posttoday

ยิ่งใกล้ยิ่งทำลายตัวเอง

23 กันยายน 2554

เริ่มงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังรุกและรับอยู่กับ 3 เรื่องใหญ่ 1.สร้างผลงาน  

เริ่มงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังรุกและรับอยู่กับ 3 เรื่องใหญ่ 1.สร้างผลงาน  

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เริ่มงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังรุกและรับอยู่กับ 3 เรื่องใหญ่ 1.สร้างผลงาน เดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้ 2.จัดวางกำลังคนในช่วงฤดูโยกย้าย และถือโอกาสล้างบาง วางเกมช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 3.แก้ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดและคาดว่าจะเรื้อรังอีกนานหลายเดือน

แต่หลังเริ่มบริหารประเทศ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไม่ได้แสดงให้เห็น “ภาวะผู้นำ” ทั้งการตอบคำถามที่กลายเป็นสคริปต์ว่า “ไม่รู้ ไม่ทราบ ขอเข้าไปดูในรายละเอียดก่อน และไม่มีนโยบายช่วยใคร”

กระแสยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์จนชนะเลือกตั้งถล่มทลายดูจะแผ่วลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเผชิญปัญหาน้ำท่วมตัวเอง อีกด้าน การแปลงนโยบายที่หาเสียงมาปฏิบัติก็เกิดปัญหาเหมือน “ลิงแก้แห” ไม่ว่านโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก ที่สับสนกลับไปกลับมา นโยบายจำนำข้าวก็มีคำถามมากมายว่าจะแก้ปัญหาทุจริตได้หรือไม่ ผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกร หรือโรงสี หรือหัวคะแนนของพรรคการเมือง

ยิ่งใกล้ยิ่งทำลายตัวเอง

ที่สำคัญ ปัญหาสินค้าราคาแพงจนถึงวันนี้ก็ยังแก้ไม่ได้ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ จนเป็นจุดสลบของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มมีคำถามในตัวนายกฯ หญิง กระทั่งการที่รัฐบาลช่วยให้ราคาน้ำมันลดลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาค่าครองชีพ สินค้าหลายตัวไม่ลดราคาตาม จึงเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

หากของยังแพงไปเรื่อยๆ ช่วงฮันนีมูนที่ประชาชนยังให้โอกาสรัฐบาลน่าจะหดแคบ จนไม่เหลือเวลาสำหรับรัฐบาล!

จุดหลักของรัฐบาลคือ ต้องแก้ปัญหาปากท้องให้ได้ ถ้าทำให้พอใจ รัฐบาลก็ยังมีความนิยมที่จะเข็นเรื่องหนักๆ แก้ไขคดีความต่างๆ ซึ่งก็จะช่วยลดแรงต้านจากฝั่งตรงข้ามได้บ้าง

พ.ต.ท.ทักษิณ อึดอัด ทนไม่ไหวที่เริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีเกิดกับรัฐบาลน้องสาว ที่อยู่ในสภาพรัฐมนตรีไปคนละทิศคนละทาง เกิดปัญหาเกาเหลาในบางกระทรวง ขณะที่ปัจจัยภายนอกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกลูกใหญ่ก็รอเป็นระเบิดกระทบทั่วโลก

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งพรรคเพื่อไทยให้มีการประชุมรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยทุกวันจันทร์ ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อจูนเรื่องใหญ่ๆ ที่ ครม.ต้องบูรณาการร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ไม่ว่านโยบายประชานิยมที่หาเสียง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก่อนจะมีการประชุม ครม.จริงร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลในวันอังคาร

เป็นซีนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โชว์ลวดลายผ่านโปรแกรมสไกป์ คุยนอกประเทศทะลุตรงมาที่ห้องประชุมในพรรคเพื่อไทย ประเดิมล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมาร่วมชั่วโมง สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนเร่งสร้างผลงานที่จะเป็นเกราะกำบังไม่ให้อำนาจเก่ามาบ่อนแซะ

พ.ต.ท.ทักษิณ บัญชาการเบ็ดเสร็จให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เดินหน้านโยบายกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล พร้อมทั้งให้ตั้งคณะกรรมการมาศึกษาเมกะโปรเจกต์ก่อนลงมือทำ

สมกับที่เป็น “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เมื่อเป็น ครม.ที่คลอดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะทุกคนเป็นรัฐมนตรีได้จากโผ “ดูไบบรูไน” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โทรศัพท์แจ้งทุกคนหลังเคาะชื่อว่า “ให้อยู่ตำแหน่งนี้ไหวไหม”

เหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องลงมาเล่นบท “นายกฯ คนที่สอง” อย่างออกนอกหน้า ทั้งที่ปกติแล้วก็สามารถโทรศัพท์บัญชา แนะนำรัฐมนตรีแต่ละคนเพราะ

หนึ่ง กวดขันรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เพราะหลายคนเมื่อได้อำนาจมาแล้วมักเหลิง ไม่ทำงาน ถ้าไม่มีผลงานก็อาจถูกปลดได้ทุกๆ 6 เดือน

สอง รัฐมนตรีหลายคนเป็นชุด “ซี” เป็นมือใหม่ที่ต้องการคำปรึกษาแนะนำ ในช่วงเศรษฐกิจโลกรุมเร้า และการเมืองไทยที่ยังเปราะบาง ผันผวนอยู่

สาม ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เสื่อมเพราะแก้ปัญหาปากท้องไม่ได้ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่ดีขึ้น โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้กลับไทยโดยไม่ต้องจำคุกภายในช่วง 12 ปีนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เจ้าตัวได้ทุ่มทุนทุกอย่าง คงต้องทลายสิ้น

สี่ สร้างอำนาจ บารมี ให้ต่างชาติเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คุมรัฐบาลนี้อย่างเปิดเผย หาใช่ผู้หนีคดีที่หลายประเทศระงับวีซ่าอยู่ จะได้มีบทบาทในการเจรจาแทนรัฐบาลน้องสาว ซึ่งหลายเรื่องถูกจับตาว่าจะคาบเกี่ยวกับธุรกิจที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ลงทุนในต่างประเทศและหาลู่ทางใหม่อยู่ด้วยหรือไม่

ทว่า ในทางลบ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ลอยมาอยู่หัวโต๊ะ ครม. เคียงข้างน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ที่นั่งร่วมฟังคำแนะนำของพี่ชายใน ครม.เพื่อไทย ก็ยิ่งทำให้ภาวะผู้นำของยิ่งลักษณ์เสื่อมถอยลงไปอีก จนเกิดภาพเปรียบเทียบว่า ยิ่งลักษณ์ไม่มีความสามารถในการเป็นนายกฯ คนเดียว ต้องให้พี่ชายคอยช่วยกำกับ กลายเป็นนายกฯ 2 คน เหมือนที่ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า “เขมรโมเดล”

อย่าลืมว่า เสียงประชาชนสะท้อนผ่านโพลต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ห่างๆ รัฐบาล เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเหมือนแม่เหล็กของความขัดแย้ง ถ้ายิ่งมาควบคุมรัฐบาลอย่างเปิดเผย ก็ยิ่งเกิดแรงเสียดทานจากฝ่ายตรงข้าม ทำให้บรรยากาศการเมืองตึงเครียดขึ้น ประเทศก็ยังเข้าสู่การปรองดองไม่ได้

แต่ปัญหาที่จะเกิดกับรัฐบาล คือ เมื่อยิ่งลักษณ์รับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้ามาสไกป์ แต่แค่พูดคุยให้กำลังใจ ครม.ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น คำถามก็คือ นี่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เพราะสถานะหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่แค่อดีตนายกฯ แต่เป็น ผู้ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งนายกฯ และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยนำคนหนีคดีมารับโทษตามคำพิพากษา

รัฐบาลจึงเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนทั้งคณะ...

การเร่งจังหวะของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อฟื้นฟูอำนาจตัวเองใหม่เช่นนี้ จึงทำลายความสามารถของน้องสาวตัวเอง และเปิดแผลให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีรัฐบาลได้

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง แต่ยิ่งเปิดหน้าท้าทายก็ยิ่งอันตรายเมื่อนั้น