posttoday

ศึกชิง 35 ประธาน กมธ. 'ยิ่งยื้อ-ยิ่งเหนื่อย-ยิ่งเจ็บ'

13 กันยายน 2554

ทำท่าจะเป็น “หนังชีวิต” ไปแล้วสำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ทำท่าจะเป็น “หนังชีวิต” ไปแล้วสำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ หลังจากการประชุมเพื่อแบ่งโควตาของแต่ละพรรคการเมืองตามสัดส่วน สส.ตลอด 4 ครั้งที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือน ส.ค. ไม่สามารถหาบทสรุปได้จนทำให้การตั้ง กมธ.ต้องล่าช้าเป็นอย่างมากและยังไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ด้วย

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มี ยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นประธานสภา การตั้ง กมธ.ก็เคยสร้างสถิติตั้งไม่ได้นานกว่า 45 เดือน เรียกได้ว่าแทบจะเรียกว่าใช้เวลาตลอดสมัยประชุมรัฐสภาหมดไปกับเรื่องการต่อรองตำแหน่งประธาน กมธ.ระหว่างพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์

เพราะเวลานั้นต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลกันแบบไม่มีลดราวาศอกกล่าวคือ พรรคพลังประชาชนต้องการเข้ามาทำหน้าที่ประธาน กมธ. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐบาล เช่น กมธ.คมนาคม กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น แต่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านแย้งว่า แบบนี้ไม่ได้เพราะสภา ทำหน้าที่ตรวจสอบ ดังนั้น กมธ.ที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐบาลโดยตรงต้องให้ฝ่ายค้านเพื่อติดตามการทำงานของรัฐบาล

“ยื้ด-ยุด-ฉุด-กระชาก” กันนานสองนานกินเวลาหลายเดือน สุดท้ายต้องยอมถอยคนละก้าวจนกระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันและตั้ง กมธ.ได้

ศึกชิง 35 ประธาน กมธ. 'ยิ่งยื้อ-ยิ่งเหนื่อย-ยิ่งเจ็บ'

มาถึงการตั้ง กมธ.ภายใต้สภา ชุดที่ 24 ส่อเค้าจะซ้ำรอยเช่นกัน ในทางกลับกันกำลังจะทวีความรุนแรงมากกว่าด้วย เพราะมีคู่ขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นจากเดิมมีเพียงเฉพาะ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” แต่รอบนี้กลายเป็น “เพื่อไทย-พรรคเล็ก”

ถ้าจะเรียกว่า “งานเข้าพรรคเพื่อไทย” ก็คงไม่ผิดนักเพราะแค่รบกับประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นขาประจำก็เหนื่อยสายตัวแทบขาดอยู่แล้ว มาเที่ยวนี้ต้องมาสู้รบปรบมือกับพรรคเล็กอีก ทำให้งานหนักเป็นสองเท่าเลยทีเดียว

ปมสำคัญคือ พรรคเล็ก ประกอบด้วย “รักประเทศไทย-รักษ์สันติ-มาตุภูมิ” รวมกัน 7 เสียง ต่อรองขอ 1 เก้าอี้ ประธาน กมธ. ตอนแรกเรื่องทำท่าจะจบลงด้วยดี เพราะทั้งสามพรรคยอมรับสภาพว่าไม่สามารถรวบรวมเสียงได้พอเพื่อตำแหน่งดังกล่าว แต่ปรากฏว่าพรรคเล็กเหล่านี้พลิกเกมด้วยการขอแรง “ภูมิใจไทย” โดยพรรคภูมิใจไทยยอมโดดเข้ามาเล่นเกมนี้ด้วย

เมื่อรวมเสียงแล้วทั้ง 4 พรรค 34+7 ได้ถึง 41 เสียง เมื่อคำนวณสัดส่วนจะได้ 3 เก้าอี้ ประธาน กมธ.แบ่งเป็นของภูมิใจไทย 2 คน และพรรคเล็ก 1 คน ซึ่งหนึ่งตำแหน่งดังกล่าวมาจากการเฉือนเนื้อของพรรคเพื่อไทยที่มีอยู่เดิมตามสัดส่วน 19 ตำแหน่ง

การเดินเกมครั้งนี้ของพรรคเล็กมีมืออาชีพอย่างพรรคภูมิใจไทยวางหมากไว้ให้ทั้งหมด นับตั้งแต่การยื่นข้อเสนอและการเจรจาบนโต๊ะทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง โดยย้ำว่า “ห้ามถอย” เด็ดขาดอย่างไรต้องหนักแน่นในข้อเสนอของตัวเอง

นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทย นำโดย “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” และ “ชัย ชิดชอบ” สองมือพระกาฬต่างวัยได้ออกหน้าเข้ามาช่วยอีกแรง ด้วยการเดินเกมในห้องประชุมตัวแทนพรรคการเมืองที่มี “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม สร้างความปวดหัวให้กับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก

การประชุมสองครั้งที่ผ่านมาต้องยุติกลางคันแบบไม่เป็นท่า เมื่อภูมิใจไทยเตรียมวอล์กเอาต์จากห้องประชุม เพื่อแสดงความไม่พอใจท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ต้องการแบ่งโควตาให้พรรคการเมืองเล็ก 1 ตำแหน่ง

ในปัญหานี้ “เพื่อไทย” พยายามเจรจากับ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรครักประเทศไทย เพื่อโอ้โลมว่าไม่สามารถให้ตำแหน่งได้จริงๆ เพราะพรรคเพื่อไทยได้มีมติแล้วแต่ไม่เป็นผล และการประชุมของตัวแทนพรรคการเมืองครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยยื่นเงื่อนไขใหม่ให้ตำแหน่งประธาน กมธ. คนที่ 1 ในคณะใดก็ได้ตามที่พรรคการเมืองเล็กต้องการเพื่อเป็นการเยียวยา แต่ไร้ผล ปัญหานี้จึงยังมืดแปดด้านเหมือนเดิม

เหตุผลประการสำคัญที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถเจียดแบ่งประธาน กมธ.ให้ได้ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญมาจาก “การช่วงชิงในพรรค” เนื่องจากบรรดา สส.ที่ผิดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยเฉพาะภาคอีสาน หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้ามานั่งตำแหน่งนี้เพื่อชดเชยกับความผิดหวังบางส่วน

ประกอบกับตำแหน่งประธาน กมธ.ตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกในช่วงปลายอายุรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้อำนาจเอาไว้มหาศาลทำให้ กมธ.มีลักษณะเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับ “พนักงานสอบสวน” พอสมควร

เริ่มตั้งแต่การมีอำนาจเรียกบุคคลและเอกสารสำคัญทางราชการได้ “บุคคล” ตามกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการเมือง ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรี เป็นสภาพกึ่งบังคับว่าจะต้องให้ความร่วมมือกับ กมธ.ในการมาชี้แจงข้อสงสัยต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

ที่สำคัญการปฏิเสธการให้ความร่วมมือต่อ กมธ.โดยไม่มีเหตุผล ประธาน กมธ.สามารถมีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยมาตรา 15 กำหนดบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เห็นแบบนี้อย่าได้แปลกใจหากพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอมปล่อยตำแหน่งแม้แต่เพียง 1 เก้าอี้ให้หลุดไปออกจากมือง่ายๆ เพราะนั่นหมายถึงการปล่อยให้อำนาจหลุดจากมือไปเช่นกัน ซึ่งคงไม่มีใครยอมใครแน่ๆ เพราะพรรคเล็กต้องการโควตานี้เช่นกัน โดยวางให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิเข้ามานั่งในตำแหน่งประธาน กมธ.ทหารหรือ กมธ.ตำรวจหากสามารถเจรจาได้เป็นผลสำเร็จ

เกมการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจครั้งนี้ ผลเสียไม่ได้ตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยอย่างเดียว แต่ในมุมมองของ “พรรคประชาธิปัตย์” รู้สึกไม่ชอบใจมากนักกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจาก กมธ.ถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ เพราะสามารถเรียกส่วนราชการมาประเคนข้อมูลให้ได้ตามที่ต้องการ และข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการนำไปใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในอนาคต

เท่ากับว่า “ยิ่งยื้อ-ยิ่งเหนื่อย-ยิ่งเจ็บ” กันทุกฝ่าย และเสียหายร้ายแรงที่สุดคงตกอยู่กับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน ซึ่งต้องการหวังพึ่งกระบวนการ กมธ.เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบท่ามกลางกลไกข้าราชการประจำที่ล่าช้าเป็นปกวิสัยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ จึงต้องการหนีร้อนมาพึ่งเย็น

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายการเมืองจะหาข้อยุติอย่างไรในเกมแย่งชิงอำนาจครั้งนี้