posttoday

เยอรมนีเข้าเกียร์ถอย กรีซส่อหนี้สูญ

13 กันยายน 2554

สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งในตลาดยังคงมองอย่างมั่นใจว่า ยุโรปจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤตหนี้สาธารณะได้อย่างตลอดรอดฝั่งได้นั้น เป็นเพราะยุโรปยังมีเสาหลักสำคัญที่แข็งแกร่งอย่างประเทศเยอรมนี

เพราะนับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะที่ยืดเยื้อกินเวลากว่า 2 ปี พญาอินทรีเหล็กเยอรมนี กลายเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มยูโรโซน ที่คอยเสนอแนะแนวทางและสนับสนุนเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ ให้กับประเทศสมาชิกที่กำลังเผชิญปัญหามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส ไอร์แลนด์ หรือกรีซ ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังออกอาการโคม่าอยู่ในขณะนี้

เรียกได้ว่า ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและระเบียบวินัยทางการคลังที่เคร่งครัด บวกกับความเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา ได้ผลักดันให้นักลงทุนในตลาดยังคงเชื่อมั่นในกลุ่มอียู และเงินสกุลยูโรจนถึงปัจจุบัน

ทว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดเริ่มสั่นคลอนรุนแรงอีกครั้ง เห็นได้จากดัชนีในตลาดหุ้นของยุโรปที่ปรับตัวร่วงลง 2.5% ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. อันเป็นผลจากท่าทีและความเคลื่อนไหวของประเทศเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมา ที่ออกอาการว่าอาจจะสลัดหนีวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซน

สัญญาณบ่งชี้เริ่มส่อเค้าให้เห็น เมื่อผลการเลือกตั้งภายในประเทศของเยอรมนีชี้ให้เห็นชัดว่า คะแนนความนิยมในตัวของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เกิล ลดฮวบลงอย่างเห็นได้ชัด โดยผลสำรวจส่วนหนึ่งชี้ว่า ชาวเยอรมันมากกว่าครึ่งไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรีแมร์เกิลใช้เงินภาษีของประชาชนเข้าไปแบกรับภาระหนี้ของประเทศอื่นที่เยอรมนีไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น

เยอรมนีเข้าเกียร์ถอย กรีซส่อหนี้สูญ

ต่อมาไม่กี่สัปดาห์ เจอร์เกน สตาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และเป็นผู้แทนคนสำคัญของเยอรมนีที่นั่งในบอร์ดบริหารของอีซีบีก็สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งทั้งๆ ที่เหลืออีกตั้ง 3 ปีกว่าจะครบวาระ เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของอีซีบีที่จะใช้เงินทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศที่มีปัญหาหนี้สินหนักหน่วงอย่างกรีซ

การลาออกของสตาร์กส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักรวมทั้งจูเลียน แคลโลว์ นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์กเลย์ แคปิตอล ระบุว่า ท่าทีดังกล่าวทำให้ตลาดเริ่มมั่นใจว่าเยอรมนีหมดศรัทธาต่อระบบสกุลเงินยูโร

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับการตอกย้ำให้เชื่อมั่นมากขึ้น เมื่อบุนเดสแบงก์ ธนาคารกลางของเยอรมนี มีการปรับเปลี่ยนมาตรการในตลาดสินเชื่อ ทั้งตั้งเงื่อนไขการใช้เงินให้เข้มงวดมากขึ้น การเพิ่มค่าประกันความเสี่ยงสินเชื่อของธนาคาร และการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลกรีซของธนาคารใหญ่ๆ ของเยอรมนี

ทั้งนี้จากสถิติของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่อย่างดอยช์แบงก์ เอจี ได้ลดการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลกรีซลง จากเดิมที่มีอยู่ 1.6 พันล้านยูโร ในปี 2553 เหลือเพียง 1.15 พันล้านยูโร ในเดือน มิ.ย. ปี 2554

ท่าทีของเยอรมนีจากเดิมที่กระตือรือร้นในการหามาตรการควบคุมแก้ไขวิกฤตหนี้ มาเป็นการถอยห่างและตั้งรับ ล้วนชี้ให้เห็นว่า เยอรมนีเริ่มเหนื่อยล้าและถอดใจกับการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับที่มองเห็นว่า สถานการณ์ของกรีซในขณะนี้มีความเป็นไปได้อย่างมากที่กรีซอาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้าเป็นกำหนดการที่กรีซจะต้องขึ้นแถลงมาตรการให้กลุ่มอียูรับทราบ เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือรอบที่ 6 จากจำนวนเงินช่วยเหลือ 1.10 แสนล้านยูโร ที่ตกลงกันไว้เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว และเตรียมพร้อมรับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่อีก 1.09 แสนล้านยูโร ซึ่งจะเป็นเงินที่มาจากภาคเอกชนและประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน

แต่กรีซกลับขอเลื่อนออกไปเนื่องจากปัญหาภายใน ส่งผลให้โลกหรือแม้กระทั่งพี่ใหญ่อย่างเยอรมนีเริ่มไม่เชื่อมั่นแล้วว่า กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือตามกำหนด และจะมีเงินเพียงพอนำไปชำระหนี้ได้ตามกำหนดที่กำลังกระชั้นเข้ามาได้หรือไม่ จนกลายเป็นข่าวร่ำลือว่ากรีซอาจจะโดนขับออกจากกลุ่มยูโรโซน

เพราะมองเห็นความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้น การป้องกันไม่ให้ธนาคารของเยอรมนีได้รับผลกระทบจากการสูญเสีย หากว่ากรีซมีการผิดนัดชำระหนี้จริงจึงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่าทีของเยอรมนีจะค่อนข้างชัดเจนว่า อินทรีเหล็กเริ่มเบื่อหน่ายกับการเป็นหัวเรือใหญ่ที่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินของประเทศสมาชิก แต่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งกลับมองว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า เยอรมนีจะกระโดดหนีออกจากกลุ่มยูโรโซน

เฟดริก อีริกซัน หัวหน้าศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแห่งยุโรป ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของเยอรมนีเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมรับมือในกรณีที่วิกฤตหนี้เกิดเหตุพลิกผันร้ายแรง เพื่อให้ประเทศสามารถประคับประคองต่อไปได้

ความคิดเห็นของอีรีกซัน ได้รับการยืนยันจากวูล์ฟกัง ชูเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ที่ย้ำอย่างเชื่อมั่นว่า ในท้ายที่สุดรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี จอร์เก ปาปันดรู แห่งกรีซจะสามารถเสนอแผนการรัดเข็มขัดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประเทศสมาชิกในฐานะเจ้าหนี้ของกรีซได้ทันกำหนด ก่อนที่สมาชิกสภาเยอรมนีจะเดินหน้าประชุมอนุมัติแพ็กเกจเงินช่วยเหลือรอบสองกับกรีซในวันที่ 29 ก.ย.นี้

แม้จะเป็นเงื่อนไขที่ไม่ซับซ้อน ประมาณว่า ขอเพียงกรีซมีแผนการจัดการปัญหาหนี้ที่สมเหตุสมผล บรรดากลุ่มประเทศสมาชิกอียู รวมถึงเยอรมนีก็พร้อมที่จัดสรรทุนให้กรีซไปจัดการกับหนี้สินที่มากล้นพ้นตัวได้

แต่จนแล้วจนรอด รัฐบาลกรีซก็ยังไม่สามารถเฟ้นหานโยบายที่จะเรียกความไว้ใจจากกลุ่มอียูทั้งหมดได้ ยิ่งเมื่อประกอบกับเงื่อนไขใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เช่น ที่ประเทศฟินแลนด์เรียกร้องหลักประกันเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้รัฐบาลกรีซแทบขยับตัวไม่ได้เลยทีเดียว

เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวลจึงส่งผลให้บรรดาสมาชิกสภาเยอรมนี เริ่มมีทีท่าลำบากใจที่จะยกมือสนับสนุนให้นำเงินภาษีของประชาชนไปช่วยเหลือจุนเจือกรีซอีกระลอก จนนำไปสู่การเดินหน้าใส่เกียร์ถอยของรัฐบาลเยอรมนีตามความเคลื่อนไหวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังคงมองในแง่ดีว่า แม้ท่าทีของเยอรมนีจะสั่นคลอนให้ตลาดเกิดความวิตกกังวลอย่างสูง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ความเคลื่อนไหวที่ว่า นับเป็นยากระตุ้นขนานแรงที่จะบีบให้สมาชิกกลุ่มประเทศยูโรโซนหันหน้าเข้ามาร่วมมือกันมากขึ้น

ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของเยอรมนีแต่เพียงผู้เดียวเหมือนเช่นที่เป็นมา