posttoday

ขึ้นเงินเดือนหมื่นห้าซื้อใจขรก.แลกภาระ ก้อนโต

21 กันยายน 2554

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 6.49 แสนคน

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 6.49 แสนคน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 6.49 แสนคน โดยผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะรับค่าตอบแทน คือ ได้เงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราวไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

ผู้จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีให้ค่าตอบแทนไม่เกิน 9,000 บาท มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2555 ใช้งบประมาณปี 2555 ไปกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

ส่วนปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2.45 หมื่นล้านบาท

ขึ้นเงินเดือนหมื่นห้าซื้อใจขรก.แลกภาระ ก้อนโต

บรรดาผู้จบการศึกษาใหม่หลายคนต่างมองเห็นโอกาสในชีวิตการทำงานแบบข้าราชการ

แต่กระแสเสียงที่ตามมา คือ ข้าราชการที่ทำงานอยู่ในระบบและมีเงินเดือนเกิน 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร

ปมร้อนนี้ทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงการคลังและสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปหาทางเยียวยาข้าราชการกลุ่มนี้ และข้าราชการที่มีการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก โดยให้ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม

ท่ามกลางความสับสนว่าการปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวถูก ครม. “ตีกลับ”

“นายกฯ สั่งการว่า ให้ไปหาทางเยียวยาผู้ที่มีเงินเดือนเกิน 1.5 หมื่นบาท และข้าราชการระดับปริญญาโทและเอก ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่ม เช่น ให้มีค่าวิชาชีพเช่นเดียวกับแพทย์และนิติกร หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ข้าราชการกลุ่มนี้มีค่าตอบแทนเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและให้นำเสนอ ครม.ต่อไป” อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกรัฐบาลชี้แจง

ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ แถลงภายหลังประชุม ครม. ว่าการปรับเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาท ที่ ครม.ให้มีการทบทวนว่า ไม่ใช่เป็นการทบทวน แต่เป็นหลักการที่คณะทำงานของกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ จึงเป็นห่วงอยากให้ดูในผลกระทบด้วย เพื่อให้ดูแลส่วนของราชการให้ครอบคลุมไม่ใช่เฉพาะปริญญาตรี

อย่างไรก็ตาม คงจะไปทบทวนให้ละเอียดอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่ได้มีการตีกลับแต่อย่างใด เป็นเพียงการเสนอเพิ่มเติมมากกว่าในประเด็นที่มีข้อกังวลใจ

เมื่อถามว่า ข้อกังวลใจในเรื่องนี้คืออะไรยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เป็นในส่วนของสายวิชาชีพที่เราไม่ได้พูดถึง อย่างผู้ที่จบ ปวช. ปวส. คงต้องไปดูโครงสร้างรวมด้วย เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เพราะนโยบายนี้เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ จึงต้องให้ทุกหน่วยงานพิจารณาอย่างครอบคลุม

คำชี้แจงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและการนำนโยบายขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทน 1.5 หมื่นบาท ไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดีว่า การขยับปรับเพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาท ได้สร้างแรงกระเพื่อมในระบบราชการทันที

แม้รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลางจะระบุว่า การเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวเป็นวิธีการที่สร้างภาระงบประมาณน้อยที่สุด แต่ก็ได้สร้างภาระงบประมาณ “ก้อนใหม่” จำนวนไม่น้อย

งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องไปเพิ่มค่าตอบแทนเพิ่มเติมให้กับบรรดาข้าราชการอื่นๆ ที่ไม่ได้สิทธิรับเงินค่าครองชีพชั่วคราวอีกหลายแสนคน

แม้ ครม.จะย้ำว่า นี่เป็น “มาตรการชั่วคราว” ก็ตาม แต่ภาระที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาลและมีผลผูกพันในปีต่อไป

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ทำความเห็นเสนอ ครม. โดยเสนอให้ขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนดังกล่าวให้ครอบคลุมพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ผู้ช่วยสอนฯ และลูกจ้างชั่วคราวเช่นเดียวกัน

ฟันธงลงไปโดยไม่กลัวหน้าแตกว่า ในไม่ช้า “คำเสนอ” ขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนของข้าราชการครู ตำรวจ ทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานของรัฐอื่นๆ จะตามเข้ามาอีกเพียบ

ทุกหน่วยงานต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันแทบทั้งสิ้น

สิ่งที่ตามมา คือ ภาระงบประมาณ “ก้อนโต”

และนั่นจะหมายถึงการเพิ่มขึ้นของงบรายจ่ายประจำในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งปัจจุบันกรอบงบประมาณปี 2555 ที่กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ 8.86 แสนล้านบาท “จะไม่เพียงพอ” และต้องมีการตั้งวงเงินเบิกจ่ายเพิ่มในปีงบประมาณ 2556 ขึ้นมาอีก

ที่สำคัญนโยบายการเพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาท ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะสร้าง “แรงกดดัน” ให้เอกชนปรับเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้างระดับปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท หรือค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพื่อแย่งซื้อตัวคนไปทำงาน

หรือแม้กระทั่งการจูงใจให้ “คนเก่งคนดี” เข้าสู่ระบบราชการ โดยการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว

แต่ก็เป็นแค่ “ภาพลวงตา” เท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่า ระบบราชการไทยยังเป็น “ระบบอุปถัมภ์ใช้เส้นสายเล่นพรรคเล่นพวก”

“การปรับเพิ่มเงินเดือน โดยการเพิ่มค่าครองชีพ มีข้อกังวล คือ ข้าราชการขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะข้าราชการมีรายได้คงที่ 1.5 หมื่นบาท เป็นเวลา 610 ปี ไม่จูงใจให้ผู้จบปริญญาโท ปริญญาเอกเข้ารับราชการ เพราะผลตอบแทนต่ำกว่าเอกชน และส่งสัญญาณที่อ่อนเกินไป แรงกดดันจึงไม่มากพอให้เอกชนปรับเพิ่มค่าจ้าง” สำนักงาน ก.พ.วิเคราะห์

ไม่เพียงเท่านั้น ภาระงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐจะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน เพราะหลังการปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว “นายกฯยิ่งลักษณ์” สั่งการสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับกระทรวงการคลัง ไปพิจารณาปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ โดยมอบ “กิตติรัตน์ ณระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นหัวเรือใหญ่พิเคราะห์ลงไปได้เลยว่า เพื่อให้การปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบให้สอดคล้องกับนโยบายค่าตอบแทนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท จะต้องมีการปรับฐานโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบของรัฐบาลกันใหม่

เพราะเฉพาะข้าราชการแรกเข้าก็มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น 64% ซึ่งสำนักงาน ก.พ. คำนวณเบื้องต้นว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันเมื่อมีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทุกประเภท ก็ต้องมีการปรับเพิ่มค่าตอบแทน “ข้าราชการการเมือง” และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับเป็นระลอกๆ ตามกันไป

ทุ่มงบประมาณมากมายขนาดนี้ รัฐบาลไม่ได้ใจบรรดาข้าราชการก็แปลกแล้ว

นนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงปัญหาที่จะตามมา เขาบอกว่าในความเห็นของสำนักงาน ก.พ. การปรับเงินเดือนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาททันที จะสร้างผลกระทบมาก เขาจึงเสนอให้มีการปรับบัญชีโครงสร้างเงินเดือนทุกๆ ปีเป็นเวลา 4 ปีจนฐานเงินเดือนขั้นต่ำข้าราชการปริญญาตรีอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทเช่นเดียวกับข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) ที่สนับสนุนว่าในระยะยาวรัฐบาลต้องปรับปรุงค่าตอบแทนภาครัฐให้เหมาะสมตามภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ แต่ต้องคำนึงถึงภาวะการเงินการคลังของประเทศด้วย

หากรัฐบาลรับข้อเสนอของ ก.พ. ในการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทุกปีๆ ก็จะพบว่าการปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนต้องปรับเพิ่มอย่างน้อยปีละ 10% ซึ่งเกินกว่ากรอบกฎหมายที่กำหนดให้การปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการทำได้ไม่เกิน 10%

นี่อาจจะเป็นประเด็นใหม่ที่ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมี “กระสุน” ที่พร้อมสำหรับการหาเสียงกับบรรดาข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ ลูกจ้างรัฐบาล รวมทั้งพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งระบบกว่า 3.35 ล้านคนก็เป็นไปได้

แม้ในปีงบประมาณ 2556 ที่รัฐบาลจะปรับเพิ่มเงินเดือนก็ไม่เกิน 10%

แต่ในปีต่อไปมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลอาจจะปรับเพิ่มอีก 10% เช่นกัน นั่นอาจหมายถึงการต้องแก้ไขกฎหมาย หรือไม่แก้ก็อยู่ที่เหลี่ยมคูทางการเมือง

แต่พลันที่รัฐบาลมีแผนจะ “ยุบสภา” เมื่อไหร่ ให้จับตาดู “ช็อต” สำคัญให้ดีๆ ว่า รัฐบาลจะทิ้งทวนโดยการแก้ไขกฎหมายปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเกิน 10% หรือไม่ เพื่อให้ฐานเงินเดือนข้าราชการขั้นต่ำอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท

ไม่ว่าการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการจะทำในช่วง “ก่อนหาเสียง” หรือหลังจาก “จัดตั้งรัฐบาลใหม่” แล้ว ข้าราชการก็มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลทำแน่ เพราะที่ผ่านมารู้ว่า “พรรคเพื่อไทย” เขาทำจริง

เรียกได้ว่า งานนี้เป็นการเตรียมตัว “หาเสียงล่วงหน้า” ไปในตัวก็ได้ โดยใช้เงิน “ภาษีประชาชน” ตามเคย

แต่ที่แน่ๆ งบรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะงบบุคลากรจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ

ขณะที่งบลงทุนของประเทศหดหายไปทุกปี และที่หวังว่าระบบราชการจะมีคนเก่งคนดีเข้าระบบ เพื่อสร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ

แต่การเพิ่มค่าตอบแทนให้ข้าราชการก็ไม่ใช่ “คำตอบ” ที่ถูกต้องเสียทั้งหมด แม้ว่าค่าตอบแทนที่เหมาะสมจะสร้างแรงจูงใจในการทำงานก็ตาม แต่องคาพยพของหน่วยงานราชการนั้น มิได้จำกัดวงแคบอยู่แค่เงินเดือนอย่างเดียว