posttoday

เศรษฐกิจโลกหด น็อกกนง.ชะลอขึ้นดอกเบี้ย

14 กันยายน 2554

นโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ที่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก

นโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ที่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก

โดย...ทีมข่าวการเงิน

นโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ที่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับข้าราชการแรกเข้าเพื่อให้มีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท กลายเป็นผู้ร้ายดันให้เงินเฟ้อในปีนี้พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ส.ค. 2554 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. สูงขึ้น 0.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 4.29% และเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.ส.ค. 2554) สูงขึ้น 3.72% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 3-5 เดือน

นี่เป็นสาเหตุให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผู้มีหน้าที่ใช้มาตรการการเงินดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงขณะนี้รวม 9 ครั้ง เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นมากจนส่งผลเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ตามไปด้วย

แต่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็มีข้อครหาว่า ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จากการตรวจสอบการขึ้นดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ธปท.พบว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่ 0.5-2.5% เท่านั้น

เศรษฐกิจโลกหด น็อกกนง.ชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาแค่ 0.5-1.25% ดอกเบี้ยเงินฝาก 6 เดือน เพิ่มขึ้น 1.2-2.5% และดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน เพิ่มขึ้น 1.252%

ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง พบว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยอยู่ที่ 0.77% ขณะที่ดอกเบี้ยฝากประจำ 6 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 22.24% เพิ่มขึ้น 1.3-1.55% ดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.3-2.5% เพิ่มขึ้น 1.61-1.83%

ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1% แล้ว

ผู้ที่เดือดร้อนจากดอกเบี้ยสูงนี้ ทางฝั่งคนฝากเงินคงจะดีใจ แต่ทางฝั่งคนกู้เงินบ่นอุบเพราะต้นทุนชีวิตสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะคนที่ผ่อนบ้าน จ่ายเงินค่างวดไปกลายเป็นดอกเบี้ยหมด

การที่ดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับสูงเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังที่มีข้าราชการการเมืองเป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายจะมีความขัดแย้งกันตลอดเวลาในเรื่องดอกเบี้ย

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนจะสิ้นไตรมาส 3 ของปีนี้ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยไม่สนใจเสียงทัดทานจากฝ่ายการเมือง ด้วยเหตุผลการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจเป็นธงนำ และไม่แน่ใจภาวะเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

ที่จะต้องหันมาดูปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกมากกว่าเศรษฐกิจในประเทศ ก็เพราะหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้เริ่มปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงจาก 34% เหลือ 12% เท่านั้น

ตามมาด้วยความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก และราคาน้ำมันที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่คือ โอเปกระบุว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้อาจจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.06 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 1.5 แสนบาร์เรล/วัน

แต่ในปี 2555 โอเปกคาดว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.27 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ราว 4 หมื่นบาร์เรล/วัน พร้อมระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจฉุดอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกให้ซบเซาลงอีก

ฉะนั้นเสียงของ กนง.ที่แข่งขันว่า จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อเริ่มอ่อนลง แม้จะยังคงเห็นว่าเพราะรัฐบาลไปออกนโยบายประชานิยมทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าไปดักหน้าไว้ก่อน ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงไม่หยุด เมื่อรวมไปกับปัญหาน้ำท่วมที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ราคาสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้น

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ คณะกรรมการ กนง. กล่าวว่า กนง.อาจต้องเริ่มหันไปดูความเสี่ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับจากการที่เศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว แถมทำท่าว่าจะถดถอยเป็นเวลานานอีกด้วย

นายพรายพล เห็นว่า หากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณทางด้านลบที่น่าเป็นห่วง เพราะถ้าเศรษฐกิจโลกทำท่าว่าจะไม่ดีก็อาจจะต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ การประชุม กนง. ครั้งล่าสุดกำหนดไว้ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ซึ่ง นายพรายพล กล่าวว่า อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน

สิ่งที่ นายพรายพล กล่าวนั้นสอดคล้องกับผลการประชุมคณะกรรมการ กนง. เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการกนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย โดย 5 ต่อ 2 ของกรรมการกนง.ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 3.25% เป็น 3.50%

คณะกรรมการ กนง.แถลงว่าจะติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกและแนวนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสม เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตได้ต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพ

กรรมการ 2 คนที่ให้ความเห็นว่าไม่ควรจะขึ้นดอกเบี้ย ก็เพราะประเมินว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ไว้ก่อน เพื่อประเมินความรุนแรงและความยืดเยื้อของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในการรองรับความเสี่ยงในประเทศเหล่านี้มีจำกัด

ส่วนกรรมการอีก 5 คน เห็นว่าควรขึ้นดอกเบี้ยอีก เพราะประเมินว่าแม้ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่มีปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยไม่ให้ประเทศเหล่านี้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง เช่น ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา รวมทั้งเศรษฐกิจเอเชียและไทยที่ยังคงมีการค้าภายในภูมิภาคและอุปสงค์ในประเทศเป็นแรงส่งสนับสนุนให้ขยายตัวได้ต่อไป

แต่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ดูท่าจะกลับด้าน มีแต่ข่าวร้ายเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปไม่หยุด ทั้งการถูกลดอันดับเครดิตและอัตราการว่างงาน ฯลฯ ทำให้ต้องกลับมาดูปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศใหม่ว่าเป็นอย่างไรแน่

สิ่งที่ กนง.เป็นห่วงคือ ผลกระทบในภาคการส่งออกจากการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่ก็ยังแอบหวังว่ายังมีปัจจัยบวกที่จะสามารถบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกของไทยลงได้ส่วนหนึ่ง จากการปรับตัวของผู้ส่งออกในการขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มเอเชียและประเทศตลาดเกิดใหม่ได้มากขึ้น

การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้ทรัพยากรในประเทศไปยังประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวได้ และการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

ฉะนั้นในช่วงที่ไม่แน่ใจ กนง.อาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ และราคาสินค้าที่แพงขึ้นในขณะนี้คือ ราคาอาหารที่เป็นผลกระทบมาจากปัญหาน้ำท่วม การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จึงอาจจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

การส่งสัญญาณของ กนง.นี้ นับว่าเป็นการพิจารณาที่สมเหตุสมผล และใช้ความรอบคอบในการใช้นโยบายการเงิน

ผลพลอยได้หาก กนง.ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยจริงก็คือ จะลดแรงปะทะทางการเมืองระหว่างผู้ว่าการ ธปท. กับ รมว.คลังไปได้ระดับหนึ่ง