posttoday

แจกสะบัดรัฐหาเงินมาจากไหน?

13 กันยายน 2554

นโยบายแจกแหลกของรัฐบาลปูยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย...ทีมข่าวการเงิน


นโยบายแจกแหลกของรัฐบาลปูยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเริ่มเดินหน้าให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหนีฝันร้ายที่ถูกกล่าวหาว่ารัฐบาล “ดีแต่โม้”

หากไล่เรียงนโยบายของรัฐบาลจะมองเห็นภาพของการแจกและจ่าย ที่ชัดๆ ตรงๆ ในหลายนโยบาย

หลังจากเป็นรัฐบาลทำงานได้จริง ก็เดินหน้าประกาศยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน 95 และ 91 ทำให้ราคาลดลงถึง 7-8 บาทต่อลิตร แต่ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเสียเงินไปเดือนละ 4,000 ล้านบาท ทำให้ต้องกู้เงินมาเพื่อชดเชยการอุดหนุนก๊าซถึง 2 หมื่นล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรก

และอาจจะบานปลายไปถึง 4 หมื่นล้านบาท หากต้องทำนโยบายเป็นเวลา 1 ปี

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจาก 5.31 บาทต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2554 ออกไปอีก 1 เดือน และจะมีการพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ ส่งผลทำให้เงินภาษีหายไปอีกเดือนละ 9,000 ล้านบาท หากต้องลด 6 เดือน ภาษีหายไปถึง 5 หมื่นล้านบาท

สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้านโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด ดีเดย์ต้นเดือน ต.ค.นี้ ในราคาตันละ 1.5-2 หมื่นบาท ตามที่ประโคมหาเสียงไว้ คาดว่านโยบายนี้ต้องใช้เงินอย่างน้อย 3-4 แสนล้านบาท

วันนี้รัฐบาลยังเดินหน้านโยบายหาเสียงผลักดันเรื่องคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรก 1 แสนบาท ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยมีการประเมินกันว่าทำให้สูญเงินภาษีตั้งแต่ 1-3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังชงเรื่องเพิ่มรายได้ข้าราชการลูกจ้างปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ให้ ครม.เห็นชอบในวันนี้เช่นกัน นโยบายนี้จะมีผลต่อภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่นโยบายหาเสียงเรื่องบ้านหลังแรก ให้นำค่าบ้านมาเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี คาดว่าจะทำให้รายได้หายไปอีกปีละกว่า 1,000-3,000 ล้านบาท

นโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และลดเหลือ 20% ในปี 2556 จะดันเข้า ครม. เห็นชอบเดือนหน้า ในส่วนนี้ทำให้รายได้ภาษีของกรมสรรพากรหายไป 1.5 แสนล้านบาท ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2258

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 1 ล้านบาท หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ประกาศเดินหน้าเพื่อให้ชาวบ้านมีเงินไปใช้หนี้นอกระบบ โดยจะให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแม่เลี้ยงออกเงินให้ก่อน และรัฐจะหาเงินมาใช้ให้ทีหลัง

จะเห็นว่าแค่นโยบายที่ทำมาบ้างและกำลังทำเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ แต่ต้องใช้เงินและทำให้รายได้หายไปเป็นจำนวนมากร่วม 7 แสนล้านบาท

วงเงินดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนเงินก้อนมหึมา

แจกสะบัดรัฐหาเงินมาจากไหน?

ปัญหาที่ต้องพิเคราะห์พิจารณากันคือ รัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์จะต้องหารายได้อื่นมาชดเชย เพื่อไม่ให้เกิดอาการปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับยังยืนยันไม่ปรับเพิ่มภาษีตัวอื่นมาชดเชยรายได้ที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

ขณะที่การปรับเพิ่มอัตราภาษีบาปสุรา เบียร์ บุหรี่ ไวน์ รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดจะทำให้รายได้เพิ่มปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถมาชดเชยรายได้ที่หายไปจากนโยบายหาเสียงของรัฐได้ ก็ยังไม่มีการยกขึ้นมาพิจารณาตัดสินใจในทางนโยบาย แม้ว่าฝ่ายข้าราชการประจำจะเสนอมา

แต่ถูกนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาเบรกเรื่องนี้ทันที เพราะกลัวเสียคะแนนนิยมทางการเมือง ถูกประชาชนต่อว่าหลอกกันซึ่งหน้าว่า ด้านหนึ่งบอกว่าจะลดภาษี แต่อีกด้านหนึ่งกลับมาเพิ่มภาษี ดึงเงินจากกระเป๋าประชาชนเข้ารัฐเสียอย่างนั้น ทำให้การหารายได้ด้วยการขึ้นภาษีจึงแท้งตั้งแต่ยังไม่ได้ท้อง

รัฐบาลหวังแต่เพียงว่า ขอให้โชคช่วย อย่างที่คิดไว้ว่า การอัดฉีดเม็ดเงิน ลด แลก แจก แถม เข้าไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก จะทำให้เกิดการหมุนของเม็ดเงิน ก่อให้เกิดการลงทุน การบริโภค ทำให้รัฐเก็บภาษีทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

แต่ก็ยังมีเสียงค้านว่า การภาษีที่เก็บได้เพิ่มจะไล่หลังได้ทันตามรายได้ที่หายไปหรือไม่

ถ้ารอบการหมุนของเงินที่เทลงไปในระบบหมุนเวียนได้ 5-6 รอบ เม็ดเงิน 7 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลทุ่มลงไปให้เกิดกำลังซื้อ ก็อาจหวนคืนมาเป็นรายได้ของหลวงจากการเก็บภาษีแวตที่เป็นภาษีจากการซื้อได้ไม่น้อยกว่า 2.45 แสนล้านบาทได้

ให้รอบการเงินหมุนถึง 8 รอบ ก็จะเรียกเก็บภาษีทางตรงจากแวตได้แค่ 3.9 แสนล้านบาทเท่านั้น

ที่เหลือก็รอลุ้นว่า จะเกิดการลงทุนใหม่ เกิดการจ้างงานขึ้นมา เกิดการสั่งซื้อสินค้ามาลงทุน

และรอเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในงวดปลายปี

คุ้มหรือไม่ก็รอลุ้นกันตรงนั้น

แต่ปัญหาของความมั่นใจในกำลังซื้อที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าจะเป็นไปตามที่เรานึกคิด นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เต็มใจ สหรัฐยังมีปัญหา ยุโรปยังอ่อนแอ จีนเริ่มมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูง ญี่ปุ่นยังเจอภัยธรรมชาติรุนแรงต่อเนื่อง และไทยที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเล็กจะต้านมรสุมลมพายุเศรษฐกิจจากภายนอกไว้ได้หรือไม่

ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศก็ไม่แพ้ข้างนอก เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยแพง คนมีรายได้น้อย ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายให้กับภาคเกษตรรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน ล้วนแล้วแต่บั่นทอนการบริโภคการลงทุนในประเทศทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสวนทางกับที่รัฐบาลคิดวาดฝัน

เมื่อยังไม่กล้าเพิ่มภาษีหารายได้เพิ่ม การขยายตัวเศรษฐกิจที่ยังต้องลุ้นเช้าลุ้นเย็น ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีการซุกหนี้ไว้ตามแขนขาของรัฐบาลไม่ให้มาเป็นภาระงบประมาณโดยตรงของประเทศไปก่อน

การกู้เงินมาอุดเงินกองทุนน้ำมันฯ 24 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานคงหนีไม่พ้น โดยกระทรวงพลังงานหวังว่าจะมาเก็บเงินกองทุนฯ เพิ่มขึ้นในภายหลัง เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่สถานการณ์น้ำมันที่ยังปรับตัวขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลอย่างมาก แค่กลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เหมือนเดิมไม่ต้องกู้เพิ่ม โดยไม่ต้องคิดถึงการใช้หนี้ก็เหนื่อยหืดขึ้นคอแล้ว

การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจปรับขึ้นโดยเร็วที่สุด เพราะหากมัวแต่หวังใช้เงินเดือนละ 9,000 ล้านบาท รักษาคะแนนนิยมทางการเมืองไว้ รัฐบาลก็จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ฐานะการเงินการคลัง ในที่สุดก็แก้ไม่ตกอยู่ดี

ขณะที่นโยบายการคืนภาษีรถยนต์คันแรก คาดว่า รัฐบาลอาจจะต้องกำหนดการคืนเงิน 3 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณปี 2555 หนักเกินไป โดยเฉลี่ยภาระไปอยู่ในปีงบประมาณ 2556 และ 2557 บ้าง อย่างน้อยทำให้รัฐบาลมีเวลาหายใจมากขึ้น

เพราะในส่วนของนโยบายบ้านหลังแรกและการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลดิ้นไม่พ้นต้องเป็นภาระรายจ่ายของปี 2555 อยู่แล้ว ซึ่งหากไม่ลดภาษีส่วนอื่นให้มาถมรวมกันในปี 2555 เพียงปีเดียว จะทำให้ภาระงบประมาณมีปัญหามาก

เนื่องจากขณะนี้การทำงบประมาณปี 2555 มีปัญหามาก การทำรายได้ของเดิมไม่มีการประมาณ ทั้งการลดภาษีน้ำมันดีเซล การลดภาษีบ้าน รถคันแรก และการปรับเพิ่มขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เรียกว่า รายได้ที่คาดว่าจะเก็บได้หายวับไป

ส่วนรายจ่ายที่ไม่เคยคาดคิดจะมีก็เพิ่มขึ้น ทำให้งบประมาณ 2555 ยังเคาะไม่ออกจนถึงทุกวันนี้ และคาดว่ากว่าจะเริ่มใช้ได้ก็ยาวไปเป็นต้นปีหน้า ล่าช้าไปถึง 5 เดือน

ความล่าช้าของการใช้งบประมาณนั้นถือว่าอันตรายต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุนของเอกชนอย่างมาก

เหตุการณ์นี้รัฐบาลขิงแก่ก็เคยประสบมาแล้ว เมื่อกว่าจะใช้งบประมาณได้เวลาล่วงเลยไปกว่า 4 เดือน ผลที่ตามมาคือปีนั้นเศรษฐกิจฝืดเคืองไปหมด

ขณะที่จะหวังว่าเม็ดเงินในส่วนของภาระจำนำข้าว 3-4 แสนล้านบาท ที่ตกเป็นภาระหลักของ ธ.ก.ส. ต้องแบกหน้ากู้เงินแทนรัฐบาลไปก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ และก็ไม่ต้องการให้เป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแม้จะโป้งไว้ สุดท้ายรัฐบาลหนีไม่พ้นต้องกู้เงินมาจ่าย

ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือ หากรัฐบาลระบายข้าวได้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถขายข้าวหาเงินมาใช้คืน ธ.ก.ส. ได้ และถึงรอบต้องจำนำข้าวใหม่ ถึงวันนั้น ธ.ก.ส. จะแบบรับภาระไหวหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า มรดกจำนำของเก่ายังค้างอยู่ในธนาคาร 1.8 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนจะชดใช้คืน

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน ที่จะเป็นภาระ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ประเภทต้องจ่ายควักออกก่อนเช่นเคย โดยที่รัฐบาลต้องรอไปเรื่อยๆ ว่า รัฐบาลจะมีเงินงบประมาณเจียดทยอยมาใช้หนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเคยตั้งงบปีละใช้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท มาเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว

เพียงแต่สภาพการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา ในช่วงนั้นเศรษฐกิจดี รายได้ไม่มีปัญหา รายจ่ายยังไม่มาก การใช้เงินงบประมาณจ่ายคืน ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินจึงไม่มีปัญหา

ขณะที่สภาพตอนนี้ต่างกันตรงข้าม รายได้ที่เก็บได้มีอัตราการเติบโตแค่ปีละ 10-15% แต่รายจ่ายกลับเพิ่มมาสารพัดสารเพ แต่ละก้อนโตไม่ใช่เล็ก ทำให้การหมุนเงินงบประมาณมีปัญหาติดขัด เพราะรัฐบาลเล่นบทแจกอย่างเดียว ไม่หา ไม่เก็บ เพราะอยากโชว์รัฐบาลเก่งให้ได้ไม่อั้น แถมยังไม่ไปเก็บให้เป็นที่จุกจิกกวนใจเสียอารมณ์อีกต่างหาก การดำเนินการดังกล่าวเป็นสัญญาณร้ายอย่างมหันต์ เพราะนอกจากการเงินการคลังของประเทศจะพังแล้ว แบงก์รัฐที่เป็นแขนเป็นขาของรัฐบาลก็จะเดี้ยงล้มตายไปด้วย

หากไม่พิจารณาเรื่องการหารายได้มาชดเชยรายจ่าย เศรษฐกิจไทยอาจลงมายืนอยู่ปากเหว จนยากจะช่วยชีวิตไว้ทันได้