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบุคลากรในเจบีซีไทยกัมพูชา แม้จะเพียงไม่กี่ตำแหน่ง แต่ก็ส่งผลต่อทิศทางดำเนินการอย่างยิ่ง ประกอบด้วยการเปลี่ยนตัวประธานเจบีซีจาก อัษฎา ชัยนาม ซึ่งแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มาเป็น บัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ และเปลี่ยนที่ปรึกษา โดยตัด วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าคณะต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก ออกจากเจบีซี

ที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนในคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือเจทีซี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเจรจาประเด็นเส้นเขตแดน การเปลี่ยนตัวประธานจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็น สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ในฐานะที่การเมืองเปลี่ยนแปลง สุเทพ จากที่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีกลายเป็นฝ่ายค้าน แต่นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนที่ปรึกษาอีก 2 คนด้วย

ขณะที่ สุรพงษ์ อ้างว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากการทำงานของทีมเดิมนั้นไม่มีความคืบหน้า จึงหวังว่าการปรับเปลี่ยนทีมงานจะนำไปสู่ความคืบหน้าในการเจรจาต่อไป

จริงอยู่ว่าการดำเนินการของเจบีซีไทย-กัมพูชา ชุดก่อน ไม่มีความคืบหน้า แต่ก็เป็นผลจากสถานการณ์ปัญหาที่ลุกลามบานปลายถึงขั้นใช้กำลังทหาร รวมทั้งกัมพูชาเป็นฝ่ายปฏิเสธการเจรจาระดับทวิภาคีภายใต้กลไกเจบีซี แต่ต้องการดึงฝ่ายอื่นๆ อาทิ อาเซียน หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันตัวบุคลากรในเจบีซีชุดเดิม ก็มีจุดยืนที่หนักแน่นอยู่กับการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งอาจทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการตกลงผลประโยชน์ร่วมกันในภาวะความขัดแย้งที่ปะทุหนัก

แต่การปรับเปลี่ยนเจบีซีไทย-กัมพูชา โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ทำให้น่ากังวลว่า เหตุการณ์อาจซ้ำรอยเดิมเช่นครั้งที่ นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ในปี 2551 โยกย้าย วีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในขณะนั้น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเจรจากับกัมพูชา ในประเด็นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ครั้งนั้น นพดล ให้เหตุผลการย้ายว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนม้ากลางศึก ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเป็นม้าดีทุกตัว แต่ต้องการม้าอยู่ในลู่ที่ต้องการจะให้วิ่ง

ต่อมาการดำเนินการของ นพดล ในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาและผลักดันให้ ครม.ขณะนั้นเห็นชอบออกแถลงการณ์ร่วม สนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงว่าเป็นการนำผลประโยชน์ของชาติไปสุ่มเสี่ยง ก็ส่งผลกระทบตามมาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติ ครม.ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นฟ้อง ครม.ชุดดังกล่าวฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ที่สำคัญ ร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ซึ่งนพดล เซ็นชื่อแบบย่อกำกับไว้ เป็นหลักฐานที่กัมพูชานำไปใช้ประโยชน์ โดยอ้างว่าไทยให้การสนับสนุน กระทั่งคณะกรรมการมรดกโลกมีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และต่อมาเหตุการณ์ก็บานปลาย เมื่อกัมพูชาเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร โดยล่วงล้ำพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทพระวิหาร จนไทยต้องประกาศถอนตัวจากภาคีมรดกโลก

การปรับเปลี่ยนบุคลากรเจบีซีไทย-กัมพูชาครั้งนี้ จึงน่าเป็นห่วงว่าความคืบหน้าในการเจรจา ตามที่ สุรพงษ์ อ้างนั้น จะเป็นอย่างไร สุ่มเสี่ยงต่อผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ เพราะหากพิจารณาถึงการดำเนินการในประเด็นพื้นที่ทางทะเลที่ผ่านมาทุกรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็ตอบรับตามที่กัมพูชาเสนอถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหารือเขตแดนทางทะเลด้วยกันทุกรัฐบาล

แต่การดำเนินการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างหนักหน่วงมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากนโยบายในอดีตโดยเฉพาะการสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู พ.ศ. 2544 เกี่ยวกับการหารือเขตแดนทางทะเลกับกัมพูชา ยิ่งกว่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเคยมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา

ขณะเดียวกันก็มีบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ต้องการผลประโยชน์ทรัพยากร ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าจะมีน้ำมันถึง 2,000 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติอีก 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เข้ามาเป็นตัวเร่งให้กระบวนการหาข้อยุติของทั้งสองประเทศเป็นไปโดยเร็ว

รวมทั้งที่ผ่านมาทั้งไทยและกัมพูชาต่างให้สัมปทานบริษัทต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาติสำรวจทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวด้วยกันแล้ว รอเพียงการขุดเจาะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ หากการเจรจากันของทั้งสองประเทศได้ข้อยุติ

ดังนั้น ประเด็นที่จะต้องจับตาก็คือ การทำงานของเจบีซีไทยกัมพูชา ชุดใหม่นี้ จะเป็นไปภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะการกำหนดให้การดำเนินการใดๆ ของคณะกรรมการ คณะทำงาน และผู้เชี่ยวชาญ ที่จะส่งผลกระทบต่อเขตแดน หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะต้องเสนอกรอบการเจรจา เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ และหากมีการทำความตกลงใดๆ ก็จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยเช่นกัน ซึ่งมิได้หมายความว่าจะเริ่มดำเนินการได้ทันทีทันใด

คำถามสำคัญที่ใครๆ พากันคาใจก็คือ เหตุใดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเร่งดำเนินการเรื่องนี้ อาจมองได้ว่า หากได้ข้อยุติโดยเร็ว ก็ส่งผลดีในทางการเมืองทั้งของพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งกำลังจะหมดวาระและเลือกตั้งใหม่ในปี 2555

อย่าลืมว่าอำนาจของฮุนเซนในกัมพูชานั้นมากมายยิ่งนัก หากการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเลได้ข้อยุติ การเข้าไปทำข้อตกลงกับฮุนเซนนั้นง่ายกว่าการเจรจาตกลงกับฝ่ายไทยหลายเท่า ดังนั้นผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงในเรื่องนี้จึงอาจเป็นกลุ่มทุนพลังงานระดับโลก

ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับแบกรับภาระความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบจากสังคม การถูกซักฟอกในรัฐสภาไว้เต็มๆ ภายใต้ความอ่อนไหวในประเด็นเขตแดนและชาตินิยม การดำเนินการเรื่องนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงเป็นการก้าวยํ่ารอยประวัติศาสตร์ที่เคยพลาดและเป็นของร้อนระดับล่มรัฐบาลมาแล้ว