posttoday

เดิมพันจำนำข้าวแสนล้านชาวนาจน-ประเทศเจ๊ง

13 กันยายน 2554

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่กำลังจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ต.ค.นี้

โดย...ทีมข่าวการเงิน

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่กำลังจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ต.ค.นี้กำลังกลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตาและท้าทายต่อกระบวนการจัดการของรัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างสูง

เนื่องจากครั้งนี้เป็นการจำนำข้าวที่มีการชี้นำราคาตลาด อันอาจจะนำมาซึ่งผลขาดทุนมหาศาลของรัฐบาล

ยิ่งเมื่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติอนุมัติราคา “จำนำข้าว” ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท ก่อนเสนอครม.อนุมัติในวันอังคารนี้ วงการเกษตรกรรม และวงการธุรกิจก็คึกคักกับการเติมเงินใส่มือคนในวงกว้าง

แม้ว่า ท่าทีของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ดูเหมือนจะมั่นใจว่า โครงการรับจำนำข้าวจะดันราคาข้าวไทยให้ไปที่ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทั้งๆที่รู้ดีว่า รัฐบาลกำลังลงขันวางเงิน “พนัน” ก้อนใหญ่ไปกับโครงการนี้ แต่โอกาสขาดทุนกลับมีสูงยิ่ง

“เป้าหมายของโครงการนี้ เราต้องการทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาดีจะได้มีกำลังซื้อ สอดคล้องกับนโยบายค่าแรง 300 บาทด้วย”นายกิตติรัตน์คลายปม

วิธีคิดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการ “ขาดทุน” ของโครงการรับจำนำข้าวจะกี่หมื่นล้านหรือกี่แสนล้านบาท ไม่ใช่สิ่งที่นายกิตติรัตน์ให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง

แต่ทำอย่างไรให้ “ชาวนา” มีรายได้ดีขึ้นต่างหากที่เป็นเป้าหมายสำคัญ

อะไรทำให้รองนายกฯจึงปักธงเช่นนี้?

 

เดิมพันจำนำข้าวแสนล้านชาวนาจน-ประเทศเจ๊ง

หากพิจารณาข้อมูลประมาณการผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2554/55 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะพบเห็นร่องรอยบางอย่างได้

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 61.9 ล้านไร่ ให้ผลผลิตข้าวทั้งประเทศ 24.3 ล้านตัน แบ่งเป็นผลผลิตในภาคอีสาน 12.4 ล้านตัน ภาคเหนือ 6.9 ล้านตัน ภาคกลาง 4.9 ล้านตัน และภาคใต้ 4.2 แสนตัน

จะเห็นได้ว่า ผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ร่วม 19.3 ล้านตัน อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ

แต่ข้อมูลของ สศก.ชี้เห็นเช่นกันว่า เกษตรกรชาวนาทั้ง 2 ภาค มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน และเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ปลูกข้าวไว้กินเอง โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่บริโภคในประเทศ 98%

ดังนั้น ชาวนาที่จะมีข้าวเปลือกไปเข้าร่วมในโครงการจำนำข้าวจะมีกี่ราย เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อยทั้งนั้นและปลูกข้าวได้ไม่เกิน 3-4 ตันต่อครัวเรือนเท่านั้น

หรือแม้แต่ชาวนาภาคกลางที่หวังจะขายข้าวเปลือกให้กับโรงสีโดยตรง ก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนค่าขนส่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นโอกาสของบรรดาพ่อค้าคนกลาง ผู้ที่กว้างขวางในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นหัวคะแนนของพรรคการเมือง จะออกตระเวนรวบรวมข้าวเปลือกแล้วนำไปจำนำต่อให้โรงสีที่ขึ้นทะเบียน หรือเจ้าของโรงสีก็จะลงไปซื้อข้าวในพื้นที่เอง

ถ้าพฤติกรรมเป็นแบบนี้ แน่นอนว่า เพื่อให้ได้กำไร พ่อค้าคนกลางและบรรดาโรงสีก็ต้องไปกดราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อจากชาวนาในราคาที่ต่ำกว่าที่รัฐประกาศ แลกกับความสะดวกในการขนส่ง

นี่ยังไม่รวมกับการที่ข้าวของชาวนาต้องถูกหักค่าความชื้น เพราะปัจจุบันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้เครื่องเกี่ยวข้าวลงไปในนา ดังนั้นข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ความชื้นจะอยู่ที่ระดับ 30% ทั้งสิ้น

ราคาที่เกษตรกรชาวนาจะได้รับจริง จึงถูกกดต่ำเตี้ยติดดินแน่

หรือไม่ก็จะถูกหักเปอร์เซ็นต์ข้าวเกินกว่าความเป็นจริง เพราะชาวบ้านไม่สามารถกำหนดหรือตีความชื้นเอง แต่พ่อค้า หรือโรงสีต่างหากที่เป็นผู้ตีค่าความชื้น

เรื่องแบบนี้คนในวงการโรงสีเขารู้ว่า มีวิธี “ตุกติก” เยี่ยงไรจึงหาเงินใส่กระเป๋าได้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การที่รัฐบาลประกาศจำนำข้าวเปลือกที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท ย่อมทำให้ ราคาปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ถีบตัวสูงขึ้นทันที เพราะรู้ดีว่า เกษตรกรมีเงินเพิ่มจากราคาข้าว

ที่หนักหนากว่านั้น ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกินของตัวเอง แต่ “เช่าที่นา” ปลูกข้าว ก็พบว่าค่าเช่านาเพิ่มขึ้นจาก 500 บาทต่อไร่ต่อครั้ง ปัจจุบันขึ้นเป็น 800-1,000 บาทต่อไร่ต่อครั้งไปแล้ว

สรุปได้ว่า ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำไม่มีทางได้ราคาข้าวเปลือกที่ 1.5 หมื่นบาทแน่นอน และที่บอกว่าเงินหลายแสนล้านจะลงไปถึงมือเกษตรกรชาวนาให้ลืมตาอ้าปากจึงอาจจะไม่จริงก็ได้ แต่กลับทำให้พวกเขามีรายจ่ายที่สูงขึ้นไปอีก

ขณะที่กระบวนการรับจำนำข้าวยัง “เปิดช่อง” ให้เกิดการทุจริตตามรายทางอย่างมโหฬาร ตั้งแต่กระบวนการรับสมัครโรงสีเข้าโครงการ ที่ว่ากันว่าต้อง “จ่ายใต้โต๊ะ” เพื่อให้ได้ร่วมโครงการประมาณ 5 แสนบาทต่อโรงสี แลกกำกำไรจากค่าเก็บรักษาและค่าสีแปรสภาพข้าว

เมื่อโรงสี “ต้องจ่าย” ต้นทุนที่มองไม่เห็นก็เกิดขึ้นแล้ว

เพื่อให้โรงสีมีกำไร บรรดาโรงสีก็จำเป็นต้องสีข้าว และส่งมอบข้าวคุณภาพต่ำเข้าสต็อกของรัฐบาล วิธีการก็ไม่ยากเลย และในวงการรู้ดีกันว่า โรงสีต้องจ่ายเงิน 710 บาทต่อกระสอบ (100 กิโลกรัม) ให้กับผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือ “เซอร์เวเยอร์”

จะสังเกตได้ว่า ทุกครั้งที่มีการระบายข้าวจะพบว่า ข้าวสารที่เก็บไว้ในสต็อกของรัฐบาล มีคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่เก็บเป็นเวลาไม่นาน ไม่นับการระบายข้าวที่เป็นที่ทราบกันว่ามีการทุจริตกินค่าหัวคิว แต่ทั้งๆที่รู้ก็ไม่มีใครกล้าแตะ เพราะสมประโยชน์ทั้งนักการเมือง-ข้าราชการ-พ่อค้า

คำถามจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลมีกลไกไปตรวจสอบและควบคุมการทุจริตได้หรือไม่ อนุกรรมการตรวจสอบโครงการรับจำนำที่มี ภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน ที่มาจากฝ่ายการเมือง จะไปทำอะไรได้ เพราะข้อมูลที่ได้มา ก็มาจากฝ่ายข้าราชการประจำทั้งนั้น

เห็นได้จาก กขช.ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนโครงการ ปรากฏชื่อเฉพาะนักการเมืองข้าราชการประจำนักวิชาการ ไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ตัวแทนชาวนาเลย

ทุกอย่างจึงอยู่ในที่ “มืด” แม้ข้าราชการจะรู้ว่ามีการทุจริตก็ได้แต่ “นิ่ง” เพราะจะมีผลต่อตำแหน่ง ส่วนนักการเมืองก็สมประโยชน์ที่ต้องการ

ที่น่าสนใจกว่านั้น การรับจำนำข้าวทุกเม็ด ที่รัฐบาลประเมินว่าจะมีจำนวนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 20 ล้านตัน จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท นี่ยังไม่รวมหนี้เก่าอีก 1.1 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลค้างจ่ายกับธ.ก.ส.อันเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ อีก

แม้กิตติรัตน์จะอรรถาธิบายว่า เงินกู้ที่เอามารัฐบาลก็ไม่ได้ก็ไปแจกใคร แต่กู้มาหมุนเวียนเพื่อซื้อข้าวแล้วขายออกไป เงินที่ได้มาก็นำไปซื้อข้าว เมื่อสิ้นสุดโครงการก็นำเงินไปคืนธนาคาร

แต่สิ่งที่กิตติรัตน์พูดนั้น ต้องบอกว่า “พูดง่าย แต่ทำยาก” เพราะเมื่อทอนข้าวเปลือกที่ราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท มาเป็นข้าวสารราคาจะอยู่ที่ตันละ 2.5-2.6 หมื่นบาท

ถ้าคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐก็จะมีราคาประมาณ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ที่ 570-580 เหรียญสหรัฐต่อตัน

หมายความว่า รัฐบาลต้องยอมขายข้าวในราคา “ขาดทุน” อยู่ร่วม 220-230 เหรียญสหรัฐต่อตัน

หากรับจำนำมา 20 ล้านตัน รัฐใช้เงินไป 3 แสนล้านบาท แต่ขายออกๆไปแล้วจะขาดทุนยับเยินเบาะๆก็ตก 7.9-8 หมื่นล้านบาท หากคิดจากสูตรข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม สีเป็นข้าวสารได้ 60 กิโลกรัม

ถ้าไม่ยอมขายข้าวออกไป รัฐบาลก็ต้องนำไปเก็บไว้ในสต็อก

คำถามที่ตามมาอีก คือ โกดังที่เก็บข้าวสารจะเก็บข้าวได้สักเท่าไหร่

ข้อมูลแห่งความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวด คือประเทศไทยมีโกดังเพื่อเก็บข้าวได้จริงตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี เพียง 6 ล้านตันเท่านั้น หากรัฐบาลต้องการเก็บข้าวเพิ่มอีกเท่าตัว คือ 12 ล้านตัน จะต้องสร้างโกดังเก็บข้าวเพิ่มอีกเท่าตัว ถามว่า ใครจะควักเงินมาลงทุน

ประการต่อมา การเก็บข้าวไว้ในสต็อกหรือโกดังนั้นมีต้นทุนแฝงที่สร้างความร่ำรวยให้กับบรรดาคนที่มีโกดังมหาศาลร่วมเดือนละ 830 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

เฉพาะแค่ต้นทุนการเก็บข้าวก็ปาเข้าไปร่วม 1 หมื่นล้านบาท

ไม่มีใครปฏิเสธว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะอยู่ดีๆรัฐบาลไทยบอกว่าจะเก็บข้าวสารในสต็อก 6 ล้านตันหรือมากกว่านั้น ในขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐคาดการณ์ว่า ในปี 2555 จะมีการค้าขายข้าวในตลาดโลก 31.8 ล้านตัน

เมื่อข้าวหายไปจากตลาดผ่านการบริหารสต็อก ข้าวในตลาดก็ต้อง “ขึ้น”

ปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อราคาข้าวเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อก็ต้องหันไปซื้อข้าวในตลาดที่ถูกกว่าไทย เช่น เวียดนาม ที่คาดว่าในปีนี้จะส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน จากพม่าที่ส่งออกข้าวเพิ่มจาก 8 แสนตันเป็น 1.5 ล้านตัน จากอินเดียที่มีสต็อกข้าว 20 ล้านตัน และประกาศว่า จะระบายข้าวออกจากสต็อก 50%

การที่มีคู่แข่งในตลาดมากเช่นนี้ การเล็งผลเลิศแต่เพียงว่าราคาข้าวจะขึ้นอาจไม่เป็นเช่นที่ฝันไว้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมื่อวันสองวันนี้ อินเดียประกาศว่าจะส่งออกข้าวนึ่ง 2 ล้านตัน ผลที่ตามมาทำให้ราคาข้าวนึ่งในตลาดโลกลดลงทันที 50-100 บาทต่อกระสอบ

จนวันนี้ไทยเสนอขายข้าวนึ่ง 1,800 บาทต่อกระสอบ หรือ 100 กิโลกรัม แต่ปรากฎว่า ไม่มี “คนซื้อ”

เพราะ ราคาซื้อถูกกดลงมาเหลือแค่ 1,750-1,720 บาทต่อกระสอบ

นี่คือ ฤทธิ์เดชของกลไกราคา ที่รัฐบาลจะต้องตระหนัก และหาทางรับมือ

หากกล่าวเฉพาะในปีนี้ ที่มีการคาดการณ์ผลผลิตว่าข้าวทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นร่วม 5 ล้านตันเป็น 456.2 ล้านตัน จากปีที่แล้วที่ผลผลิตรวมอยู่ที่ 451.1 ล้านตัน เพราะทุกประเทศมีผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้ง ปากีสถาน อินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และไทย ขณะที่ความต้องการข้าวของทั้งโลกมีแค่ 455.1 ล้านตัน จะเห็นได้ว่า ดีมานด์ และซัพพลายใกล้เคียงกันแบบเส้นยาแดงฝ่าแปด

แล้วจะมี “มือที่มองไม่เห็น” หรือ “ผู้เกี่ยวข้อง” คนไหนจะดันราคาข้าวให้ขึ้นไปดังที่เพื่อไทยฝัน