posttoday

ยุโรปจมหนี้-สหรัฐว่างงานเศรษฐกิจโลกใกล้ถดถอยของจริง

07 กันยายน 2554

เล่นเอาตลาดการเงินทั่วโลกปรับล้มครืนกันทั้งกระดาน

เล่นเอาตลาดการเงินทั่วโลกปรับล้มครืนกันทั้งกระดาน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เล่นเอาตลาดการเงินทั่วโลกปรับล้มครืนกันทั้งกระดาน เมื่อสัญญาณบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐและสถานการณ์หนี้ของยุโรปค่อนข้างจะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สถานการณ์ของทั้งสองประเทศจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกอยู่ในขั้นโคม่าและฟื้นได้ยาก

จนบรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลาย รวมถึงโรเบิร์ต โซลลิก ประธานธนาคารโลกต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาวะถดถอยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นแน่นอนมากกว่าที่จะหลีกเลี่ยงได้

สำหรับสหรัฐ ไม่ต้องบอกคงพอคาดเดากันได้ว่าตัวเลขการว่างงานที่รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนในตลาดเพียงใด

เพราะอัตราการจ้างงานที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงกิจการของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ว่าไม่มีการเติบโตที่ดีพอที่จะทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ หรือสรุปได้ว่าสภาพเศรษฐกิจยังคงไม่กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเดินหน้าแห่เทขายหุ้นขนานใหญ่จนดัชนีดาวโจนส์ปรับรูดลงแรงถึง 2.2% เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

ยุโรปจมหนี้-สหรัฐว่างงานเศรษฐกิจโลกใกล้ถดถอยของจริง

ขณะที่ฝั่งยุโรป ภูมิภาคสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลกอีกแห่งหนึ่ง สถานการณ์หนี้สาธารณะก็ใช่ว่าจะดีกว่ากันเท่าไรนัก เห็นได้ชัดจากดัชนี สต็อกซ์ ยุโรป 600 ในวันจันทร์ที่ 5 ก.ย. ซึ่งปรับร่วงลงมาถึง 4.1% โดยหนักสุดในหุ้นกลุ่มธนาคาร จนฉุดลากตลาดหุ้นในเอเชียให้ร่วงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่จีนหรือญี่ปุ่น ที่หล่นลงมา 2% ขณะที่เกาหลีใต้ตกฮวบถึง 4.39%

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแรงเทขายครั้งใหญ่จากบรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลว่ากลุ่มประเทศยูโรโซนจะไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคได้

ปัจจัยแรกสุดที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดต้องสั่นคลอนก็คือ การอนุมัติเงินช่วยเหลือกรีซ ซึ่งถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่จะจำกัดเขตไม่ให้หนี้ลุกลามไปยังสเปนและอิตาลีส่อแววล่ม เมื่อการเจรจาระหว่างกรีซกับบรรดาเจ้าหนี้นานาประเทศ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์ที่เรียกร้องหลักประกันในการให้กู้ยืมที่ผิดแผกจากข้อตกลงที่ตั้งกันไว้ก่อนหน้า

ส่งผลให้กำหนดการแก้ปัญหาหนี้กรีซมีอันต้องเลื่อนออกไป สร้างแรงกดดันให้กรีซที่ต้องการควบคุมตัวเลขเงินขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเป้าที่กำหนด เพื่อดึงดูดนักลงทุน

ขณะเดียวกัน แรงกดดันเรื่องหนี้สาธารณะในยุโรปเริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อปัญหาการเมืองภายในของ 17 ประเทศสมาชิกอียู จนก่อให้เกิดความแตกแยก

กรณีดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ เยอรมนี ซึ่งนับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงและแหล่งเงินทุนสำคัญของกลุ่มอียูในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของภูมิภาค ภายใต้การบริหารผลักดันของนายกรัฐมนตรีหญิงแกร่ง อย่างอังเกลา แมร์เกิล

ความพ่ายแพ้ของแมร์เกิลและพรรคร่วมรัฐบาล ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าแม้นโยบายช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาหนี้สินอย่างกรีซ โปรตุเกส หรือไอร์แลนด์จะดีสำหรับกลุ่มอียูในภาพรวม แต่ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ล้วนไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลนำเงินภาษีของตนเองไปอุ้มประเทศที่ไร้ระเบียบวินัยทางการคลัง

นอกจากนี้ ความรู้สึกหวาดหวั่นของนักลงทุนยิ่งสั่นคลอนรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีได้นัดตัดสินกรณีที่รัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนโตเพื่อแก้ปัญหาหนี้ในวันพุธที่ 7 ก.ย. โดยแม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีผลกระเทือนให้ความพยายามแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาลต้องหยุดชะงัก แต่ก็เป็นการตอกย้ำให้นักลงทุนรู้กลายๆ ว่าปัญหาใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอในทุกขั้นตอนการแก้ไขปัญหา

สภาพขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระบวนการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปล่าช้าออกไปอีก จนนักลงทุนเริ่มหวาดวิตกว่าปัญหาหนี้จะกลายเป็นมหากาพย์ไม่มีวันตาย

ขณะที่ปัจจัยสุดท้ายก็คือสถานการณ์หนี้ในอิตาลี ที่นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่ารัฐบาลอิตาลีจะสามารถคลอดแผนมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ท่ามกลางขบวนการประท้วงคัดค้านของประชาชนในประเทศได้หรือไม่

เพราะถ้าไม่ ปริมาณหนี้มหาศาลของอิตาลีที่มีสถานะเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งประเทศหนึ่งในกลุ่มอียู มีสิทธิทำให้สถานะของสกุลเงินยูโรด้อยค่าลงทันที

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นส่งผลให้หุ้นของธนาคารยุโรปตกฮวบแรง โดยรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ร่วง 12.3% และ ดัตช์แบงก์ร่วง 8.9% เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าประกันการผิดนัดชำระหนี้ที่หากยิ่งต่ำ แสดงว่านักลงทุนยิ่งเชื่อมั่นมาก กลับทุบสถิติเพิ่มสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน โดยอัตราสูงสุดอยู่ที่พันธบัตรของสเปนและอิตาลี

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เหตุอย่างดีว่านักลงทุนในตลาดเริ่มมองเห็นสัญญาณลบของตลาดที่จะลากเศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างจริงจังเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 เพียงแต่สถานการณ์ในปัจจุบันย่ำแย่กว่า ตรงที่ว่าบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เป็นความหวังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกก็ไม่ได้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อม เพราะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศของตนเองก่อน

ทั้งนี้ แม้ว่าโฮเซ มานูเอล บารอสโซ หัวหน้าคณะกรรมการยุโรปจะย้ำชัดว่ายุโรปยังแข็งแกร่งไม่ถดถอยแน่นอน และโซลลิก ประธานธนาคารโลกจะแสดงความเห็นอย่างเชื่อมั่นว่าสหรัฐจะไม่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกรอบแน่นอน

แต่ความคิดเห็นที่เชื่อมั่น ย่อมมีน้ำหนักน้อยกว่าสภาพความเป็นจริงของตลาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้เสมอ จนกว่าสหรัฐและยุโรปจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดเจน เมื่อนั้นโลกก็ยังคงต้องหวาดผวาและอาจจะต้องทำใจยอมรับการเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยอีกครั้ง